เอเอฟพี - ยอดผู้เสียชีวิตในเหตุตายหมู่จากบริโภคเหล้าเถื่อนกรณีล่าสุดของอินเดีย เพิ่มขึ้นเป็น 100 ศพ ขณะที่ทางการในมุมไบให้สัญญาจะเดินหน้าปราบปรามการค้าที่ผิดกฎหมายดังกล่าว
ดานันเจย์ คุลคาร์นี รองผู้กำกับการตำรวจในเมืองทางตะวันตกของอินเดีย แถลงปรับยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากการดื่มสุราเถื่อนมีพิษครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษของมุไบ "ตอนนี้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 100 คนแล้วและอีก 47 คนยังอยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล" เขาบอกกับเอเอฟพี
เหยื่อรายแรกเริ่มล้มป่วยเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว หลังดื่มเหล้าเถื่อนผลิตเองผิดกฎหมายในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งทางเหนือของมุมไบ เมืองหลวงด้านการเงินของอินเดีย "เรามั่นใจว่าเราได้ยึดเหล้าเถื่อนไว้ทั้งหมดแล้ว ดังนั้นบางทียอดผู้เสียชีวิตอาจทรงตัวเร็วๆนี้" รองผู้กำกับการรายนี้
คุลคาร์นี เผยต่อว่าตำรวจได้จับกุมผู้หญิง 2 คนตามข้อกล่าวหาจัดหาสุราเถื่อน ทำให้ยอดชาวบ้านที่ถูกควบคุมตัวฐานแจกจ่ายสุราเถื่อนในย่านมาลัด เวสต์ เพิ่มเป็น 7 คน พร้อมระบุว่าหนึ่งในผู้หญิง 2 คนนั้น ยังต้องสงสัยลักลอบค้าสุราเถื่อนในพื้นที่มานานกว่า 10 ปี
ตำรวจยังคงรอผลตรวจของคณะสืบสวนเพื่อสรุปว่าว่ามีการใส่เมทานอลระดับสูงในเหล้าเถื่อนดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้เมทานอล (Methanol) คือแอลกอฮอล์ชนิดมีพิษสูงที่ถูกใช้สำหรับป้องกันการแข็งตัวหรือใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่ก็มักถูกนำไปใส่ในเหล้าเถื่อนในอินเดีย เนื่องจากมีราคาถูกและเป็นวิธีที่รวดเร็วในการเพิ่มปริมาณแอลกอฮอล์
เหล้าเถื่อนมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งอินเดีย ซึ่งบางครั้งก็ขายกันในราคาไม่ถึงหนึ่งดอลลาร์สำหรับขวดขนาด 25 เซนติลิตรและมักมีรายงานการเสียชีวิตอยู่เนืองๆ
อย่างไรก็ตามไม่บ่อยนักที่กรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างมุมไบ เนื่องจากโดยส่วนมากแล้วมักเกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ยากจนและอยู่ห่างไกล ขณะที่เหตุการณ์นี้ถือเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในมุมไบนับตั้งแต่ปี 2004 โดยคราวนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 100 คน
ตำรวจที่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ได้สั่งพักงานเจ้าหน้าที่ 8 นายฐานละเลยต่อหน้าที่กรณีปล่อยให้มีการขายเหล้าเถื่อนเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ ขณะที่ ฟาเตห์ ซิงห์ ปาติล ผู้บังคับการเสริมของตำรวจในเขตทางเหนือของมุมไบ เผยว่าได้สั่งการให้กำลังพลทุกหน่วยในพื้นที่ รับประกันว่าทุกโซนต้องเป็นเขตปลอดเหล้าเถื่อน
เหตุตายหมู่จากพิษสุราเถื่อนในอินเดียเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยกรณีเลวร้ายสุดย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 คราวนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคสุราเถื่อนเกือบ 170 คนในรัฐเบงกอลตะวันตก ทางภาคตะวันออกของประเทศ