เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - “อเมริกา” ประกาศจะถกกับ “จีน” ในทุกประเด็นขัดแย้ง ระหว่างการเจรจาหารือนัดสำคัญในสัปดาห์นี้ ขณะที่สื่อแดนมังกรมองแง่ดีว่า สัมพันธ์สองประเทศมีแนวโน้มกลมเกลียวกันมากขึ้น หลังจากห้ำหั่นทางการทูตกันมาหลายเดือน ด้านนักวิเคราะห์บางคนบอกว่า แม้คงไม่ค่อยมีผลลัพธ์รูปธรรมจากการหารือ แต่สองมหาอำนาจก็เล็งเห็นประโยชน์ในการใช้เวทีนี้เพื่อบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกัน ก่อนที่ผู้นำแดนมังกรเดินทางเยือนวอชิงตันอย่างเป็นทางการเดือนกันยายนนี้
แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยืนยันว่าฝ่ายอเมริกันจะพูดเกี่ยวกับความคิดเห็นที่ทั้งสองฝ่ายมองไม่ตรงกันโดยไม่มีการอ้อมค้อม ไม่มีการเพิกเฉยต่อปัญหา รวมทั้งจะหาทางบริหารจัดการกับปัญหาที่ดูเหมือนไม่สามารถแก้ไขคลี่คลายได้ ในระหว่างการหารือทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีนประจำปีที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันอังคาร (23 มิ.ย.) นี้
ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี และรัฐมนตรีคลัง แจ็ก ลูว์ ของสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารค่ำเป็นการภายในให้แก่ หยาง เจียฉือ มนตรีแห่งรัฐ และ หวัง หยาง รองนายกรัฐมนตรีของจีน ในคืนวันจันทร์ (22) ก่อนเริ่มการหารืออย่างเป็นทางการที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯในวันรุ่งขึ้น โดยจะมีการหารือกันรวม 2 วัน
ปัจจุบัน มหาอำนาจใหญ่ของโลก 2 รายนี้กำลังปีนเกลียวกันเรื่องที่จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ขณะที่อเมริกาย้ำเรียกร้องให้ปักกิ่งยุติการสร้างเกาะเทียมในบริเวณดังกล่าว
รัสเซลกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของปักกิ่งสร้างปัญหาไม่ใช่เฉพาะสำหรับวอชิงตัน แต่รวมถึงหลายประเทศในภูมิภาค และว่า แนวโน้มการทำให้อาณาบริเวณนี้กลายเป็นพื้นที่ทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ขัดแย้งกับเป้าหมายในการลดความตึงเครียด
ประเด็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งสองประเทศบาดหมางกันอยู่ ได้แก่การที่สหรัฐฯกล่าวหาจีนกระทำจารกรรมทางไซเบอร์ โดยที่ปักกิ่งประกาศระงับการดำเนินงานของคณะทำงานทวิภาคีว่าด้วยไซเบอร์สเปซไปเลยเมื่อปีที่แล้ว หลังจากวอชิงตันยื่นฟ้องร้องนายทหารจีน 5 คนต่อศาลในสหรัฐฯ ด้วยข้อหาว่าแฮกระบบคอมพิวเตอร์ในอเมริกาเพื่อโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและความลับต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ
กระนั้น ทั้งสองชาติตระหนักดีว่าจำเป็นต้องร่วมมือกันในด้านนี้ ดังที่เจ้าหน้าที่กระทรวงคลังของอเมริกาคนหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่า วอชิงตันและปักกิ่งจะหารือประเด็นนี้อย่างจริงจัง
ทางฝ่ายแดนมังกรนั้น ดูเหมือนสื่อของรัฐบาลจีนมองการณ์แง่ดีต่อการประชุมระดับสูงประจำปีซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 แล้ว รวมทั้งยังมีขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเยือนวอชิงตันอย่างเป็นรัฐพิธี ในเดือนกันยายนที่จะถึง
ไชน่าเดลี่ระบุว่า หลังจากห้ำหั่นทางการทูตมาหลายเดือนเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ แต่ดูเหมือนสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มีแนวโน้มอบอุ่นขึ้นจากหลายๆ กิจกรรมสำคัญก่อนถึงการเจรจาซัมมิตของผู้นำสองประเทศ
หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษของทางการจีนฉบับนี้ ยังอ้างอิงคำพูดของหวัง อี้เว่ย ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่งที่ว่า วอชิงตันเข้าใจดีถึงผลต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นจากการเผชิญหน้ากับจีน ดังนั้น ในการหารือครั้งนี้จึงไม่มีวาระที่จะขัดแย้งกัน อย่างไรก็ดี อเมริกาอาจวิจารณ์จีนเรื่องทะเลจีนใต้พอหอมปากหอมคอเพื่อแสดงพลังและความมุ่งมั่นผูกพันที่มีต่อพวกพันธมิตรของตนในเอเชีย
คาดหมายกันว่าประเด็นปัญหาสำคัญอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายจะหยิบยกขึ้นมาหารือกัน จะเป็นรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องที่จีนริเริ่มจัดตั้ง ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (เอไอไอบี) ขึ้นมาและวอชิงตันยังแสดงท่าทีไม่เล่นด้วย ส่วนอีกเรื่องหนึ่งได้แก่เรื่องที่จะรับเงินหยวนเข้าไว้ในตะกร้าสกุลเงินอ้างอิงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือไม่
วอชิงตันนั้นกล่าวมาตลอดว่า ทางการจีนปรุงแต่งค่าเงินหยวนให้ต่ำเกินจริง ทว่า ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟกลับประกาศว่า เวลานี้มูลค่าเงินตราของจีนไม่ได้ต่ำเกินจริงแล้ว
ความแตกต่างเช่นนี้ “ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้การสนทนาคราวนี้มีอันมืดมน” แอดัม โปโซน ประธานของสถาบันปิเตร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตันกล่าว พร้อมกับระบุว่า การเจรจาจะยังคงเป็นการหารือ “แบบมืออาชีพ”
เช่นเดียวกับ เดวิด ดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันบรูคกิงส์ ที่ทำนายว่า ความสัมพันธ์ที่เย็นชาจากประเด็นปัญหาด้านความมั่นคง จะไม่ลุกลามไปปั่นป่วนประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งสองฝ่ายกลับมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องพยายามสร้างความคืบหน้าในประเด็นทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีด้วยซ้ำ
อีกหนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญที่สองชาติจำเป็นต้องร่วมมือกันคือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยที่สหประชาชาติจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ปลายปีนี้ที่กรุงปารีส เพื่อกำหนดเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งกำลังกังวลว่าขณะนี้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา สามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นโอบามายังไม่สามารถผลักดันให้รัฐสภาอเมริกันยอมออกกฎหมายให้อำนาจการเจรจาแบบ “ฟาสต์ แทร็ก” แก่ฝ่ายบริหาร ทั้งๆ ที่มันจะเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การทำข้อกลงการค้าภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งเมื่อมองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้ว เห็นกันว่าจะเป็นผลประโยชน์เต็มๆ ของสหรัฐฯ