xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นโลกปี 2015 เคลื่อนไหววูบวาบ ต้องตามลุ้น 'นโยบายแบงก์ชาติ-ราคาน้ำมัน'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ตลาดหุ้นทั่วโลกที่อยู่ในอาการเสพติด “สภาพคล่อง” และตัดขาดจากเศรษฐกิจที่แท้จริง มีแนวโน้มเคลื่อนไหววูบวาบในปี 2015 จากการที่ธนาคารกลางระดับยักษ์ของโลกอย่าง เฟด , อีซีบี, และจีน มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแบบทางใครทางมัน ไม่ใช่ไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ราคาน้ำมันซึ่งอยู่ในอาการขาลงสุดลิ่ม ก็จะผสมโรงช่วยเขย่าตลาดอีกแรง

ในปี 2015 “การแทรกแซงของธนาคารกลางจะยังคงมีอิทธิพลต่อตลาด เฉกเช่นเดียวกับช่วง 7 ปีที่ผ่านมา” นี่เป็นมุมมองของ โรเมน บอสเชอร์ ผู้จัดการพอร์ตหลักทรัพย์ของอะมุนดี ซึ่งก็สะท้อนความเห็นของนักวิเคราะห์จำนวนมาก

หลายปีมานี้ แบงก์ชาติประเทศต่างๆ พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่หยุดชะงักด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องก้อนใหญ่เข้าสู่ตลาด ลดดอกเบี้ยต่ำสุดขีด และรับซื้อสินทรัพย์แบบแทบไม่มีอั้น

จากสภาพคล่องที่ทะลักออกมามากมายเช่นนี้ ตลาดหุ้นจึงทำผลงานอย่างน่าประทับใจ และอัตรากู้ยืมของรัฐบาลก็ลดลงจนต่ำเตี้ย แต่สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นจริงนั้น สถานการณ์ไม่ได้ราบรื่นแบบนี้ และในแต่ละประเทศก็กำลังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ดังนั้น ในปี 2015 นโยบายการเงินของประเทศต่างๆ จึงจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกต่อไป

แมทธิว ลัวร์ นักยุทธศาสตร์ด้านหลักทรัพย์ของเอเอ็กซ์เอ อินเวสต์เมนต์ แมเนเจอร์ส ชี้ว่า การมีทิศทางด้านนโยบายที่แตกต่างดังกล่าว จะส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกผันผวนมากขึ้น

อเมริกากับอังกฤษ 2 ประเทศที่ธนาคารกลางเคยออกมาตรการซื้อสินทรัพย์เชิงรุกอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันกำลังเพลิดเพลินใจกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับในปี 2015 ได้รับการคาดหมายว่า จะเริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ย

ผิดกับญี่ปุ่นที่เพิ่งออกมาตรการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมหลังจากเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะถดถอยในตอนปลายปี 2014 ขณะที่จีนก็กำลังปรับลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อให้แน่ใจว่า เศรษฐกิจจะไม่ชะลอตัวรุนแรง

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตกอยู่ในความกดดันหนักให้รีบเร่งดำเนินมาตรการคล้ายๆ ญี่ปุ่นและจีน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อ

ทว่า การทรุดดิ่งของราคาน้ำมันกำลังทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น

นับจากเดือนมิถุนายนปี 2014 จนถึงตอนสิ้นปี ราคาน้ำมันดิบลดลงราวครึ่งหนึ่ง ลงมาอยู่ที่ระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกยังถูกล็อกอยู่ในวิกฤตการเงิน

ลัวร์เสริมว่า แม้ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงเปรียบเสมือนเป็นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่อุดหนุนราคาพลังงาน อย่างเช่น อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับทำให้ภารกิจของอีซีบีในการสร้างเสถียรภาพราคาผู้บริโภคกลายเป็นงานยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ยุโรปกำลังต่อสู้กับภาวะเงินฝืด

ราคาสินค้าที่ถูกลงอาจเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค แต่ไม่ใช่สำหรับธนาคารกลางที่มองว่า อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ธุรกิจและครัวเรือนพากันผลัดผ่อนชะลอการจับจ่ายออกไปก่อน ส่งผลให้อุปสงค์ลดลงและบริษัทต่างๆ ต้องปลดพนักงาน

