รอยเตอร์ - กองทัพเรือจีนครอบครองฝูงเรือดำน้ำทั้งประเภทเครื่องยนตร์ดีเซลและพลังงานนิวเคลียร์มากกว่าสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทว่ายังเป็นรองในแง่ “คุณภาพ” นายพลแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ แถลงต่อสมาชิกสภาคองเกรส เมื่อวานนี้ (25 ก.พ.)
พล.ร.ท.โจเซฟ มัลลอย รองผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการทางทะเลฝ่ายสมรรถนะและทรัพยากร ได้แถลงรายงานต่ออนุกรรมการแสนยานุภาพทางทะเล คณะกรรมการกิจการกองทัพแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โดยระบุว่าปักกิ่งกำลังขยายทั้งพื้นที่และระยะเวลาปฏิบัติการของกองเรือดำน้ำ
มัลลอยได้ยกตัวอย่างกรณีที่จีนส่งกองเรือดำน้ำไปยังมหาสมุทรอินเดีย 3 ครั้ง โดยใช้เวลาปฏิบัติภารกิจทางทะเลนานถึง 95 วัน
“เราทราบว่าพวกเขากำลังทดสอบศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจ และต้องการที่จะครอบครองฝูงเรือดำน้ำที่ทันสมัยทัดเทียมกับทั่วโลก”
ไม่กี่เดือนมานี้ เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ หลายคนได้แสดงความกังวลเรื่องที่จีนพยายามยกระดับแสนยานุภาพอย่างต่อเนื่อง พร้อมเตือนว่ากองทัพสหรัฐฯ จะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านทหารให้ล้ำหน้าจีนและรัสเซียอยู่เสมอ
มัลลอยยืนยันว่า แม้เรือดำน้ำของจีนจะมีจำนวนมากกว่า แต่คุณภาพนั้นด้อยกว่าเรือดำน้ำที่ผลิตในสหรัฐฯ อย่างแน่นอน
โฆษกหญิงของกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพเรือมีเรือดำน้ำประจำการอยู่ทั้งสิ้น 71 ลำ
2 บริษัทใหญ่ซึ่งรับหน้าที่ผลิตเรือดำน้ำให้แก่กองทัพเรืออเมริกัน ได้แก่ ฮันทิงตัน อินกอลส์ อินดัสตรีส์ อิงก์ และ เจเนอรัล ไดนามิกส์ คอร์ป
ในรายงานประจำปีว่าด้วยพัฒนาการทางทหารและความมั่นคงของจีนฉบับล่าสุดที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แจ้งต่อสภาคองเกรส เพนตากอนระบุว่า จีนมีเรือโจมตีผิวน้ำ (surface combatant ships) จำนวน 77 ลำ, เรือดำน้ำมากกว่า 60 ลำ, เรือสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่และกลาง 55 ลำ และเรือโจมตีขนาดเล็กติดขีปนาวุธอีกราวๆ 85 ลำ
ทั้งนี้ มัลลอยไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเรือผิวน้ำที่กองทัพเรือจีนมีอยู่ในปัจจุบัน
เขากล่าวเสริมว่า กองทัพสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าจีนจะมีเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทราบว่าจีนได้ผลิตขีปนาวุธและยิงทดสอบมาแล้วหลายครั้ง