(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
What is rape victim Aruna Shanbaug’s real story?
By Amrita Mukherjee
19/05/2015
อรุณา ชานโบก พยาบาลวัย 66 ปี กลายเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งอินเดีย ภายหลังจากที่เธอจากไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ในขณะที่เธอยังมีชีวิตอยู่ โดยที่ระยะเวลา 42 ปีสุดท้ายนั้น เธอต้องนอนนิ่งอยู่บนเตียงในสภาพเป็นผักอย่างถาวร ตั้งแต่ที่เธอสิ้นชีวิตไป มีการอภิปรายถกเถียงกันบนสื่อสังคม ทั้งในประเด็นที่ว่า อรุณา ควรได้รับความยินยอมให้จบชีวิตลงอย่างมีเกียติแบบการุณยฆาต, คนที่ทำร้ายเธอ โซหันลาล ภารตะ วาลมิกิ ถูกลงโทษในสถานเบาเกินไปใช่หรือไม่, หรือว่าทางโรงพยาบาลดูแลจัดการกับคดีนี้อย่างไร้ความรับผิดชอบใช่หรือไม่
อรุณา ชานโบก (Aruna Shanbaug) พยาบาลวัย 66 ปี กลายเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งอินเดีย ภายหลังจากที่เธอจากไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ในขณะที่เธอยังมีชีวิตอยู่ โดยที่ระยะเวลา 42 ปีสุดท้ายนั้น เธอต้องนอนนิ่งอยู่บนเตียงในสภาพเป็นผักอย่างถาวร (permanent vegetative state หรือ PVS) ณ โรงพยาบาลคิงเอดเวิร์ดเมโมเรียล ( King Edward Memorial Hospital หรือ KEM) ในนครมุมไบ (บอมเบย์)
ตั้งแต่ที่เธอสิ้นชีวิตไป รายละเอียดอันโชกเลือดแห่งเรื่องราวชีวิตของเธอจู่ๆ ก็รุกรานเข้าสู่พื้นที่เสมือนในไซเบอร์สเปซอย่างฉับพลัน และผู้ที่บางทีอาจไม่เคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับตัวเธอมาก่อนเลย ก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากความทุกข์ทรมานที่เธอต้องแบกรับตลอดกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
มีการอภิปรายถกเถียงกันในหลายเวทีปะทุขึ้นบนสื่อสังคม ทั้งในประเด็นที่ว่า อรุณา ควรได้รับความยินยอมให้จบชีวิตลงอย่างมีเกียติแบบการุณยฆาต (euthanasia) , หรือว่า คนที่ทำร้ายเธอ โซหันลาล ภารตะ วาลมิกิ (Sohanlal Bharta Valmiki) --ภารโรงของโรงพยาบาลแห่งนั้น ซึ่งได้ใช้โซ่ล่ามสุนัขรัดคอเธอในคืนหนึ่งของเดือนพฤศจิกายนปี 1973 จากนั้นก็โทรมเธอทางทวารหนัก เพราะเธอได้กล่าวตำหนิติเตียนเขาต่อหน้าสาธารณชนว่าขโมยอาหารซึ่งเก็บไว้เลี้ยงสุนัข-- ถูกลงโทษในสถานเบาเกินไปใช่หรือไม่ โดยเขาถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปีสำหรับความผิดฐานโจรกรรมและพยายามฆ่า, หรือว่าทางโรงพยาบาลดูแลจัดการกับคดีนี้อย่างไร้ความรับผิดชอบใช่หรือไม่ เหล่านี้ทำให้ดิฉันตระหนักว่ามีด้านต่างๆ มากมายเหลือเกินในเรื่องราวของ อรุณา ชานโบก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องทำการวิเคราะห์แบบปลอดจากอคติ
อาการของอรุณาภายหลังถูกทำร้าย
ในขณะที่คนร้ายผู้ก่อเหตุอย่าง โซหันลาล เดินออกไปชื่นชมกับแสงอาทิตย์ได้ภายหลังถูกจองจำเป็นเวลา 7 ปี อรุณากลับไม่เคยได้เห็นแสงอาทิตย์อีกเลย และกลายเป็นคนไข้ที่อยู่ประจำถาวร ณ หอผู้ป่วยหมายเลข 4 ของโรงพยาบาล KEM จวบจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของเธอในวันที่ 18 พฤษภาคม
