xs
xsm
sm
md
lg

'ตูนีเซีย'ประกาศต่อสู้ 'ก่อการร้าย' อย่าง 'ไร้ปรานี' หลังเหตุโจมตี 'พิพิธภัณฑ์'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Tunisian president vows no mercy
19/03/2015

ไม่นานหลังจากเกิดเหตุโจมตีพิพิธภัณฑ์ชื่อดังในกรุงตูนิส เมืองหลวงของตูนีเซีย ซึ่งทำให้มีผู้ถูกสังหารไปอย่างน้อย 19 คน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 17 คน ประธานาธิบดีเบจี คาอิด เอสเซบซี ผู้เพิ่งได้รับเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งใหม่ๆ หมาดๆ ก็ออกมาแถลงต่อประชาชนทั่วทั้งชาติว่า ประเทศนี้กำลังอยู่ “ในสงครามสู้รบกับการก่อการร้าย” และจะ “ต่อสู้อย่างไร้ความปรานี” กับพวกที่รับผิดชอบก่อการโจมตีคราวนี้

ตูนิส - มีชาวต่างประเทศอย่างน้อยที่สุด 17 คน และชาวตูนีเซียอีก 2 คน ถูกสังหารไปในวันพุธ (18 มี.ค.) เมื่อกลุ่มมือปืนเปิดฉากโจมตีอย่างบ้าบิ่นกลางวันแสกๆ ณ พิพิธภัณฑ์ชื่อดังซึ่งตั้งอยู่ติดๆ กับอาคารรัฐสภาในกรุงตูนิส การโจมตีคราวนี้ยังทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 40 คน

ประธานาธิบดีเบจี คาอิด เอสเซบซี (Beji Caid Essebsi) ประกาศว่า ตูนีเซียจะสู้รบกับพวกที่ก่อการโจมตีคราวนี้ “จวบจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของเรา”

“ผมขอให้ประชาชนชาวตูนีเซียทั้งหลายทำความเข้าใจให้ดี ว่าเรากำลังอยู่ในสงครามสู้รบกับการก่อการร้าย และเจ้าพวกคนกลุ่มน้อยๆ ป่าเถื่อนเหมือนสัตว์ป่าเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกกลัวเกรงเลย” เอสเซบซี กล่าว ภายหลังเกิดเหตุ เขายังได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บบางส่วน ซึ่งกำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงตูนิส

“เราจะสู้รบกับพวกมันอย่างไร้ความปรานีจวบจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของเรา”

ก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรี ฮาบิบ เอสซิด (Habib Essid) ได้ออกมากล่าวปราศรัยทางโทรทัศน์ในคืนวันพุธ (18 มี.ค.) ยืนยันว่ามีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตไปอย่างน้อย 17 คน ในจำนวนนี้เท่าที่จำแนกออกมาได้ ประกอบด้วยชาวอิตาลี 4 คน, ชาวญี่ปุ่น 5 คน, และชาวโคลอมเบีย 2 คน นอกจากนั้นก็เป็นชาวฝรั่งเศส, ชาวโปแลนด์, ชาวออสเตรเลีย, และชาวสเปน ชาติละ 1 คน

ยอดประมาณการผู้เสียชีวิตนี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังการโจมตีผ่านพ้นไป โดยที่นอกจากเหยื่อเหล่านี้แล้ว ยังมีมือปืนที่ก่อเหตุจำนวน 2 คน และตำรวจอีกคนหนึ่งถูกฆ่าตายด้วย ในตอนที่ตำรวจและกองกำลังหน่วยรบพิเศษจู่โจมเข้าไปในอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนั้น

ยิ่งเวลาผ่านไป ก็มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นทยอยออกมาเกี่ยวกับผู้ที่ถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีครั้งนี้

