เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้(9) สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯภายใต้เสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันได้ผ่านกฎหมายคีสโตนไปป์ไลน์ XL โครงการสุดฉาวกระทบสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯสำเร็จ และคาดว่าสภาสูงสหรัฐฯที่มีเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกันเช่นกันจะอนุยาตให้เดินหน้าก่อสร้างในไม่ช้า
บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(9)ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ประกาศจะใช้สิทธิ์วีโต้กฎหมายฉบับนี้ โดยในช่วงเช้าวันศุกร์(9) ศาลรัฐเนแบรสกาได้ยกฟ้องคดีหนึ่งที่จะทำให้การก่อสร้างโครงการคีสโตนไปป์ไลน์ XL ต้องหยุดลงชั่วคราว
ทั้งนี้โครงการท่อส่งน้ำมันแคนาดาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมนี้เป็นการงัดข้อกันระหว่างโอบามา ผู้นำสหรัฐฯ และพรรครีพับลิกันที่ปัจจุบันนี้เป็นผู้นำเสียงข้างมากทั้งสองสภาหลังผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯในปลายปี 2014 ซึ่งท่อส่งน้ำมันความยาวร่วม1,897กม.จะนำน้ำมันที่ได้จากทรายน้ำมันทาร์จากแอลเบอร์ตา แคนาดา เพื่อจะมากลั่นที่โรงงานกลั่นน้ำมันใกล้กับอ่าวเม็กซิโก
จากการออกเสียงเมื่อวานนี้(9)ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯชุดใหม่ที่มีพรรครีพับลิกันคุมจำนวนมากกว่าเดิมด้วยมติ 266-153 และมีสมาชิกพรรคเดโมแครตยกมืออกเสียง 28 คน
เควิน แมคคาร์ที สส.สังกัดพรรครีพับลิกันประกาศว่า “ที่ประชุมไม่ควรต้องเสียเวลาถกเถียง แต่ควรร่วมลงมติอนุญาตให้มีการสร้างโปรเจกต์นี้เกิดขึ้น”
สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันจันทร์(12) วุฒิสภาสหรัฐฯจะมีกำหนดพิจารณากฎหมายคีสโตนไปป์ไลน์ XL เช่นเดียวกัน และคาดว่าจะผ่านร่างกฏหมายฉบับนี้เช่นเดียวกับสภาล่าง ซึ่งโปรเจกต์มูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์ถูกนำเสนอตั้งแต่ปี 2008 แต่โครงการนี้เป็นที่อื้อฉาวและถกเถียงในวงกว้างเพราะน้ำมันที่ได้จากทรายน้ำมันทาร์ที่จะส่งผ่านทางระบบท่อครั้งนี้เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าน้ำมันจากประเภทอื่น แต่การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่ทำขึ้นในปีที่ผ่านมาชี้ว่า ไม่มีผลกระทบใหญ่โตต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่กังวลหากเริ่มมีการก่อสร้างโครงการนี้
โครงการคีสโตนไปป์ไลน์ XL ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนมาก รวมไปถึงสหภาพแรงงานหลายแห่งด้วยเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้ แต่เป็นเพราะโปรเจกต์นี้ข้ามพรมแดน ทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯต้องเป็นหน่วยงานที่จะอนุญาตการก่อสร้าง แต่ทว่าหลังมติลงคะแนนของสภาล่างสหรัฐฯในวันศุกร์(9)ชี้ว่า จำเป็นต้องเร่งก่อสร้างโปรเจกต์นี้ทันที
อย่างไรก็ตามในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การบริหารของโอบามาประกาศที่จะพิจารณาวีโต้กฏหมายฉบับนี้เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการนี้กระทบต่อผลประโยชน์สหรัฐฯ และรวมไปถึงคดีความที่ยังคงค้างในศาลรัฐเนแบรสกา แต่ในช่วงเช้าวันศุกร์(9) ศาลเนแบรสกาสั่งให้คดีที่เกี่ยวกับโปรเจกต์ก่อสร้างท่อส่งน้ำมันตกไป ซึ่งคดีนี้ถือเป็นข้อขัดขวางตามกระบวนการยุติธรรมที่จะหยุดโครงการก่อสร้างเกือบทั้งหมด “คำพิพากษาในเช้านี้ถือเป็นโอกาสดีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะหันกลับมาสนับสนุนและเปลี่ยนใจที่จะไม่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้” มิตช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากพรรครีพับลิกันประจำสภาสูงสหรัฐฯแถลงหลังทราบคำพิพากาษาของศาลเนแบรสกา และเสริมว่า “ประธานาธิบดีมีทุกเหตุผลที่จะประกอบการตัดสินใจในการลงนาม”