เอเจนซีส์ - อเล็กซิส ชีปราส ผู้นำพรรคซ้ายจัด “ซีรีซา” ซึ่งมีแนวทางต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด สาบานตัวเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกรีซแล้วในวันจันทร์ (26 ม.ค.) และคาดหมายว่าการจับมือกับพรรคชาตินิยมฝ่ายขวาพรรคเล็กๆ จะจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จได้ภายในวันพุธ (28) ทั้งนี้ข่าวผลการเลือกตั้งของกรีซ ได้ฉุดค่าเงินยูโรให้อ่อนยวบทำสถิติรอบ 11 ปี เนื่องจากเกิดความกังวลกันว่า จะมีการเผชิญหน้าระหว่างเอเธนส์กับเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตรอบใหม่ในยูโรโซน และอาจปูทางไปสู่การอำลาสกุลเงินยูโรของเอเธนส์
ชีปราส ซึ่งสวมสูทสีน้ำเงินและเสื้อเชิร์ตสีขาว แต่ไม่ผูกไทอันเป็นการแต่งกายตามแบบฉบับของเขา ยังแหวกประเพณีปฏิบัติดั้งเดิมอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่กล่าวคำสาบานตนรับตำแหน่งแบบอิงศาสนา หากกล่าวคำสาบานตนด้วยการให้สัญญาประชาชนว่า “จะรับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนชาวกรีกเสมอไป”
ถึงแม้การร่วมมือกันระหว่าง ซีรีซา กับ “อินดีเพนเดนต์ กรีกส์” (ANEL) ซึ่งเป็น 2 พรรคที่ขัดแย้งกันด้านอุดมการณ์โดยสิ้นเชิง และเห็นพ้องกันเพียงเรื่องการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจในการเลือกตั้งกรีซ แต่ก็ทำให้ตลาดหุ้นทั่วยุโรปในวันจันทร์ (26) ดีดกลับขึ้นมาได้ หลังดิ่งลงในช่วงต้นๆ ของการเปิดตลาด จากความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งและความกังวลว่าอาจต้องมีการเปิดคูหารอบสอง
ทว่าสำหรับค่าเงินยูโรยังคงกู่ไม่กลับและอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 11 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์ โดยช่วงหนึ่งอยู่ที่ 1.1088 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับจากเดือนกันยายน 2003 เนื่องจากตลาดกังวลกับแนวโน้มการเผชิญหน้ากันภายในยุโรป
ในวันจันทร์ พรรคอินดิเพนเดนต์ กรีกส์ ประกาศสนับสนุนซีปราส ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังจากพรรคซีรีซากวาดคะแนนในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (25) ถล่มทลายกระทั่งเกือบครองเสียงข้างมากในสภาสำเร็จ
ปาโนส คัมเมนอส หัวหน้าพรรคอินดิเพนเดนต์ กรีกส์ ระบุว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลผสมที่มีซีรีซาเป็นผู้นำ
ทั้งนี้ หลังจากการนับคะแนนเลือกตั้งผ่านไป 99.8% ปรากฏว่า ซีรีซาได้ที่นั่งในสภา 149 ที่นั่ง จากทั้งหมด 300 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียง 36.3% ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้ 27.8% และพรรคขวาจัด โกลเดน ดอว์นเข้ามาเป็นอันดับ 3 ได้ 6.28%
การที่ซีปราสเลือกเจรจากับอินดิเพนเดนต์ กรีกส์ ที่เป็นพันธมิตรกับพรรคอินดิเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ของอังกฤษ แทนที่จะเป็นพรรคสายกลาง โปตามี ทำให้เกิดความกังวลว่า ซีปราสอาจเจรจากับเจ้าหนี้อย่างแข็งกร้าว
ซีปราส วัย 40 ปี กลายเป็นผู้นำอายุน้อยที่สุดของกรีซในรอบ 150 ปี ให้สัญญาระหว่างการหาเสียงว่า จะทบทวนเงื่อนไขข้อตกลงเงินกู้ แต่ยืนยันว่า จะไม่ใช้มาตรการฝ่ายเดียวกับเจ้าหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่คือชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน)