ชาวโคลอมเบีย 2 คนที่เสียชีวิตนั้น ปรากฏว่าเป็นแม่กับลูกของเธอ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการท่องเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว กระทรวงการต่างประเทศของโคลอมเบียในกรุงโบโกตา แถลง และบอกด้วยว่า ผู้เป็นพ่อของครอบครัวนี้รอดชีวิตมาได้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติมมากไปกว่านี้

“เรามีความโศกเศร้าอาลัยต่อการเสียชีวิตของชาวโคลอมเบีย 2 คนในกรุงตูนิส และขอร่วมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของพวกเขาด้วย” ประธานาธิบดี ฮวน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) เขียนเอาไว้เช่นนี้บนทวิตเตอร์

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของชาติในอเมริกาใต้แห่งนี้ กล่าวเสริมว่า โคลอมเบีย “ขอแถลงย้ำว่าตนมีความผูกพันมุ่งมั่นในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และด้วยเหตุนี้ จึงขอเน้นย้ำว่า โคลอมเบียปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงไม่ยอมรับพฤติการณ์แห่งการก่อการร้ายและความรุนแรง”

ส่วนที่โปแลนด์ ประธานสภาล่าง ราโดสลอว์ ซิคอร์สกี้ (Radoslaw Sikorski) แถลงว่า “มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะมีประชาชนชาวโปแลนด์รวม 7 คนถูกสังหาร” ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของชาติยุโรปตะวันออกแห่งนี้ ยังคงยืนยันเพียงแค่ว่ามีพลเมืองของตนได้รับบาดเจ็บ 11 คน

ทางด้านผู้รอดชีวิตชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งได้ออกมาเล่าว่า เธอกับแม่ของเธอถูกยิงได้รับบาดเจ็บอย่างไร ในท่ามกลางห่ากระสุนที่โปรยปรายพรั่งพรูไปทั่ว

“ดิฉันหมอบลงกับพื้นโดยพยายามยกแขนขึ้นมาป้องกันศีรษะของตัวเอง แต่ดิฉันก็ยังคงถูกยิงทั้งที่หู, มือ, และคอ อยู่ดี” นอริโกะ ยูกิ (Noriko Yuki) วัย 35 ปี พูดจากเตียงในโรงพยาบาลของเธอ ซึ่งได้ถูกนำออกอากาศโดยเอ็นเอชเค (NHK) สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของทางการญี่ปุ่น

“แม่ของดิฉันซึ่งอยู่ข้างๆ ดิฉันก็ถูกยิงเข้าที่คอ คุณแม่เคลื่อนไหวช่วยตัวเองไม่ได้เลยในตอนที่ตำรวจมาถึง” เธอเล่าต่อ

รายงานที่ออกมาในช่วงแรกๆ นั้นระบุว่า มีนักท่องเที่ยว 7 หรือ 8 คน และชาวตูนีเซียอีก 1 คนถูกสังหาร และจำนวนดังกล่าวได้พุ่งขึ้นเป็นนักท่องเที่ยว 17 คน และชาวตูนีเซียอย่างน้อยที่สุด 1 คนถูกฆ่าตาย ในทันทีที่ตำรวจและกองกำลังหน่วยรบพิเศษจู่โจมเข้าไปยังอาคารแห่งนั้น

ในขณะรายงานข่าวอยู่นี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจำนวนเหยื่อเสียชีวิตซึ่งเพิ่มขึ้นมานี้ ได้ถูกสังหารตั้งแต่ก่อนหรือว่าระหว่างการจู่โจมของฝ่ายเจ้าหน้าที่

สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า มีผู้คนราว 200 คนอยู่ในพื้นที่รอบๆ พิพิธภัณฑ์ในเวลาเกิดเหตุ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอิตาลียืนยันว่ามีคนสัญชาติอิตาลีราว 100 คนพยายามหลบหนีออกมาจากที่เกิดเหตุได้สำเร็จ โดยที่ยังไม่มีการยืนยันว่ามีนักท่องเที่ยวต่างประเทศและชาวตูนีเซียถูกจับเป็นตัวประกันด้วยหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด

