xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาเรียกร้อง'ศาลพิเศษ' ฟ้องอดีตจนท.เขมรแดงเพิ่มขึ้นอีก

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Cambodian opposition leader urges tribunal to keep prosecuting ex-Khmer Rouge cadres
Author: Radio Free Asia
17/04/2015

ผู้คนประมาณ 300 คนเข้าร่วมพิธีรำลึกในกรุงพนมเปญเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) ที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีของการที่คอมมิวนิสต์เขมรแดงบุกเข้าสู่เมืองหลวงของกัมพูชาแห่งนี้ และเริ่มต้นยุคแห่งความสยดสยอง โดยที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีชาวกัมพูชาถูกสังหารไปประมาณ 2 ล้านคน สม รังสี ประธานของพรรคกู้ชาติกัมพูชา ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านของประเทศ มาเป็นประธานในพิธี โดยเขาเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่บรรดาเหยื่อของระบอบปกครองซึ่งได้ปกครองกัมพูชาอย่างหฤโหดอยู่เป็นเวลา 5 ปี

ผู้คนประมาณ 300 คนเข้าร่วมพิธีรำลึกในกรุงพนมเปญเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) ที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีของการที่คอมมิวนิสต์เขมรแดงบุกเข้าสู่เมืองหลวงของกัมพูชาแห่งนี้ และเริ่มต้นยุคแห่งความสยดสยอง โดยที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีชาวกัมพูชาถูกสังหารไปคิดเป็นตัวเลขกลมๆ ประมาณ 2 ล้านคน

สม รังสี (Sam Rainsy) ประธานของพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodian National Rescue Party) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านของประเทศ มาเป็นประธานในพิธีคราวนี้ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เชือน เอก (Choeun Ek Genocide Museum) สถานที่ตั้งของ “ทุ่งสังหาร” (killing field) ซึ่งมีชื่อฉาวโฉ่ที่สุดของเขมรแดง บริเวณชานกรุงพนมเปญ โดยเขาเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่บรรดาเหยื่อของระบอบปกครองซึ่งได้ปกครองกัมพูชาอย่างหฤโหดอยู่เป็นเวลา 5 ปี

“ผมขอร้องเรียนรัฐบาลให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนศาลพิเศษคดีเขมรแดง (Khmer Rouge tribunal) ในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับพวกอดีตสมาชิกเขมรแดงทั้งหลาย” เขากล่าว “ได้โปรดอนุญาตให้ศาลแห่งนี้สามารถกระทำเรื่องนี้ได้ ด้วยการอนุมัติให้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งจะทำให้ศาลแห่งนี้สามารถทำงานของตนได้โดยเร็วที่สุด เราต้องการที่จะได้รู้ความจริง”

ทั้งนี้ ศาลอาชญากรสงครามพิเศษร่วมระหว่างสหประชาชาติกับกัมพูชาแห่งนี้ ได้จัดตั้งขึ้นมาเกือบ 10 ปีแล้ว เพื่อนำความยุติธรรมมาสู่พวกซึ่งต้องรับผิดชอบต่อการสิ้นชีวิตของประชากรถึงประมาณหนึ่งในห้าของประเทศในช่วงระหว่างปี 1975-1979 ปรากฏว่าศาลแห่งนี้ได้ฟ้องร้องพิจารณาความผิดของผู้ปฏิบัติงานของระบอบปกครองเขมรแดงไปได้ไม่กี่คน และได้ตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยสองสามคนในความผิดฐานประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

การดำเนินงานของศาลพิเศษแห่งนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งจากการต่อสู้กันภายใน, การถูกแทรกแซงทางการเมือง, การขาดแคลนเงินงบประมาณ, และกระบวนการพิจารณาที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งมีคำพิพากษาตัดสินความผิดเพียงแค่ 3 คดีเท่านั้น

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลพิเศษแห่งนี้ได้เริ่มต้นฟ้องร้องอดีตผู้ปฏิบัติงานระดับสูงของเขมรแดง 2 คนในความผิดฐานประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากบทบาทของพวกเขาในระบอบปกครองจอมสังหารดังกล่าว

สม รังสี บอกว่า จะต้องให้ศาลพิเศษสามารถดำเนินงานของตนได้อย่างเป็นอิสระโดยปราศจากการบีบคั้นกดดันใดๆ ทั้งสิ้น

ผู้รอดชีวิตย้อนมองอดีตในยุคหฤโหด

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในพิธีรำลึกคราวนี้ พระสงฆ์และผู้รอดชีวิตวัยอาวุโสจากระบอบปกครองเขมรแดง ได้สวดมนตร์ที่เจดีย์แห่งหนึ่งซึ่งบรรจุกระโหลกศีรษะและกระดูกของเหยื่อผู้ถูกสังหารโดยพวกเขมรแดง และศพถูกนำไปฝังตามพื้นดินที่ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เชือน เอก

หญิงชาวกัมพูชาผู้หนึ่งซึ่งเข้าร่วมในพิธีนี้บอกกับวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ว่า จากการที่เธอถูกพวกเขมรแดงทรมาน ทำให้เธอต้องสูญเสียลูกในท้องไป

“พวกมันทรมานฉันจนกระทั่งฉันแท้งลูก” จัน คิม ซวง (Chan Kim Soung) เล่า “พวกมันฆ่าสามีของฉันและครอบครัวของฉัน ฉันเป็นคนเดียวที่เหลือรอดมาได้ ฉันไม่ต้องการให้ระบอบเขมรแดงไหนๆ กลับมาอีก เพราะพวกมันฆ่าคนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนเหลือเกิน”

ในพิธีรำลึกคราวนี้ ไม่มีสมาชิกในคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน อดีตนายทหารเขมรแดงซึ่งบอกว่าเขาได้แปรพักตร์ถอนตัวออกจากขบวนการนั้น ตลอดจนพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party) ที่ป็นพรรครัฐบาล เข้าร่วมด้วยแต่อย่างใด

เมื่อตอนที่เขมรแดงเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงพนมเปญในวันที่ 17 เมษายน 1975 นั้น มันเป็นหลักหมายแสดงถึงการสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองต่อสู้กับกองทัพของประธานาธิบดีลอนนอล (Lon Nol) ของกัมพูชาในเวลานั้น ที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ ทว่ามันก็เป็นจุดเริ่มต้นของระบอบปกครองจอมสังหารซึ่งได้ไล่ต้อนบังคับให้ประชาชนทั้งเมืองอพยพออกจากกรุงพนมเปญ

ภายใต้การนำของ โปล โป้ต (Pol Pot) เขมรแดงก็เริ่มต้นการปฏิวัติการเกษตรของชาวนาอย่างเป็นทางการ โดยที่ในระหว่างเวลานั้นชาวกัมพูชาได้ถูกทรมาน, อดอยากหิวโหย, และถูกสังหาร จวบจนกระทั่งกองทัพเวียดนามยกเข้ามาขับไล่ระบอบปกครองนี้ออกจากอำนาจในปี 1979

ข่าวนี้รายงานโดย วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเขมร(RFA’s Khmer Service) แปลโดย เสมียน ยุน (Samean Yun) และเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย โรสแอนน์ เกอริน (Roseanne Gerin)

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น