xs
xsm
sm
md
lg

สื่อเมืองเบียร์ที่พิมพ์ซ้ำการ์ตูนล้อศาสดามูฮัมหมัด โดนลอบวางเพลิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ตำรวจเปิดเผยว่า เมื่อช่วงรุ่งสางวันนี้ (11 ม.ค.) สำนักงานในเมืองฮัมบูร์กของหนังสือพิมพ์ของเยอรมนีฉบับหนึ่ง ที่นำเอาการ์ตูนล้อศาสดามูฮัมหมัดของ “ชาร์ลี เอ็บโด” ไปตีพิมพ์ซ้ำ ได้ถูกคนร้ายลอบวางเพลิง

โฆษกตำรวจได้บอกกับเอเอฟพีว่า มีการขว้างก้อนหินแล้วตามด้วยวัตถุที่กำลังติดไฟเข้าไปในหน้าต่างของสำนักงานดังกล่าว ทำให้พื้นที่บริเวณชั้นล่างได้รับความเสียหายไป 2 ห้อง แต่ไฟได้ถูกดับลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์รายวัน “ฮัมบูร์กเกอร์ มอร์เกนโพสต์” ที่ตกเป็นเป้าการโจมตีครั้งนี้ ได้นำเอาการ์ตูนของ “ชาร์ลี เอ็บโด” มาขึ้นปกของตนเอง หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่สื่อน้ำหอมในกรุงปารีส

ตำรวจระบุว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 01.20 น. ตามเวลากรีนิช (ประมาณ 08.20 น.ตามเวลาไทย) โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 ราย เจ้าหน้าที่ความมั่นคงกำลังดำเนินการสืบสวนอยู่

โฆษกตำรวจระบุว่า คำถามที่สำคัญก็คือ การโจมตีครั้งนี้มีความเกี่ยวพันอะไรกับการ์ตูนของ “ชาร์ลี เอ็บโด” ที่ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำหรือไม่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุป พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตัวเอาไว้

ยังไม่มีการแสดงความเห็นใดๆ จากคนของ “ฮัมบูร์กเกอร์ มอร์เกนโพสต์” ที่มียอดขายราวๆ 91,000 ฉบับในแต่ละวันและรู้จักกันในท้องถิ่นด้วยชื่อ “โมโพ” แต่ในเวอร์ชันออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุว่า ยังมีควันหนาทึบลอยอยู่ในอากาศ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กำลังค้นหาเบาะแสอยู่

ด้านสื่อท้องถิ่นรายอื่นๆ ระบุว่า ทางสำนักพิมพ์ของ “โมโพ” ได้สั่งให้มีการดูแลรักษาความปลอดภัยสำหรับอาคารอีกแห่งที่อยู่ในพื้นที่ออตมาร์เชน

สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนีรายงานว่า การลอบวางเพลิงเกิดขึ้นบริเวณด้านหลังของตัวสำนักงานซึ่งเป็นห้องเก็บหนังสือพิมพ์ ทำให้มีหนังสือพิมพ์บางส่วนที่เก็บไว้ในนั้นถูกไฟเผาจนเสียหาย

ดีพีเอยังได้อ้างอิงคำพูดของตำรวจหญิงรายหนึ่งที่บอกว่า กองบรรณาธิการยังคงทำงานกันอยู่ในตัวอาคารตอนนั้น ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงมากนัก

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ของเยอรมนีหลายฉบับได้ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดของ “ชาร์ลี เอ็บโด” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับนิตยสารฝรั่งเศสฉบับดังกล่าว และเพื่อปกป้องเสรีภาพในการพูด


กำลังโหลดความคิดเห็น