อย่างไรก็ตาม หากอีซีบีสามารถดำเนินการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในภาวะราคาน้ำมันตกฮวบได้สำเร็จ ในท้ายที่สุดยุโรปอาจได้อานิสงส์จากน้ำมันดิบราคาถูกลงในแง่ที่ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

โฮลเกอร์ ชมิดดิง นักวิเคราะห์จากเบเรนเบิร์ก เสนอทัศนะว่า ราคาน้ำมันขาลงอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมในระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากในมุมมองของผู้ใช้พลังงาน สถานการณ์นี้เทียบเท่าการได้ลดภาษีครั้งใหญ่ แถมจุดที่ดีกว่าการลดภาษีเสียอีกก็คือ ไม่ได้ทำให้ประเทศเกิดการขาดดุลงบประมาณอย่างมหาศาล จนกลายเป็นภาระหนักอึ้งทางการคลังซึ่งส่งผลกระทบมาถึงพวกผู้ใช้พลังงานในระยะยาวอยู่ดี

ทว่าสำหรับรัสเซียและพวกชาติผู้ผลิตพลังงานรายอื่นๆ สถานการณ์ย่อมกลายเป็นตรงกันข้าม และอันตรายที่จะต้องจับตามองกันให้ใกล้ชิดก็คือ ประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบมากเพียงใดจากราคาน้ำมันขาลง

รัสเซียนั้นสะบักสะบอมจากมาตรการลงโทษของตะวันตกอยู่แล้ว และยังถูกซ้ำเติมจากการตกฮวบของค่ารูเบิล

ชมิดดิงเตือนว่า หมีบาดเจ็บอย่างรัสเซียอาจอยู่ในสภาพหลังชนฝาและแสดงความก้าวร้าวมากขึ้น ซึ่งสร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อสันติภาพโลก รวมทั้งต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปในปี 2015

นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากวิกฤตยูเครน หรือความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในอังกฤษและสเปน (ล่าสุดคือความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในกรีซ) แล้ว การดำเนินการของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็จะกลายเป็นปัจจัยชี้นำตลาดหุ้นเช่นกัน

แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาจทำให้ตราสารหนี้มีความน่าสนใจมากกว่าหุ้น ไม่เพียงเท่านั้น ดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นย่อมทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น และนี่อาจกระทบต่อหุ้นเช่นกัน แล้วยังเป็นแรงกดดันถึงเรื่องผลการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คริสโตเฟอร์ โลว์ นักเศรษฐศาสตร์ของเอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล ชี้ว่า หากเฟดไม่ได้มีการเคลื่อนไหวจนเกินพอดี และขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป ตลาดหุ้นจะยังคงมีผลงานที่ดีต่อไป

กระนั้น ค่าดอลลาร์ที่แข็งขึ้น ยังมีผลสะท้อนไปถึงตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่อิงกับค่าดอลลาร์อย่างมาก เนื่องจากต่างยังคงใช้ดอลลาร์อเมริกันเป็นสกุลเงินหลักในการค้าขาย

ลัวร์สำทับว่า เมื่อนโยบายการเงินในอเมริกาเปลี่ยน นโยบายการเงินทั่วโลกจะเปลี่ยนตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

นอกจากเรื่องความเคลื่อนไหวของพวกธนาคารกลางตลอดจนราคาน้ำมันแล้ว แนวโน้มสำคัญอีกประการหนึ่งในตลาดหุ้นโลกของปี 2015 ย่อมได้แก่ความเป็นไปของตลาดหลักทรัพย์จีน ซึ่งอาจจะถึงเวลาเติบใหญ่เบ่งบานเสียที

โครงการเชื่อมตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้-ฮ่องกง ที่เริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายนปี 2014 มีเป้าหมายเพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถเข้าถึงหุ้นจีนได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

บอสเชอร์บอกว่า จีนกำลังอยู่ในกระบวนการให้กำเนิดตลาดหุ้นซึ่งจะมีขนาดใหญ่โตเป็นอันดับ 2 ของโลก กระบวนการดังกล่าวนี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ ทว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้ย่อมเป็นที่ต้อนรับอย่างยินดีของบรรดานักลงทุนระหว่างประเทศอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น