การถูกรัดคออย่างทารุณด้วยโซ่ล่ามสุนัข ทำให้สมองของเธอขาดออกซิเจน ส่งผลให้เธออยู่ในอาการตาบอดเป็นบางส่วน และอยู่ในสภาพเป็นผักอย่างถาวร พวกพยาบาลที่ KEM คอยดูแลเธอมาตลอดหลายสิบปีเหล่านี้ ถึงแม้เหงือกของเธออยู่ในสภาพเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ และต้องให้อาหารเธอทางสายยางมาตั้งแต่ปี 2010 แต่เธอไม่มีบาดแผลกดทับเลย และเห็นกันว่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ดูเหมือนเธอจะชอบฟังเพลงจากวิทยุ มักชอบรับประทานแกงไข่ และแสดงการยิ้มแย้มเป็นบางครั้งบางคราว
อย่างไรก็ตาม พินกี วิรานี (Pinki Virani) นักหนังสือพิมพ์ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Aruna's Story” รู้สึกว่าเธอควรจะได้รับยาบรรเทาปวดซึ่งไม่เคยมีการสั่งจ่ายให้เธอเลย, เธอควรจะได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ซึ่งนั่นก็ไม่เคยทำให้เธอเช่นกัน รวมทั้งเมื่อตัววิรานีพยายามที่จะจัดให้เธอได้รับการตรวจร่างกายสักครั้งหนึ่ง ก็กลับถูกฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลบอกปัดไป
วิรานีรู้สึกว่าในสภาพที่อรุณาเป็นอยู่ เธอไม่มีความสามารถใดๆ ที่จะจดจำใครๆ ได้เลย รวมทั้งไม่สามารถที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกของเธอเองด้วย ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมที่จะบอกว่าเธอกำลังตอบรับต่อการดูแลรักษา หรือเธอมีความเข้าอกเข้าใจว่ากำลังมีการตัดเค้กวันเกิดอวยพรให้เธอ
นอกจากนั้น วิรานียังตั้งคำถามว่า ทำไมห้องของอรุณาจึงมักถูกปิดล็อกเอาไว้อยู่เสมอ เหตุผลในเรื่องนี้ซึ่งพวกพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งนี้อธิบายก็คือ หลังจากที่หนังสือของวิรานีได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ก็มีสื่อมวลชนปรากฏตัวโดยไม่ได้บอกกล่าวซึ่งเป็นการรบกวนอรุณา นอกจากนั้น ในวันที่โซหันลาลได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ มีบางคนบอกว่าพวกเขาได้เห็นชายที่หน้าตาไม่คุ้นเลย เดินเข้าไปในห้องของเธอ และต่อมาได้พบว่าเธอมีรอยถูกกัดที่ลิ้นของเธอหลายรอย รวมทั้งที่นอนของเธอก็อยู่ในสภาพยับยู่ยี่ไม่เรียบร้อย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ห้องของเธอจึงถูกปิดล็อกเอาไว้
การรังควานทางเพศในที่ทำงาน
กฎหมายการรังควานทางเพศในสถานที่ทำงาน (The sexual harassment in the workplace act) ได้ผ่านออกมาบังคับใช้ในอินเดียเมื่อปี 2013 อรุณา ชานโบก ถูกทำร้ายในปี 1973 ตอนที่อินเดียยังไม่ได้เกิดความตื่นตัวหรือแม้กระทั่งตระหนักว่า การถูกล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน เป็นความผิดที่จะต้องถูกลงโทษ และเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่เกิดการล่วงละเมิดขึ้นมา รวมทั้งนายจ้างยังจะต้องจัดเตรียมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยให้แก่บรรดาลูกจ้างด้วย
พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของโรงพยาบาล KEM ไม่ได้แจ้งความเลยว่าอรุณาถูกข่มขืน และมีรายงานข่าวว่าแฟ้มบันทึกทางการแพทย์ของเธอยังหายไปจากโรงพยาบาลอีกด้วย ในด้านหนึ่ง โรงพยาบาลต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกในทางลบหากได้ทราบว่าเกิดเหตุข่มขืนขึ้นในโรงพยาบาล ส่วนในอีกด้านหนึ่ง โรงพยาบาลก็ต้องการหลีกเลี่ยงไม่อยากจ่ายค่าชดเชยให้แก่เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
การไม่ได้ค่าชดเชยเช่นนี้ ได้กลายเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้อรุณาไม่ได้กลับไปอยู่บ้านอีกเลย ทั้งนี้ครอบครัวของเธอไม่สามารถดูแลเธอได้ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน
นอกจากนั้น ดูเหมือนว่าผู้อำนวยการของโรงพยาบาลไม่ได้แจ้งความเรื่องการข่มขืน เพราะเขาหวาดกลัวว่าเธอจะต้องผจญกับรอยแผลเป็นทางสังคมเช่นนี้ไปจนตลอดชีวิต ในเมื่อตอนนั้นเธอกำลังใกล้จะแต่งงานกับแพทย์คนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน
องค์การปกครองเทศบาลบอมเบย์ (Bombay Municipality Corporation) เคยพยายามอยู่ 2 ครั้งที่จะทำให้เตียงของอรุณาในหอผู้ป่วยหมายเลข 4 ว่างลง ทว่าพวกพยาบาลต่อต้านคัดค้าน ดังนั้นอรุณาจึงได้อยู่ต่อ ด้วยเหตุนี้ อรุณาจึงไม่ได้อยู่ต่อมาเนื่องจากความเอื้ออาทรหรือความรู้สึกรับผิดชอบของทางโรงพยาบาล หากแต่เป็นเพราะความดื้อดึงของบรรดาพยาบาลต่างหาก สำหรับครอบครัวของอรุณานั้นไม่ได้มาเยี่ยมเธออีกเลย หลังเกิดเหตุการณ์อันหฤโหดไม่นานนัก
ภายหลังถูกทำร้าย เพื่อนร่วมงานของอรุณา ซึ่งก็คือบรรดาพยาบาลของโรงพยาบาล KEM ได้ทำการประท้วงนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้มีเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม และเรียกร้องให้อรุณาได้รับการดูแลที่ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย ทว่าไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันนักว่าผลการสไตรก์คราวนั้นลงเอยอย่างไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาแน่ๆ นั่นก็คือ มีการรับประกันว่าเหยื่อผู้นี้จะได้อยู่ในความดูแลของบรรดาพยาบาล
ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมา บรรดาพยาบาลที่เคยทำงานร่วมกับเธอ หรือที่เข้ามาภายหลังเหตุการณ์ผ่านไปหลายๆ ปี คือผู้ที่คอยดูแลคนไข้ PVS รายนี้
การต่อสู้ระหว่างพวกพยาบาลกับ พินกี วิรานี
นักหนังสือพิมพ์-นักเขียน พินกี วิรานี หลังจากเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของอรุณาแล้ว ได้บังเกิดความรู้สึกว่าควรยินยอมให้จบชีวิตของอรุณาอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยการทำการุณยฆาต ทั้งนี้เธอจะได้ไม่ต้องดำรงชีวิตอันเจ็บปวดและไร้ศักดิ์ศรีในสภาพที่เป็นผักของเธอต่อไปอีก
ในปี 2009 พินกี วิรานี ยื่นคำร้องต่อศาลในฐานะที่เป็น “เพื่อนผู้ใกล้ชิด” (next friend) ของอรุณา ขอให้เธอได้ตายอย่างมีเกียรติ ปรากฏว่าคำร้องนี้ถูกคัดค้านอย่างโกรธเกรี้ยวจากบรรดาพยาบาลของ KEM ที่เป็นผู้ดูแลอรุณา ในที่สุดศาลสูงสุดตัดสินในปี 2011 ปฏิเสธไม่ยอมรับว่า พินกี มีฐานะเป็น “เพื่อนผู้ใกล้ชิด” ตรงกันข้ามคำพิพากษาระบุว่า พวกพยาบาลต่างหากที่ควรเรียกว่าเป็น “เพื่อนผู้ใกล้ชิด” ของอรุณา เนื่องจากพวกเธอมีความผูกพันทางอารมณ์ความรู้สึกกับอรุณาและคอยดูแลเธอมาตลอด