นายกรัฐมนตรีตูนีเซียนั้นประกาศว่า จะตอบโต้การโจมตีครั้งนี้อย่างดุดันสาสม

“เราจะลงมือทำการตอบโต้อย่างไร้ความปรานีและอย่างไม่มีการบันยะบันยังต่อพวกที่กำลังทำการล่วงเกินตูนีเซียเหล่านี้” เอสซิด บอกกับสื่อมวลชน

ทางด้านประธานาธิบดีเบจี คาอิด เอสเซบซี ก็บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของเราใช้มาตรการทุกอย่างทุกประการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า เรื่องอย่างนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก”

“นี่เป็นความหายนะครั้งมโหฬารมาก เราจะต้องระดมสรรพกำลังทุกสิ่งทุกอย่างขับไล่พวกผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ไปให้หมด ไปให้สิ้นซาก” เขากล่าว

“อัล-โชรุค” (http://www.alchourouk.com) เว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นภาษาอาหรับ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่ง เปิดเผยในคืนวันพุธ (18 มี.ค.) ว่า ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบสามารถระบุตัวมือปืนทั้ง 2 คนที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งปรากฏว่าเป็นชาวตูนีเซียทั้งคู่

โดยที่คนหนึ่งชื่อ ฮาเตม อัล-คัชนาวี (Hatem al-Khashnawy) มาจาก คัสเซรีน (Kasserine) เมืองทางภาคตะวันตกของประเทศ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาวการณ์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของเมืองนี้ได้ที่ http://www.middleeasteye.net/in-depth/features/other-side-kasserine-577815738) ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ ยาซิน อัล-อาบีดี (Yasin al-Abidi) เป็นผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในเมืองหลวง

พ่อของ คัชนาวี บอกกับเว็บไซต์ “อัล-โชรุค” ว่า ลูกชายของเขาได้หายตัวไปเมื่อ 3 เดือนก่อน แต่หลังจากนั้นก็ได้ติดต่อกับครอบครัวโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของอิรัก

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบยังกำลังหาทางที่จะสอบปากคำชายอีก 3 คนซึ่งเชื่อกันว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการโจมตีครั้งนี้

ชาวตูนีเซียชุมนุมคัดค้านการก่อการร้าย

ได้มีฝูงชนชุมนุมกันอยู่ที่บริเวณด้านนอกของอาคารพิพิธภัณฑ์ หลังจากที่ตำรวจและกองกำลังหน่วยรบพิเศษบุกเข้าไปแล้ว และคอยส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ขณะที่พวกเขาออกมาจากอาคาร ถึงแม้จะมีจำนวนคนบาดเจ็บล้มตายสูงทีเดียว นักหนังสือพิมพ์ อีริก เรดี้ (Eric Reidy) รายงานต่อ มิดเดิลอีสต์อาย (Middle East Eye)

ยังมีคนอีกจำนวนมากไปชุมนุมกันอยู่ที่ด้านนอกโรงละครของเทศบาล ภายหลังเกิดการโจมตี ทั้งนี้ตามการนัดหมายจัดชุมนุมโดยขบวนการ “เอนนาห์ดา” (Ennahda movement)

ผู้คนที่เข้าร่วมต่างร้องเพลงชาติตูนีเซีย และตะโกนกึกก้องว่า “ตูนีเซียเสรี ผู้ก่อการร้ายออกไป”

จนถึงตอนนี้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบก่อการโจมตีคราวนี้ ขณะที่ตัวพิพิธภัณฑ์แหงนี้ตั้งอยู่ประชิดติดกับรัฐสภาตูนีเซีย ซึ่งก็ต้องมีการสั่งอพยพผู้คนเพื่อความปลอดภัยภายหลังที่ได้ยินเสียงยิงปืนนัดแรกๆ ทว่าจวบจนถึงขณะนี้ยังคงเชื่อกันว่าเป้าหมายที่คนร้ายมุ่งเข้าโจมตีคือพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่รัฐสภา

