xs
xsm
sm
md
lg

'จีน' จะลงทุนก้อนโตใน 'กองทุนใหม่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของยุโรป'

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China to invest in new European fund
By Asia Unhedged
15/06/2015

ระหว่างการประชุมซัมมิตสหภาพยุโรป-จีน ที่กรุงบรัสเซลส์ปลายเดือนมิถุนายนนี้ จีนเตรียมให้คำมั่นสัญญาจะเข้าร่วมลงทุนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ในกองทุนกองใหม่ซึ่งมุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานของยุโรป

มีคำคมที่แพร่หลายในโลกตะวันตกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ว่า “ปากกานั้นคมกว่าดาบ” สำหรับในเวลานี้ดูประหนึ่งจีนกำลังตั้งความหวังว่า “สมุดเช็กก็คมกว่า (และทรงอำนาจกว่า) ดาบ” เช่นเดียวกัน

ในความเคลื่อนไหวที่เหมือนกับเป็นการเดินหมากอีกตาหนึ่งของแดนมังกรบนเส้นทางแห่งการนำเอาสหรัฐฯลงมาจากฐานะการครอบงำเหนือเศรษฐกิจทั่วโลก สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า “จีนเตรียมให้คำมั่นสัญญาว่าจะเข้าร่วมลงทุนเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในกองทุนกองใหม่มุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานของยุโรป โดยจะประกาศในระหว่างการประชุมซัมมิตซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 29 มิถุนายนนี้ ณ กรุงบรัสเซลส์” ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวนี้จะมีจำนวนเท่าใดแน่ ยังไม่ได้มีการตัดสินใจอย่างชัดเจนลงไป (ดูรายละเอียดของข่าวนี้ได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/06/14/us-eu-china-exclusive-idUSKBN0OU0H820150614)

“จีนประกาศว่าตนจะจัดหาเงินทุน (จำนวน X) เพื่อเอาไว้ใช้สำหรับการร่วมกันสนับสนุนทางการเงินแก่การลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วม (ระหว่างอียูกับจีน) ในตลอดทั่วทั้งอียู” รอยเตอร์รายงานเนื้อหาตอนหนึ่งของร่างแถลงการณ์ที่เตรียมไว้สำหรับการประชุมซัมมิตอียู-จีนคราวนี้ โดยที่ร่างดังกล่าวยังบอกอีกว่าการทำความตกลงต่างๆ ในเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นเรียบร้อยในเดือนกันยายน ขณะที่นักการทูตของสหภาพยุโรปผู้หนึ่งบอกว่าจำนวนที่ฝ่ายจีนจะร่วมลงทุนนั้นน่าจะ “เป็นหลักหลายพันล้าน” พวกเจ้าหน้าที่ของอียูและจีนยังเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เหล่าธนาคารของจีนกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษกับโครงการทางด้านการสื่อสารและด้านเทคโนโลยี ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่าจีนจะเรียกร้องขออะไรตอบแทนให้สมน้ำสมเนื้อกับการเข้าร่วมของตนหรือไม่

รายงานของรอยเตอร์บอกอีกว่า ถ้าหากอียูทำความตกลงในเรื่องนี้กับจีนได้ ก็จะถือเป็นความสำเร็จของ ฌอง-โคลด จุงค์เกอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานของคณะกรรมการธิการยุโรป (European Commission) ที่เป็นองค์กรบริหารของอียู จุงค์เกอร์นั้นถูกตั้งข้อสงสัยข้องใจหนักทีเดียวเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่เขาเสนอจัดตั้ง “กองทุนยุโรปเพื่อการลงทุนทางยุทธศาสตร์ (European Fund for Strategic Investment ใช้อักษรย่อว่า EFSI) ขึ้นมา โดยจะให้มีเม็ดเงินถึง 315,000 ล้านยูโร (354,940 ล้านดอลลาร์) ทว่าพวกรัฐบาลอียูกลับประกาศให้เงินทุนเบื้องต้นแก่กองทุนใหม่นี้กันน้อยนิดเดียว โดยที่ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, และโปแลนด์ ให้คำมั่นว่าจะออกเงินทุนเข้าสมทบในกองทุนนี้เพียงแค่รายละ 8,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ สเปน กับ ลักเซมเบิร์ก ให้สัญญาจะสมทบน้อยกว่านี้เสียอีก

ก่อนหน้านี้ในปีนี้ จีนได้ประกาศโครงการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank ใช้อักษรย่อว่า AIIB) เพื่อเป็นธนาคารพัฒนาซึ่งมุ่งให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเอเชีย หลายๆ ฝ่ายมองว่า AIIB เป็นคู่แข่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก แต่ปรากฏว่ายังคงมีรัฐสมาชิกหลายรายของสหภาพยุโรปตัดสินใจเข้าร่วมช่วยก่อตั้ง AIIB โดยไม่ฟังเสียงปรามของสหรัฐฯ

รอยเตอร์รายงานว่า เป็นที่คาดหมายว่าในการเรียกร้องสิ่งตอบแทนจากการทำการลงทุนในยุโรปนั้น จีนน่าจะขอยุโรปให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการฟื้นฟู “เส้นทางสายไหม” ทั้งนี้ในโครงการเส้นทางสายไหมสายใหม่ ซึ่งจีนเรียกย่อๆ ว่า แผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบ, หนึ่งเส้นทาง” (“One Belt, One Road”) คาดกันว่าจะมีการก่อสร้างเส้นทางต่อเชื่อมทางด้านพลังงานและการสื่อสารคมนาคม เป็นต้นว่า ทางรถไฟ, ทางหลวง, สายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ, สายส่งกระแสไฟฟ้า, โครงข่ายอินเทอร์เน็ต, เส้นทางเดินเรือทะเล, ตลอดจนการเชื่อมต่อทางโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในตลอดทั่วทั้งเอเชียกลาง, เอเชียตะวันตก, และเอเชียใต้ และแผ่เข้าไปในยุโรปจนกระทั่งถึงกรีซ

“เรากำลังมองหาหนทางต่างๆ ที่จะสร้างพลังผนึกประสานเสริมส่งซึ่งกันและกัน ระหว่าง แผนการริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง กับแผนการของจุงค์เกอร์ เพื่อลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ดีๆ ต่างๆ” เอกอัครราชทูตจีนประจำอียู หยาง เอี้ยนอี้ (Yang Yanyi) บอกกับรอยเตอร์ โดยเธอพูดถึงความร่วมมือกันระหว่างจีนกับอียูในเรื่องนี้ว่า เป็นเหมือนกับ “สำนักงานหาคู่” ซึ่งจะคัดสรรจับคู่โครงการของทางยุโรปให้เหมาะสมกับเม็ดเงินของฝ่ายจีน

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น