จิออร์จอส สตาทาคิส เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนการเงินของซีรีซา ยืนยันเรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลใหม่ไม่มีแผนพบกับคณะเจรจาจาก “ทรอยกา” ซึ่งหมายถึงธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คณะกรรมาธิการยุโรปที่เป็นองค์กรบริหารของอียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่จะหารือโดยตรงกับพวกประเทศเจ้าหนี้แทน
หลังจาก 5 ปีที่กรีซต้องทนทุกข์กับมาตรการรัดเข็มขัดตามเงื่อนไขการรับเงินกู้รวม 240,000 ล้านยูโร ซึ่งทำให้คนมากมายตกงาน และประชาชน 1 ใน 3 ไม่ได้รับการคุ้มครองจากประกันสุขภาพของรัฐ ในที่สุดชาวกรีซก็ตัดสินใจเลือกพรรคฝ่ายซ้ายจัดอย่างซีรีซา และเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีที่ทั้งพรรคนิว เดโมเครซี ของอันโตนิส ซามาราส นายกรัฐมนตรีคนก่อน และพรรคซ้าย-กลาง “ปาสก” ซึ่งครอบงำการเมืองกรีซมาตลอดนับจากรัฐบาลเผด็จการทหารล่มสลายในปี 1974 ไม่ได้ขึ้นครองอำนาจ
ซีปราสตั้งเป้าจัดตั้งรัฐบาลชุดแรกในยูโรโซนที่ประกาศยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัดหรือการคุมเข้มงบประมาณ ให้เสร็จสิ้นอย่างช้าที่สุดเช้าวันพุธ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลใหม่ของกรีซจะต้องเผชิญอย่างรวดเร็ว ได้แก่การขาดแคลนเงินสด การชำระหนี้ 10,000 ล้านยูโรที่จะถึงกำหนดในเดือนมีนาคม ขณะที่ไม่สามารถระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรได้เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพุ่งสูงลิบ
เมแกน กรีนนี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมานูไลฟ์ แอสเส็ต แมเนจเมนต์ มองว่า รัฐบาลใหม่ของกรีซจะไม่สามารถบริหารงานวันต่อวันและชำระหนี้ที่ถึงกำหนดในเดือนมีนาคมโดยไม่ได้รับเงินก้อนใหม่จากเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ
นอกจากนั้น การที่ทั้งกรีซและเจ้าหนี้ต่างไม่ต้องการให้เอเธนส์ผิดนัดชำระหนี้หรือออกจากยูโรโซน จึงเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมประนีประนอมกัน
ขณะเดียวกัน ชัยชนะของซีรีซาถือเป็นข่าวดีสำหรับพรรคการเมืองที่ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดในยุโรป และตอกย้ำเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเงินกู้ที่เข้มงวด เสียงเรียกร้องนี้ไม่ได้มาจากขบวนการต่อต้านอียูเท่านั้น แต่ยังมาจากผู้นำยูโรโซนซึ่งต้องการให้ปรับเปลี่ยนมาเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส ที่แสดงความยินดีกับชัยชนะของซีปราส รวมถึงนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซีของอิตาลี
ตรงข้ามกับนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ ที่เป็นผู้นำคนแรกในอียูที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งของกรีซด้วยการทวิตว่า ชัยชนะของซีรีซาจะทำให้ “สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วยุโรปไร้ความแน่นอนมากขึ้น”
เช่นเดียวกับ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอียู และเป็นผู้ที่ยืนกรานมาตลอดให้ยูโรโซนยึดมั่นในนโยบายรัดเข็มขัดเข้มงวดเรื่องวินัยการคลัง โดยที่ สเตฟเฟน ไซแบร์ก โฆษกประจำตัวของเธอ ได้ออกมากล่าวว่า “ในทัศนะของเราแล้ว เป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ของกรีซที่จะต้องลงมือปฏิบัติการเพื่อบำรุงเลี้ยงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป นั่นย่อมหมายความด้วยว่ากรีซจะต้องยึดมั่นอยู่กับคำมั่นสัญญาเดิมๆ ที่เคยให้ไว้”