ถึงแม้อรุณาไม่ได้รับการยินยอมให้สิ้นชีวิตไป แต่คำพิพากษาของศาลสูงสุดนี้ก็ได้ทำให้การุณยฆาตเชิงรับ (passive euthanasia การุณยฆาตที่กระทำโดยการตัดการรักษาที่ให้แก่ผู้ป่วย) กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในอินเดีย หลังจากนั้นบรรดาญาติของผู้ป่วย PVS สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อนำตัวผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานมายาวนาน ออกจากเครื่องอุปกรณ์ช่วยชีวิต
ในขณะที่อรุณาหายใจเป็นครั้งสุดท้าย และบรรดาพยาบาลแห่งโรงพยาบาล KEM แสดงความเคารพเธอเป็นหนสุดท้าย พินกี วิรานี ก็ยังคงเชื่อว่า ควรยินยอมให้อรุณาจากไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานแล้ว นี่เป็นเพราะว่าพวกเซลล์ในสมองของอรุณาในส่วนซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้นั้น ยังคงทำงานได้ ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 42 ปีที่เธออยู่ในโรงพยาบาล เหยื่อของการข่มขืนผู้นี้จึงต้องทรมานจากความเจ็บปวดอย่างรุนแรงเรื่อยมา
ทางด้าน สุรินเดอร์ คาอูร์ (Surinder Kaur) หัวหน้าพยาบาลของแผนกหัวใจ ณ โรงพยาบาล KEM ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ “เดอะ ฮินดู” (The Hindu) ของอินเดีย โดยกล่าวว่า เธอเข้าทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อปี 1976 และได้รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของอรุณา ชานโบก ตั้งแต่นั้นมา เธอก็คอยเฝ้าดูแลคนไข้ผู้นี้เคียงข้างพยาบาลคนอื่นๆ “เราเฝ้าดูแลเธอเหมือนกับเป็นลูกๆ ของพวกเราเอง เราไม่สามารถยอมรับความคิดที่จะทำให้เธอต้องนอนหลับไปตลอดกาลได้หรอก”
บางที พินกี วิรานี อาจจะเป็นฝ่ายถูกถ้าหากพิจารณาจากมุมมองของเธอเอง เฉกเช่นเดียวกับบรรดาพยาบาลผู้ซึ่งได้พัฒนาความผูกพันแน่นหนากับดวงวิญญาณที่ทนทุกข์ทรมานมายาวนานดวงนี้ ก็อาจจะเป็นฝ่ายถูกในมุมมองของพวกเธอ
พร้อมๆ กับที่ อรุณา ชานโบก เป็นผู้มอบของขวัญ “การุณยฆาตเชิงรับ” ให้แก่อินเดีย เธอยังเป็นตัวอย่างอันมีชีวิตชีวาของการที่ผู้หญิงในอินเดียต้องตกเป็นเหยื่อของระบบยุติธรรมที่เอียงกระเท่เร่
โซหันลาลไม่เคยถูกฟ้องร้องพิจารณาคดีในข้อหาข่มขืนหรือกระทำชำเราทางทวารหนัก บางทีเขาอาจจะเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียงหลังจากได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ พวกลูกจ้างในโรงพยาบาล KEM บอกกับ พินกี ว่า โซหันลาลหางานทำได้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี ปัจจุบันภาพถ่ายของอาชญากรผู้นี้ไม่ปรากฏอยู่ในแฟ้มของตำรวจ, ศาล, หรือโรงพยาบาล เนื่องจากเวลาผ่านไปนานถึง 35 ปีแล้วนับแต่ที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากคุก ดังนั้นเมื่อมาถึงเวลานี้ จึงไม่น่าที่จะสามารถติดตามร่องรอยของเขาและเปิดคดีฟ้องร้องเขาได้แล้ว
อัมริตา มุคเกอร์จี เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระซึ่งเขียนถึงประเด็นทางสังคมในอินเดียโดยเน้นหนักที่เรื่องผู้หญิง เธอแบ่งเวลาพำนักอยู่ระหว่าง ดูไบ กับ อินเดีย ติดตามบล็อกของเธอได้ที่ www.amritaspeaks.com