เฟเดริกา โมเกรินี (Federica Mogherini) ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาแถลงประณามกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ว่าเป็นผู้ก่อการโจมตีครั้งนี้ โดยเธอบอกว่า “เป็นอีกครั้งหนึ่งที่องค์การก่อการร้ายดาเอช (Daesh) พุ่งเป้าหมายมุ่งปองร้ายประเทศและประชาชนในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน” ทั้งนี้ “ดาเอช” เป็นคำย่อของชื่อภาษาอาหรับของกลุ่มไอเอส

“เหตุร้ายที่เกิดขึ้นคราวนี้จะยิ่งทำให้เรามีความมุ่งมั่นอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก ในการที่จะร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้นกับบรรดาหุ้นส่วนของเรา เพื่อประจันหน้ากับภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายเหล่านี้” เธอกล่าว

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากต่างพากันข้องใจสงสัยการยืนยันเช่นนี้ของโมเกรินี โดยชี้ว่าเวลานี้ตูนีเซียเผชิญกับการคุกคามจากกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก และการโจมตีคราวนี้ก็อาจเป็นฝีมือของพวกนักรบหัวรุนแรงท้องถิ่น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานของพวกไอเอสเท่านั้น

ทั้งนี้ได้มีกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธหลายกลุ่มปรากฏตัวขึ้นในตูนีเซีย นับตั้งแต่การลุกฮือของประชาชนในปี 2011 ซึ่งสามารถโค่นล้ม ซีเน อัล อาบิดีเน เบน อาลี (Zine El Abidine Ben Ali) จอมเผด็จการผู้ปกครองประเทศแอฟริกาเหนือแห่งนี้มาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในกลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ อันซาร์ อัล-ชารีอะห์ (Ansar al-Sharia) ซึ่งถูกทางสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำว่าเป็นองค์การผู้ก่อการร้าย

ยังมีคลิปเสียงคลิปหนึ่งปรากฏออกมาเผยแพร่ตั้งแต่วันองคาร (17 มี.ค.) ในคลิปดังกล่าวนี้ วานัส อัล-ฟากีห์ (Wanas al-Faqih) สมาชิกสำคัญคนหนึ่งของกลุ่ม “อัลกออิดะห์ในรัฐอิสลามมาเกร็บ” (al-Qaeda in the Islamic Maghreb ใช้อักษรย่อว่า AQIM) ออกมาเรียกร้องให้ทำการโจมตีตูนีเซีย อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้ยังไม่ได้มีการออกคำแถลงอย่างเป็นทางการอ้างความรับผิดชอบเป็นก่อเหตุโจมตีพิพิธภัณฑ์

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กลุ่ม AQIM ได้เคยแถลงอ้างความรับผิดชอบในการก่อเหตุโจมตีใกล้ๆ พรมแดนติดต่อกับแอลจีเรียเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของตูนีเซียถูกสังหารไป 4 คน

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประมาณการว่า ยังมีชาวตูนีเซียราว 3,000 คน เดินทางไปเข้าร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ในอิรักและซีเรีย รวมทั้งกลุ่มไอเอสด้วย ทั้งนี้เชื่อกันด้วยซ้ำว่า ในบรรดานักรบต่างชาติของไอเอสนั้น ชาวตูนีเซียนี่แหละเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด

เชื่อกันว่านักรบหัวรุนแรงเหล่านี้ มีบางส่วนได้เดินทางกลับมาบ้านแล้ว ซึ่งทำให้รัฐบาลมีความหวาดกลัวว่าจะเกิดการก่อเหตุโจมตีขึ้นบนแผ่นดินตูนีเซีย

หลังจากความแตกตื่นจากเหตุโจมตีในวันพุธ (17มี.ค.) ค่อยๆ สงบลง กระทรวงการต่างประเทศตูนีเซียได้ออกมาแถลงว่า การสร้างเสถียรภาพขึ้นในลิเบีย ที่เป็นชาติเพื่อนบ้านติดต่อกับตูนีเซีย เป็นปัจจัยอันสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ภูมิภาคนี้โดยรวมบังเกิดความมั่นคงปลอดภัย

