เอเอฟพี - อินโดนีเซียวันนี้ (18 ม.ค.) ได้ประหารชีวิตนักโทษต่างชาติ 5 คน และหญิงชาวแดนอิเหนา 1 คน ภายหลังทั้งหมดถูกตัดสิน ว่า มีความผิดในคดียาเสพติด จนจุดประกายให้เกิดมรสุมทางการทูต ในขณะที่บราซิล และเนเธอร์แลนด์ออกมากล่าวประณามการประหารชีวิตพลเมืองของทั้งสองประเทศ
คนทั้งหก ซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศบราซิล เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม มาลาวี ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย เป็นนักโทษกลุ่มแรกที่ถูกยิงเป้าในอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ โจโค วิโดโด ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีกฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่มีบทลงโทษรุนแรง และประธานาธิบดี วิโดโด ผู้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม ได้สร้างความผิดหวังให้แก่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการประกาศสนับสนุนโทษประหารชีวิตอย่างแข็งขัน ทั้งที่มีภาพลักษณ์เป็นนักปฏิรูป
โฆษกของประธานาธิบดี ดิลมา รูสเซฟฟ์ แห่งบราซิลแถลงว่า ผู้นำหญิงรู้สึก “เจ็บปวด และแค้นเคือง” ภายหลังอินโดนีเซียเมินคำวิงวอนขอชีวิต มาร์โก อาร์เช การ์โดโซ โมเรย์รา พลเมืองแดนแซมบ้า ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักลอบขนโคเคนเข้าแดนอิเหนา เมื่อปี 2004
โฆษกระบุในคำแถลงว่า “การลงโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นการกระทำที่ประชาคมนานาชาติไม่ยอมรับขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราอย่างร้ายแรง”
ในขณะเดียวกัน แบร์ต คุนเดอร์ส รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตดัตช์ประจำอินโดนีเซีย กลับประเทศชั่วคราว จากกรณีการประหาร อัง เคียม โซย พร้อมกับระบุในคำแถลง ว่า การเสียชีวิตของนักโทษทั้งหกคนเป็นเรื่อง “น่าเศร้าเหลือเกิน”
เขากล่าวว่า พระราชาธิบดี วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ และนายกรัฐมนตรี มาร์ก รูตต์ เคยติดต่อกับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เพื่อหารือถึงประเด็นนี้แล้ว และรัฐบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งการประหารชีวิต
ศาลแดนอิเหนาได้ตัดสินประหารนักโทษทั้งหก เมื่อช่วงปี 2000 ถึง 2011 ก่อนที่จะยิงเป้าพวกเขาในช่วงเที่ยงคืนเศษ โทนี สปอนทานา โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดอินโดนีเซียระบุกับเอเอฟพี
ทราน ที บิช ฮานห์ (Tran Thi Bich Hanh) หญิงชาวเวียดนามถูกประหารชีวิตที่เขตโบโยลาลี ในจังหวัดชวากลาง ขณะที่นักโทษอีก 5 คนถูกประหารบนเกาะนูซากัมบางัน อันเป็นที่ตั้งของเรือนจำที่มีระบบความปลอดภัยสูง นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของเกาะชวา
ผู้ต้องโทษประหารชีวิตกลุ่มนี้ ได้แก่ หญิงชาวอินโดนีเซียชื่อ รานี อันดรียานี, โมเรย์รา พลเมืองบราซิลวัย 53, อัง ชายชาวดัตช์วัย 62 ปี, ดาเนียล เอเนมูโอ พลเมืองไนจีเรีย และ นาเมานา เดนิส ชาวมาลาวี
ทั้งหมดถูกจับกุมฐานลักลอบค้ายาเสพติด นอกเหนือจากชายชาวดัตช์ที่ถูกตัดสินประหารฐานตั้งโรงงานผลิตยาบ้าขนาดใหญ่
นักโทษทั้งหกได้ร้องขอลดหย่อนผ่อนโทษต่อประธานาธิบดีแดนอิเหนา ซึ่งเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะรอดพ้นจากการถูกยิงเป้า ทว่า คำร้องของพวกเขาถูกปฏิเสธเมื่อเดือนที่แล้ว
ทั้งนี้ จาการ์ตาได้ระงับการลงโทษประหารชีวิตไปเมื่อปี 2008 ก่อนที่จะกลับมาลงโทษประหารอีกครั้งในปี 2013 แต่เมื่อปีที่แล้ว ไม่มีนักโทษคนใดถูกประหารชีวิตแม้แต่คนเดียว
วิโดโด ซึ่งมีฉายาว่า “โจโควี” นั้น เป็นผู้นำที่มีจุดยืนแข็งกร้าวในการประหารชีวิตนักโทษในคดียาเสพติด โดยเขาเน้นย้ำว่า จะไม่อภัยโทษแก่นักโทษในคดีเช่นนี้ เนื่องจากอินโดนีเซียกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ยาเสพติดขั้นรุนแรง