เอเจนซีส์ - AEC หรือการรวมตัว 10 ชาติในย่านเอเชียแปซิฟิกที่มีประชากรอาศัยรวมกันร่วม 620 ล้านคนเพื่อเป็นตลาดเดียวที่มีมูลค่าสูงถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่จะเปิดพรมแดนติดต่อร่วมกันเป็นทางการในปลายปีนี้ แต่ทว่าเดอการ์เดียน สื่ออังกฤษชี้ว่า การรวมตัวทางเศรษฐกิจที่เลียนแบบกลุ่มสหภาพยุโรปนี้ อาจไม่ช่วยประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจทั้งหมดอาจตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุนขนาดยักษ์แทน นอกจากนี้ สื่ออังกฤษยังชี้ ไทยอาจไม่ได้รับความได้เปรียบทางการแข่งขันจากการรวมตัวของ AEC เพราะโดนพิษการเมืองเล่นงาน ทำให้เสียความได้เปรียบไปให้กับประเทศที่มีการเมืองมั่นคง และค่าแรงถูก รวมไปถึงระบบควบคุมทางธุรกิจที่เอื้อนักลงทุนมากกว่า
เดอะการ์เดียน รายงานวันนี้(3)ถึงโอกาสและศักยภาพของ AEC การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของ 10ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่มี (1)พม่า (2)บรูไน (3)กัมพูชา (4) อินโดนีเซีย (5)ลาว (6)มาเลเซีย (7)ฟิลิปปินส์ (8)ไทย (9)สิงคโปร์ และ (10)เวียดนาม เป็นสมาชิกในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่มีรูปแบบคล้ายสหภาพยุโรป เพื่อหาประโยชน์จากการรวมตัวการค้าตลาดเดียวมูลค่าสูงถึง2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่มีประชากรร่วม 620 ล้านคนอาศัย และช่องทางการค้าเสรีที่ทำให้มีศักยภาพในการต่อรองสูงขึ้น ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า ถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดตัวของ AEC อย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นความหอมหวลของ AEC สามารถดึงดูดนักลงทุนที่สนใจเข้ามาในภูมิภาคนี้แล้ว
แต่กระนั้นบรรดานักสังเกตการณ์เตือนว่า ในบางส่วนของพื้นที่ หรือแม้กระทั่งทั้งประเทศอาจอยู่ในสภาพที่แย่กว่าเดิม เนื่องมาจากความเสี่ยงพลเมืองในพื้นที่ที่จะถูกริดรอนสิทธิมนุษยชน รีดเอาหยาดเหงื่อแรงงานและสิทธิที่ควรได้ในฐานะความเป็นมนุษย์ไปให้กับการเติบโตทางตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มทุนขนาดยักษ์แทน
ทั้งนี้มีการคาดการตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 5 % ต่อปี ของ AECที่มีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และถึงขั้นต้องการให้แซงหน้ากลุ่มเศรษฐกิจสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงญี่ปุ่น ไปในท้ายที่สุดก่อนปี 2018 แต่ทว่าเมื่อวิเคราะห์ถึงศักยภาพของแต่ละประเทศสมาชิก สื่ออังกฤษชี้ว่า ทั้ง 10ประเทศมีความแตกต่างเป็นอย่างมากทั้งในด้านการปกครอง สภาพเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง และภาษาที่ใช้ ทำให้มีความกังวลว่า ความฝันที่จะทำให้ AEC จะเริ่มเปิดได้จริงตามกำหนดภายในสิ้นปีนี้ได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาว่า เช่น พม่า ซึ่งเป็นชาติที่จนที่สุดในบรรดา 10ประเทศ ซึ่ง 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในขณะที่สิงคโปร์ ที่ถือเป็นชาติร่ำรวยที่สุดในกลุ่ม มีพลเมืองถูกจัดอันดับว่าร่ำรวยที่สุดในโลก
มุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาเลเซียกล่าวว่า “ประชาคมโลกธุรกิจต้องการอาเซียนรวมตัวเป็นตลาดเดียว แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีปัญหาอีกมาก เช่น ปัญหาเขตแดน ปัญหาศุลกากร ปัญหาการเดินทางข้ามถิ่น และระบบควบคุมที่ใช้มาตรฐานต่างกัน”
ทั้งนี้มาเลเซีย ที่ถือเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลกทรอนิก นั่งเป็นประธานกลุ่ม AEC ที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ได้ออกมาเตือนว่า จะไม่มีโอกาสได้เห็นการเคลื่อนย้ายเสรีของสินค้าและบริการข้ามพรมแดนภายใน AEC ก่อนปี 2020 อย่างแน่นอน ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นทางประเทศสมาชิกเพียงแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับการเปิดใช้จริง”
อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนชี้ว่า ถึงแม้จะมีความต่างเป็นอย่างมากในะหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่นี้ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนขยาด แต่ทว่าสื่ออังกฤษไม่คิดว่า AEC จะประสบปัญหาหนี้เน่าเหมือนเช่น EU กำลังเผชิญหน้าอยู่ เป็นเพราะในแต่เริ่มแรก AEC ไม่มีเป้าหมายรวมตัวเพื่อใช้สกุลเงินเดียว และมีรัฐสภายุโรป เช่น สหภาพยุโรป
แต่ทว่าความต่างที่หลากหลายทางสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิก ทำให้บางประเทศได้รับผลประโยชน์ไปแล้วจากแนวคิดการรวมตัว AEC แซงหน้าประเทศอื่น ซึ่งจากรายงานล่าสุดของบริษัทกฎหมาย เบเกอร์และแมคเคนซีชี้ว่า สิงคโปร์ยังคงได้รับความไว่วางใจจากธุรกิจข้ามชาติให้เป็นฐานถึง 80 % จากการที่สิงคโปร์เป็นฮับทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ รวมถึงการเป็นตลาดเปิด
นอกจากนี้ยังพบว่า อินโดนีเซีย และพม่าจะเป็นอีก 2 ชาติที่ได้รับประโยชน์ในการเปิด AEC จากการที่ทั้งสองชาติถูกโหวตให้เป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติในอีก 5 ปีข้างหน้า
ซึ่งต่างจากไทยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ แต่ไทยได้เสียศักยภาพการแข่งขันไปให้กับประเทศที่มีการเมืองมั่นคง และค่าแรงถูก รวมไปถึงระบบควบคุมทางธุรกิจที่เอื้อนักลงทุนมากกว่า ราจีฟ บิสวาซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกเอเชียแปซิฟิกประจำIHS ให้ความเห็น “ความยุ่งเหยิงทางการเมืองล่าสุดในไทยทำให้ประเทศดูมีความเสี่ยงมากขึ้นในสายตานักลงทุนข้ามชาติ และทำให้คนเหล่านี้ลังเลที่จะนำเม็ดเงินกลับเข้ามาลงทุนในไทยอีกครั้ง แต่ในทางตรงกันข้าม เวียดนามจะเห็นการลงทุนต่างชาติมากขึ้น ในการทำสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคของประเทศมีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมไปถึงทำให้ค่าแรงของเวียดนามต่ำลงเพื่อที่จะสามารถสู้กับค่าแรงของจีนได้”
เดอะการเดียนวิเคราะห์ว่า การเติบโตของชุมชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะหมายถึงศักภาพตลาดภายในภูมิภาคที่มีกำลังซื้อสูงตามไปด้วย และหากค่าแรงของจีนถูกปรับเพิ่มขึ้น จะกลายเป็นโอกาสสำหรับอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีการเติบโตของแรงงานมีฝีมือและไร้ฝีมือตามมาเช่นกัน
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากร 620 ล้านคนในกลุ่ม AEC เหล่านักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “น่าเป็นห่วง” จากปัญหาการค้าแรงงานทาสที่เป็นปัฯหาสำคัญในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงปัญหาแนวคิดก่อการร้าย
ในแถลงการณ์ล่าสุดของกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดAsean People’s Forum หรือ APF ได้แจกแจงปัญหาที่เกิดในภูมิภาคนี้ เช่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน คอรัปชันและการไร้ประสิทะภาพในการบริหารประเทศ การเข้ายึดครองที่ดินของรัฐ รัฐบาลทหารและเผด็จการ ปัญหาแรงงานทาส ปัญหาการรใช้อำนาจป่าเถื่อนของตำรวจในเครื่องแบบ การขาดธรรมาธิบาลและความรับผิดชอบสังคมของกลุ่มธุรกิจ และที่กลุ่ม APF เป็นกังวลมากขึ้น คือการที่กลุ่มทุนใช้ต้นทุนมนุษย์ของประชาชนในการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น ในบางประเทศสมาชิก AEC อนุญาตให้บริษัทสามารถฟ้องรัฐบาลหากเกิดข้อขัดแย้งกับกฎหมายท้องถิ่นที่ขวางการทำธุรกิจ ซึ่งการรวมตัวจะทำให้สิทธิของชุมชนในพื้นที่ การขยายขอบเขตการปกป้องแรงงาน หรือการป้องกันมลพิษนั้นอาจต้องหมดไปหากมี AEC เกิดขึ้น และจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล ประชากรรากหญ้าที่อาศัยในชุมชน และบริษัทข้ามชาติ ระบาดไปทั่วAEC ฟิล โรเบิร์ตสัน ( Phil Robertson ) นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนกล่าว
แต่ทว่าในท้ายที่สุด สื่ออังกฤษสรุปท้ายจากความเห็นของนักธุรกิจชั้นนำของพม่า Thaung Su Nyein ว่า การเกิดของ AEC สมควรที่จะต้องให้ความสนใจมากกว่าหวาดระแวง เนื่องจากจะนำการเติบโตทางเศรษฐกิจและการคมนาคมอย่างยั่งยืนมาสู่ภูมิภาค “ คิดว่าเราต่างควรต้อนรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ ฝึกคนของเราให้พร้อม และปรับเปลี่ยนองค์กรของเราเพื่อให้มีศักยภาพมากพอสำหรับการแข่งขันที่สูงขึ้น”