เอเอฟพี - ธนาคารกลางของกรีซได้ออกมาเตือนในวันพุธ (17 มิ.ย.) ว่าประเทศนี้ไม่เพียงแค่จะต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน แต่อาจจะถึงขั้นออกจากสหภาพยุโรป หากล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงความช่วยเหลือกับบรรดาเจ้าหนี้
หนึ่งในคำเตือนที่จริงจังที่สุดจากหน่วยงานของกรีซ คือ ข้อความจากธนาคารแห่งประเทศกรีซที่ได้ระบุว่า ความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางแห่งความเจ็บปวด ที่นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซและในท้ายที่สุดก็จะทำให้กรีซต้องออกจากยูโรโซน รวมถึงอาจจะต้องออกจากการเป็นชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วย
ที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์ได้เตือนมานานแล้วว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาลูกโซ่ที่นำไปสู่การออกจากกลุ่มยูโรโซนที่ใช้เงินสกุลยูโร แต่ไม่ถึงขั้นออกจากการเป็นชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ การเจรจาเพื่อให้กรีซได้รับเงินช่วยเหลืองวดสุดท้ายจำนวน 7.2 พันล้านยูโร จากเจ้าหนี้ที่มีทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรป ยังคงไม่มีความคืบหน้าขณะที่เส้นตายใกล้เข้ามาทุกที
บรรยากาศระหว่างกรีซกับบรรดาเจ้าหนี้ไม่สู้จะดีนักในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แต่ทางธนาคารแห่งประเทศกรีซก็ยังยืนกรานว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้แตกแยกกันมากนัก เหลืออีกแค่นิดเดียวก็จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้แล้ว
กรีซมีกำหนดจะต้องชำระหนี้งวดล่าสุดจำนวน 1.6 พันล้านยูโรให้แก่ไอเอ็มเอฟ ในช่วงสิ้นเดือนนี้ ทั้งยังต้องจ่ายอีก 6.7 พันล้านยูโรให้แก่ธนาคารกลางยุโรปในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ซึ่งเป็นจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของกรีซบอกว่า รัฐบาลของพวกเขาคงไม่มีเงินจ่าย
แบงก์ชาติของกรีซบอกด้วยว่า หากกรีซออกจากกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร นั่นจะนำไปสู่ภาวะถดถอย การลดลงของรายได้ รวมถึงส่งผลให้การว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในชาติยุโรปทางตอนใต้แห่งนี้
“นี่คือเหตุผลว่าทำไมธนาคารแห่งประเทศกรีซเชื่อมั่นว่าการบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ ที่เราไม่อาจเพิกเฉย” ธนาคารกลางของกรีซระบุ
“จากหลักฐานทั้งหมดที่มีจนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะสามารถประนีประนอมกันได้จนถึงส่วนที่เป็นเงื่อนไขหลักของข้อตกลงแล้ว เหลืออีกเพียงนิดเดียวที่ยังต้องคุยกัน” แบงก์ชาติกรีซระบุ
ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ล่าสุดที่ทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทุกสายตาต่างพากันจับจ้องไปที่การประชุมรัฐมนตรีคลังของ 18 ชาติยูโรโซนที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ แต่ด้วยทางเลือกที่กำลังจะหมดลง แถมบรรดาเจ้าหนี้ยังบอกว่าข้อเสนอปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซนั้นยังไม่มากพอ ทำให้นายกรัฐมนตรีกรีซ “อเล็กซิส ซีปราส” กล่าวหาบรรดาเจ้าหนี้ด้วยความฉุนเฉียวเมื่อวันอังคารว่า พยายามที่จะฉีกหน้าประเทศกรีซของเขา หลายคนจึงยังไม่แน่ใจว่าการเจรจากันระหว่างทั้งสองฝ่ายจะเห็นแสงสว่างหรือไม่