xs
xsm
sm
md
lg

“โตโยต้า” ออกกลยุทธ์ลดค่าใช้จ่าย เตรียมใช้ชิ้นส่วนร่วมกันในรถยนต์หลายรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ค่ายรถญี่ปุ่น “โตโยต้า” ประกาศในวันนี้ (26 มี.ค.) ว่ามีแผนจะยกเครื่องกระบวนการผลิดเสียใหม่เพื่อลดต้นทุน โดยทางผู้บริหารระดับสูงได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่ามีความสำคัญมากในการชี้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและกระทันหันอยู่เสมอ

ในขณะที่ค่ายรถยักษ์ใหญ่จากแดนปลาดิบรายนี้ กำลังอยู่บนเส้นทางของการทำให้ตัวเลขผลกำไรในปีงบประมาณล่าสุด ออกมาสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 18 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท) ด้วยอานิสงส์ของค่าเงินเยนที่อ่อนตัวบวกกับยอดขายในอเมริกาเหนือที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ถึงกระนั้นโตโยต้าก็ยังต้องการที่จะรักษาตัวเลขผลกำไรให้ดีขึ้นอีก ในตลาดรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและกะทันหันในด้านปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ เท่ากับว่าวิธีการคิดและทำในแบบเดิมๆ ไม่สามารถช่วยให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกต่อไป เรากำลังอยู่ตรงทางแยก ที่จะต้องสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่” อาคิโอะ โทโยดะ ประธานโตโยต้าระบุในคำแถลง

โตโยต้าระบุว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยทำให้ระบบส่งกำลังใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงยังสามารถสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ด้วยการใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนพื้นฐานร่วมกัน เช่นเดียวกับที่บรรดาค่ายรถคู่แข่งเพิ่มสัดส่วนอะไหล่ที่ใช้ร่วมกันในรถยนต์หลายรุ่น

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกตั้งเป้าว่าจะลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มในปีนี้ที่รถยนต์ขนาดกลาง รถขับเคลื่อนล้อหน้า โดยต้องการให้ครึ่งหนึ่งของรถโตโยต้าที่ขายทั่วโลก ถูกผลิตขึ้นมาภายใต้แผนนี้ ภายในปี 2020

บริษัทรถยนต์รายนี้บอกว่า แผนนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเริ่มสายการผลิตใหม่ได้ถึงครึ่งหนึ่ง รวมถึงประหยัดเงินลงทุนก้อนโตสำหรับการสร้างโรงงานใหม่ได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับที่เคยใช้ในปี 2008

“ด้วยการให้รถหลายรุ่นใช้ชิ้นส่วนร่วมกัน โตโยต้าตั้งเป้าว่าจะช่วยให้สามารถตั้งโรงงานผลิตที่มีศักยภาพในการแข่งขันได้สม่ำเสมอ แทนที่จะขึ้นอยู่กับยอดขายของรถแต่ละรุ่น” โตโยต้าระบุ

นักวิเคราะห์ได้ทำนายว่า บรรดาค่ายรถ อาทิ โตโยต้า และเจนเนอรัล มอเตอร์ส จะใช้กลยุทธใหม่นี้ ลดจำนวนอุปกรณ์ชิ้นส่วนพื้นฐานที่ใช้ผลิตรถได้มากกว่าครึ่งภายในปี 2021 หลังจากที่ค่ายรถโฟล์คสวาเกน ได้เริ่มทำแบบนี้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน

“นี่เป็นโมเดลธุรกิจที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเริ่มทำกันครั้งแรกโดยโฟล์คสวาเกน ครั้งนี้มาในเวอร์ชั่นของโตโยต้า กลยุทธนี้จะรวมถึงการใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งมันค่อนข้างมีประสิทธิภาพในเชิงธุรกิจ และจะได้รับความนิยมในระดับโลก” นักวิเคราะห์บอกกับเอเอฟพี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ได้เตือนว่าการทำแบบนี้อาจส่งผลให้เกิดการเรียกคืนรถยนต์ครั้งมโหฬาร หากชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกันในรถยนต์หลายรุ่นพบข้อบกพร่อง กลยุทธนี้จึงถือว่าเป็นดาบสองคม บรรดาค่ายรถจึงควรที่จะลงทุนเพิ่มในด้านการควบคุมคุณภาพชิ้นส่วน

มีรายงานว่า โตโยต้ากำลังจะสร้างโรงงานใหม่อีกครั้งหลังจากระงับไป 3 ปี ด้วยการก่อสร้างโรงงานในเม็กซิโกที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ แผนระงับการก่อสร้างโรงงานใหม่ถูกใช้หลังจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมาบริษัทมีการขยายตัวอย่างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น