เอเจนซีส์ – รัฐบาลอินเดียห้ามแพทย์ทุกคนใช้สิทธิ์ลาหยุดในระยะนี้ หลังวิกฤตคลื่นความร้อนคร่าชีวิตพลเมืองไปอย่างน้อย 1,412 รายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ และยังมีผู้คนที่ล้มป่วยจากสภาพอากาศร้อนระอุอีกเป็นจำนวนมาก โดยบางพื้นที่อุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 47 องศาเซลเซียส
ชาวอินเดียต่างหาสารพัดวิธีที่จะช่วยคลายร้อน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหัวหอม นอนพักในที่ร่ม หรือลงไปแช่ตัวในแม่น้ำเพื่อแสวงหาความชุ่มฉ่ำ
ที่กรุงนิวเดลี พนักงานออฟฟิศต่างไปยืนออกันที่แผงขายน้ำผลไม้และเครื่องดื่มเย็น ขณะที่ชาวซิกข์ในรัฐปัญจาบและหรยาณาจัดกิจกรรมแจกจ่ายนมกลิ่นกุหลาบให้ผู้คนได้ดื่มคลายร้อนกันฟรีๆ
เดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเป็นช่วงเวลาที่ชาวอินเดียต้องเผชิญกับอากาศร้อนที่สุดในรอบปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเกิน 40 องศาเซลเซียส แต่นักอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า 15 ปีมานี้จำนวนวันที่อุณหภูมิจะพุ่งแตะ 45 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน
สำนักพยากรณ์อากาศ AccuWeather รายงานว่า คลื่นความร้อนในอินเดียปีนี้จัดว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายปี เฉพาะที่รัฐอานธรประเทศซึ่งเป็นจุดที่คลื่นความร้อนรุนแรงที่สุดมีคนตายเพิ่มเป็นอย่างน้อย 1,360 คน สูงกว่าปีที่แล้วกว่าเท่าตัว โดยเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ หรือคนงานที่ป่วยเป็นลมแดดและร่างกายขาดน้ำ
ทางการแดนภารตะสั่งให้แพทย์ทุกคนเตรียมพร้อมดูแลผู้ป่วยที่เป็นลมแดด และมีคำสั่ง “งด” อนุมัติใบลาของแพทย์ในระยะนี้ด้วย
ประชาชนได้รับคำเตือนให้ดื่มน้ำมากๆ หาเครื่องป้องกันศีรษะจากความร้อน และหลีกเลี่ยงการออกไปยืนกลางแสงแดดจ้าในช่วงเที่ยงวัน แต่สำหรับชาวอินเดียส่วนใหญ่แล้ว การเก็บตัวอยู่แต่ในที่ร่มไม่ใช่ทางเลือกที่ทำได้เสมอไป
“ผมรู้สึกปวดหัว บางทีก็มีไข้ แต่ถ้าอยู่บ้านผมจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย” อัคลาก หนุ่มวัย 28 ปีผู้ยึดอาชีพเก็บของเก่าให้สัมภาษณ์ ขณะที่กรุงนิวเดลีบ้านของเขาอุณหภูมิพุ่งแตะ 45 องศาเซลเซียสเมื่อวันอังคาร (26)
วาย. เค. เรดดี เจ้าหน้าที่สำนักอุตุนิยมวิทยาในเมืองไฮเดอราบัดซึ่งเป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลรุนแรงจากคลื่นความร้อน ระบุว่า บางพื้นที่ในภาคใต้มีอุณหภูมิที่ร้อนจัดต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 แล้ว ซึ่งยาวนานกว่าปกติถึงเท่าตัว
มวลอากาศที่ร้อนและแห้งจัดจากอิหร่านและอัฟกานิสถานซึ่งทำให้ถนนลาดยางมะตอยถึงกับละลายและผลาญพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน คาดว่าจะเริ่มอ่อนกำลังลงในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ก่อนที่ลมมรสุมจะพัดพาเอาฝนมาสู่รัฐเกรละภาคใต้ของอินเดีย และค่อยๆ เคลื่อนตัวสู่พื้นที่ทางตอนเหนือ