“พฤติการณ์ก่อการร้ายเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อกวนเสถียรภาพ รวมทั้งสร้างความยากลำบากให้แก่เศรษฐกิจของตูนีเซีย” รัฐมนตรีต่างประเทศ อัล-ทัยยิบ อัล-บาคุช (al-Tayyib al-Bakoush) บอกกับสื่อมวลชน

“เรากำลังใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในลิเบีย จะได้เป็นหลักประกันให้เกิดความปลอดภัยและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้”

ลิเบีย ซึ่งมีชายแดนร่วมกับตูนิเซียยาวเหยียด 450 กิโลเมตร ได้ตกอยู่ในความปั่นป่วนวุ่นวายไร้เสถียรภาพมาเป็นแรมเดือนแล้ว เนื่องจากหลายๆ ฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กัน ต่างพยายามหาทางขยายตัวเข้าไปถมเต็มสุญญากาศทางอำนาจ ซึ่งบังเกิดขึ้นจากการโค่นล้มจอมเผด็จการ มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) ในปี 2011

ผลสะท้อนต่อเศรษฐกิจ

ถึงแม้การโจมตีคราวนี้จะบังเกิดผลสะท้อนสะเทือนทางด้านความมั่นคงอย่างชัดเจน แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว เรื่องสำคัญที่สุดซึ่งอยู่ในความคิดของพวกเขาดูเหมือนจะเป็นผลสะท้อนทางเศรษฐกิจมากกว่า

นายกรัฐมนตรีเอสซิด ดูจะเข้าอกเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี จึงได้รีบออกมาเรียกร้องให้ชาวตูนีเซียรักษา “ความสมัครสมานสามัคคี” กันไว้ พร้อมกันเน้นย้ำว่า การโจมตีครั้งนี้ “มีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายเศรษฐกิจของตูนีเซีย”

เรดี้ นักหนังสือพิมพ์ซึ่งรายงานข่าวให้ มิดเดิลอีสต์วาย บอกว่า ในบรรดาผู้คนหลายร้อยคนซึ่งไปชุมนุมกันอยู่รอบๆ พิพิธภัณฑ์ที่เกิดเหตุภายหลังจากการโจมตีสิ้นสุดลงนั้น จำนวนมากทีเดียวแสดงความหวาดหวั่นว่าเหตุการณ์นี้จะสร้างความเสียหายให้แก่การหารายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อตูนีเซียกำลังพากเพียรใช้ความพยายามเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับเจริญรุ่งเรืองอีกคำรบหนึ่ง หลังจากที่ถูกกระทบกระเทือนหนักจากการปฏิวัติ “อาหรับ สปริง” ในปี 2011 และภาวะการไร้ความมั่นคงในภูมิภาคภายหลังจากนั้น

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวถือเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของเศรษฐกิจในตูนีเซีย โดยที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้มาเยือนได้ประมาณ 6.1 ล้านคนในปี 2014 ที่ผ่านมา ถึงแม้ตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงมาจากปี 2013 ราว 3%

ปฏิกิริยา

ราชิด กันนูชิ (Rashid Ghannoushi) ผู้นำของขบวนการเอนนาห์ดา ก็ออกคำแถลงประณามการโจมตีของ “ผู้ก่อการร้าย” ครั้งนี้ พร้อมกับให้คำมั่นว่าเหตุร้ายนี้จะไม่สามารถทำลาย “ความสมัครสมานสามัคคี” ของตูนีเซียได้

ในคำแถลงของเขา ยังเรียกร้องให้จัดการประชุม “สมัชชาแห่งชาติ” ขึ้นมา เพื่ออภิปรายหารือกันจัดทำยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายแบบครอบคลุมรอบด้าน ตลอดจนการเร่งรัดออกกฎมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่มาบังคับใช้

