เอเจนซีส์ - ฐานทัพลับใต้ภูเขาไชแอนน์ (Cheyenne Mountain Complex) รัฐโคโลราโด หนึ่งในสัญลักษณ์ที่ยังหลงเหลือของอดีตสงครามเย็นถูกปัดฝุ่นกลับมานำใช้งานอีกครั้ง หลังเพนตากอนสั่งให้มีการปรับปรุงล่าสุด รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสารใหม่ทั้งหมด หลังจากความสัมพันธ์สหรัฐฯ และรัสเซียสั่นคลอนหนักหลังจากไครเมียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ในขณะที่สื่อเคียฟตีข่าวประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน มีความตั้งใจจะตั้งหัวรบนิวเคลียร์บนคาบสมุทรไครเมียพร้อมทหารประจำการร่วม 100,000 นาย
เดลีเมล์ สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (8) ว่า หลังจากที่ 10 ปีก่อนหน้านี้มีคำสั่งปิดฐานทัพลับใต้ภูเขาไชแอนน์ (Cheyenne Mountain Complex) เพราะมีความเห็นว่า รัสเซียไม่เป็นภัยต่อสหรัฐฯอีกต่อไป
ทั้งนี้ บังเกอร์นิวเคลียร์แห่งนี้อยู่ลึกลงไปใต้ภูเขาไชแอนน์ร่วม 620 เมตร รัฐโคโลราโด ได้เคยถูกใช้เป็นฐานบัญชาการของ NORAD ศูนย์ควบคุมป้องกันภัยทางอากาศสหรัฐฯ เพื่อค้นหามิสไซล์สัญชาติรัสเซีย และยังเป็นศูนย์กองบัญชาการเหนือแห่งสหรัฐฯ (US Northern Command) ในกรณีเกิดเหตุสงครามโลกครั้งที่ 3
แต่ทว่าล่าสุดสื่ออังกฤษรายงานว่า หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียตกต่ำหนักหลังเกิดเหตุผนวกไครเมีย และมีข่าวว่าประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูตินขู่ที่จะใช้มิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์หากมีการยึดไครเมียกลับคืนสู่ยูเครน ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หันมาเปิดการใช้งานฐานทัพลับแห่งนี้อีกครั้ง
โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพนตากอนประกาศทำสัญญามูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ ว่าจ้างบริษัท เรย์ทีออน คอร์ปอเรชัน (Raytheon Corporation) เพื่อปรับปรุงฐานลับแห่งนี้ให้ทันสมัย และกลับมาใช้งานได้สำหรับ NORAD และศูนย์กองบัญชาการเหนือแห่งสหรัฐฯ ซึ่ง พล.ร.อ.วิลเลียม กอร์ตนีย์ (William Gortney) ผู้บัญชาการของหน่วยงานทั้งสองให้ความเห็นว่า เพราะธรรมชาติของฐานทัพลับใต้ภูเขาไชแอนน์ที่ถูกสร้างเพื่อให้มีความทนทานต่อนิวเคลียร์ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อทำให้สามารถติดต่อสื่อสารจากที่นั่นได้...แต่สิ่งที่ผมวิตกเป็นประการแรก คือ ในฐานทัพใต้ดินแห่งนั้นเราจะมีพื้นที่เพียงพอสำหรับทุกคนหรือไม่ ซึ่งผมไม่ใช่ผู้ที่จะตัดสินว่าใครจะสามารถลงไปหลบอยู่ที่นั่นได้บ้าง” กอร์ตนีย์แถลง
เดลีเมล์ชี้ว่า ฐานทัพใต้ภูเขาไชแอนน์ขนาดครึ่งเอเคอร์แห่งนี้ถูกสร้างในยุค 1960 ลึกลงไปใต้ภูเขาในรัฐโคโลราโด เพื่อเป็นบังเกอร์กันภัยอาวุธนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียตในขณะนั้นซึ่งภายในฐานทัพมีเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศเตรียมพร้อมในการส่งสัญญาณเตือน ซึ่งอาจทำให้นำไปสู่สงครามนิวเคลียร์