สำหรับปฏิกิริยาจากนอกประเทศ บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ได้แถลงประณามสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นการโจมตี “อย่างน่าเศร้าเสียใจ” คราวนี้

เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น “ขอประณามด้วยถ้อยคำรุนแรงที่สุดต่อการโจมตีในวันนี้” ที่พิพิธภัณฑ์บาร์โด (Bardo museum) และ “ขอแสดงความเสียใจอย่างล้ำลึกที่สุดต่อครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อการกระทำอย่างน่าเศร้าเสียใจครั้งนี้” ฟาร์ฮาน ฮัก (Farhan Haq) รองโฆษกของ บัน แถลง

ทางด้านนายกรัฐมนตรีมานูเอล วาลส์ (Manuel Valls) ของฝรั่งเศส เป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกๆ ที่ออกมาประณามการก่อเหตุโจมตีคราวนี้

“ผมขอประณามการโจมตีของผู้ก่อการร้ายครั้งนี้ด้วยถ้อยคำอันรุนแรงที่สุด เหตุร้ายคราวนี้มีการจับตัวประกันด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีนักท่องเที่ยวที่ได้รับความกระทบกระเทือน และถูกสังหาร” วาลส์แถลงที่กรุงบรัสเซลส์ภายหลังการหารือกับ ฌอง-โคลด จุงเกอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อันเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป

“การโจมตีครั้งนี้เป็นการวาดภาพอย่างโหดร้าย ให้เรามองเห็นถึงภัยคุกคามที่เราทั้งหมดกำลังเผชิญอยู่ ทั้งภายในยุโรป, ในแถบเมดิเตอร์เรเนียม, ตลอดจนทั่วทั้งโลก ทั้งฝรั่งเศส, ตูนีเซีย, และยุโรป จะร่วมมือกันในการปฏิบัติการสู้รบกับการก่อการร้าย” วาลส์ กล่าว

ฝรั่งเศสนั้นได้แสดงจุดยืนอันแข็งขันในประเด็นปัญหาทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย นับตั้งแต่ที่ได้เกิดเหตุโจมตีในกรุงปารีสเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่สำนักงานของกองบรรณาธิการนิตยสารแนวล้อเลียน “ชาร์ลี เอ็บโด” (Charlie Hebdo) และซูเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้าสำหรับชาวยิว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายคน รวมทั้งมีตำรวจหญิงผู้หนึ่งถูกยิงตายอย่างโหดเหี้ยมด้วย

สำหรับองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.amnesty.org/en/articles/news/2015/03/tunis-attack-shows-utter-disregard-for-life/) มีเนื้อหาประณามการโจมตีคราวนี้ โดยที่องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึง “ความไม่แยแสอย่างที่สุดต่อชีวิต”

“การโจมตีที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมากครั้งนี้ ในตัวมันเองก็เป็นสิ่งซึ่งทำให้รู้สึกเศร้าเสียใจอย่างที่สุดอยู่แล้ว ทว่าเราจะต้องไม่ยอมปล่อยให้มันมาสร้างความปั่นป่วนแก่สิ่งที่ผู้คนจำนวนมากมองเห็นกันว่า เป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบเผด็จการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ไปสู่การปกครองที่ยึดหลักนิติธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาคนี้” ฮัสซิบา ฮัดจ์ ซาห์ราอูอี (Hassiba Hadj Sahraoui) รองผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ

ในส่วนของสถานที่กิดเหตุคือ พิพิธภัณฑ์บาร์โด นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังจากการมีคอลเล็กชั่นผลงานตกแต่งด้วยกระจกสี (โมเสก) ชิ้นโบราณเก่าแก่ ระดับโดดเด่นยอดเยี่ยม ซึ่งกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาชม พิพิธภัณฑ์ระดับชาติแห่งนี้ได้มีการปรับปรุงบูรณะครั้งใหญ่ รวมทั้งก่อสร้างส่วนจัดแสดงส่วนใหม่ ซึ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อปี 2012

พิพิธภัณฑ์บาร์โด สามารถอวดได้ว่ามีโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคชาวฟีนิเชีย (Phoenician period), สมัยพิวนิก (Punic อาณาจักรคาร์เธจโบราณ) และสมัยนูมิเดียน (Numidian ราชอาณาจักรนูมิเดีย) ตลอดจนสิ่งประดิษฐ์ของชาวโรมัน, ชาวคริสต์, และสิ่งประดิษฐ์แบบอิสลาม

ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์บาร์โด เคยพูดถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า เป็น “เรือธงของมรดกทั้งหมดที่ได้รับตกทอดมาของตูนีเซีย”

พิพิธภัณฑ์บาร์โด ตั้งอยู่ในพระราชวังเก่าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอายุตั้งแต่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในยุคก่อนการปฏิวัติปี 2011 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ต้อนรับผู้มาเยือนจำนวนหลายแสนคนในแต่ละปี เมื่อถึงปี 2011 จำนวนผู้มาเยือนได้ลดลงเหลือประมาณ 100,000 คน แต่กำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวขึ้นมาแล้วก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์โจมตีในวันพุธ (18 มี.ค.)

รายงานนี้มาจาก “มิดเดิลอีสต์อาย”

มิดเดิลอีสต์อาย (เอ็มอีอี) เป็นเว็บทางด้านข่าวออนไลน์ ซึ่งเน้นรายงานเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง เว็บแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 โดยมี เดวิด เฮิร์สต์ อดีตหัวหน้านักเขียนเรื่องผู้นำต่างประเทศของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน เป็นบรรณาธิการ และมีบริษัทเอ็มอีอี ซึ่งจดทะเบียนในอังกฤษเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว บริษัทแห่งนี้มีสำนักงานซึ่งจ้างพนักงานประจำอยู่ในกรุงลอนดอน และยังมีเครือข่ายนักหนังสือพิมพ์อิสระคอยปฏิบัติงานให้ด้วย กรรมการบริหารที่มีอยู่เพียงคนเดียวของบริษัทเอ็มอีอี คือ จามาล บัสซัสโซ อดีตผู้อำนวยการด้านวางแผนและทรัพยากรมนุษย์ของ อัล จาซีรา

หมายเหตุผู้แปล

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานความคืบหน้าว่า กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้ออกมาประกาศในวันพฤหัสบดี (19 มี.ค.) แสดงความรับผิดชอบเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีที่พิพิธภัณฑ์บาร์โดในคราวนี้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยในคลิปเสียงชิ้นหนึ่งที่โพสต์ทางออนไลน์ ไอเอสระบุว่า “อัศวิน 2 คนจากรัฐอิสลาม … ติดอาวุธเพียบทั้งอาวุธปืนอัตโนมัติและลูกระเบิด พุ่งเป้าหมายโจมตีที่พิพิธภัณฑ์บาร์โด” ทั้งนี้ในคลิปเสียงยังข่มขู่ว่าจะมีการโจมตีในครั้งต่อๆ ไปอีก โดยบอกว่า “สิ่งที่คุณเห็นอยู่นี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น”

ขณะเดียวกัน ตัวเลขของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีคราวนี้ ได้มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 21 คน โดยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 คน และชาวตูนีเซีย 1 คน

นอกจากนั้น สำนักประธานาธิบดีตูนีเซียยังออกคำแถลงระบุว่า กองกำลังความมั่นคงได้จับกุม “บุคคล 4 คนซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายคราวนี้ และอีก 5 คนซึ่งต้องสงสัยว่ามีความสัมพันธ์โยงใยกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุ”

(ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.dailymail.co.uk/wires/afp/article-3001853/Tunisia-vows-merciless-war-against-terrorism-museum-attack.html)
กำลังโหลดความคิดเห็น