แต่ทว่าในปี 2006 ทางเพนตากอนตัดสินใจปิดฐานลับใต้ภูเขาแห่งนี้ และย้ายสำนักงานใหญ่ของ NORAD และศูนย์กองบัญชาการเหนือแห่งสหรัฐฯไปยังฐานทัพอากาศพีเตอร์เซน ในโคโลราโดสปริงส์ และปรับให้ฐานทัพลับใต้ภูเขาไชแอนน์เป็นฐานทัพสำรองหากจำเป็น
แหล่งข่าวเพนตากอนเปิดเผยว่า “ในขณะนี้ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเล็งที่เคลื่อนย้ายอุปกรณ์สื่อสารกลับไปที่ฐานทัพลับใต้ภูเขาแห่งนี้” และแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่เพนตากอนอีกคนเสริมต่อว่า “อุปกรณ์การสื่อสารติดต่อสำหรับกองบัญชาการจำนวนมากถูกติดตั้งเข้าไป”
โดยแหล่งข่าวเพนตากอนให้ข้อมูลว่า จากการที่ทำงานของกองทัพสหรัฐฯ ใต้ภูเขาไชแอนน์นี้ขึ้นอยู่กับเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารระบบดิจิตอลเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ได้รับความเสียหายง่ายมากจากการโจมตีด้วยคลื่นพัลส์แม่เหล็กไฟฟ้า หรือ EMP ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ก็ได้
ดังนั้น ภายใต้สัญญา 10 ปีของบริษัท เรย์ทีออน คอร์ปอเรชัน ทางบริษัทมีกำหนดต้องให้บริการเพื่อทำให้มั่นใจว่าหน่วยงานที่อยู่ภายในฐานลับใต้ภูเขาไชแอนน์และรวมไปถึงฐานทัพอากาศปีเตอร์เซนจะสามารถทำงานได้ตลอดเวลา อย่างมีประสิธิภาพ และอย่างทันท่วงที โดยไม่มีการเตือนที่กำกวม รวมไปถึงการโจมตีทางอากาศ รวมถึงมิสไซล์ และการปราฏตัวของยานข้าศึก
นอกจากนี้ยังพบว่า ทางเรย์ทีออน คอร์ปอเรชันยังได้รับสัญญาในการมอบหมายทำงานที่ไม่เปิดเผยที่ฐานทัพวาเดนเบิร์ก (Vandenberg) รัฐแคลิฟอร์เนีย และฐานทัพอากาศออฟฟุตต์ในรัฐเนแบรสกา
ในขณะที่เพนตากอนกลับมาปัดฝุ่นฐานทัพบังเกอร์นิวเคลียร์ใหม่อีกครั้ง ยูเครนทูเดย์ สื่อยูเครนได้รายงานเมื่อวานนี้ (8) โดยอ้างอิงจากสำนักข่าวอิสระในไครเมีย ว่าประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน มีแผนที่จะนำอาวุธนิวเคลียร์มาติดตั้งที่คาบสมุทรนิวเคลียร์ พร้อมทหารประจำการอีก 100,000 นายในเร็ววันนี้
โดยแอนดรีย์ คลีเมนโก (Andriy Klymenko) นักข่าวสำนักข่าวอิสระในไครเมียรายงานว่า ปูตินมีแผนที่จะปรับใหฐานทัพเรือทะเลดำให้มีอาวุธมิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์ประจำ ทหารเรือ และเครื่องบินรบ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลารอฟ ได้เคยกล่าวไว้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า รัสเซียมีทุกเหตุผลที่จะนำอาวุธนิวเคลียร์มาติดตั้งที่ไครเมีย
ทางไครเมีย หรือชื่อใหม่ รัฐโนโวรอสซิยา (Novorossiya) ที่หมายความว่า “รัสเซียใหม่” กระตือรือร้นต่อความคิดนี้ จนถึงขณะนี้รัฐใหม่แห่งนี้เชื่อมกับแผ่นดินใหญ่รัสเซียได้เพียงทางอากาศและทางทะเลเท่านั้น