เอเอฟพี - พนักงานสอบสวนสหรัฐฯ เชื่อว่าเกาหลีเหนืออาจว่าจ้าง “แฮกเกอร์นอกประเทศ” ให้ช่วยโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของ โซนี่ พิคเจอร์ส เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ซึ่งใกล้ชิดแวดวงสอบสวนเผยวานนี้ (29 ธ.ค.)
แหล่งข่าวซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยรายละเอียดการสอบสวนต่อสาธารณชน ชี้ว่า เกาหลีเหนือยังขาดเทคโนโลยีที่จะก่ออาชญากรรมไซเบอร์อันซับซ้อนได้ด้วยตัวเอง พนักงานสอบสวนจึงเล็งเห็นความเป็นไปได้ที่เปียงยางจะ “ทำสัญญาจ้าง” บุคคลภายนอกให้ลงมือแทน
การเจาะระบบสตูดิโอชื่อดังแห่งฮอลลีวูดถือได้ว่าเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริษัทเอกชนที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐฯ เนื่องจากแฮกเกอร์ไม่เพียงขโมยข้อมูลลับไปได้มากมาย แต่ยังลบข้อมูลในฮาร์ดไดรฟ์ทั้งหมด และทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ใช้การไม่ได้นานกว่า 1 สัปดาห์
แม้พนักงานสอบสวนจะเริ่มพุ่งประเด็นไปที่ความช่วยเหลือจากแฮกเกอร์ภายนอก แต่สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ยังคงยืนยันคำแถลงเดิมที่ว่า เปียงยางคือตัวการหลักของอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้
“เอฟบีไอสรุปว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการลักขโมย และทำลายฐานข้อมูลในเครือข่ายของ โซนี่ พิคเจอร์ส เอนเตอร์เทนเมนต์” ถ้อยแถลงจากเอฟบีไอที่ส่งถึงรอยเตอร์ระบุ
เปียงยางปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมขู่จะตอบโต้มาตรการลงโทษทุกรูปแบบของสหรัฐฯ
แฮกเกอร์ที่อ้างความรับผิดชอบ ระบุว่า พวกเขาไม่พอใจภาพยนตร์ “ดิ อินเทอร์วิว” ของ โซนี่พิคเจอร์ส ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนลอบสังหารผู้นำคิม จองอึน และด้วยคำขู่ของอาชญากรกลุ่มนี้ โรงภาพยนตร์หลายแห่งในสหรัฐฯ จึงปฏิเสธที่จะฉายหนังเรื่องดังกล่าว ทว่า สุดท้ายโซนี่ก็ได้เจรจาจนสามารถนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์อิสระ 320 แห่งทั่วสหรัฐฯ ในวันคริสต์มาสที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์บางรายเริ่มไม่มั่นใจว่าเกาหลีเหนือจะอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้จริงหรือไม่
บริษัท ทาเอีย โกลบอล ชี้ว่า จากการวิเคราะห์ภาษาที่แฮกเกอร์ใช้ในการสื่อสารมีสิ่งบ่งบอกว่าพวกเขาน่าจะมาจาก “รัสเซีย” มากกว่าเกาหลีเหนือ ขณะที่บริษัท นอร์ส ตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจมี “คนใน” ของ โซนี่ สมรู้ร่วมคิด
“ผมว่ารัฐบาลด่วนประกาศเร็วเกินไปว่าเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ทั้งที่กระบวนการสอบสวนยังไม่สิ้นสุด” มาร์ก ราสก์ อดีตอัยการของรัฐฝ่ายอาชญากรรมไซเบอร์ กล่าว
“มีทฤษฎีหลายอย่างเกี่ยวกับตัวผู้กระทำและวิธีที่พวกเขาใช้ลงมือ รัฐบาลควรจะมองให้รอบด้านเสียก่อน”
เอฟบีไอระบุว่า ทางสำนักงานได้รับข้อมูลจากหลายแหล่งที่บ่งชี้ชัดเจนว่าเป็นฝีมือเกาหลีเหนืออย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวกรอง, กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ, หุ้นส่วนต่างชาติ และภาคเอกชน
“เราไม่ได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่ามีบุคคลอื่นๆ ร่วมรู้เห็นกับอาชญากรรมไซเบอร์ครั้งนี้” เอฟบีไอ ยืนยัน
เควิน แมนเดีย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท ไฟร์อาย อิงก์ ซึ่ง โซนี่ พิคเจอร์ส ว่าจ้างให้เข้ามาตรวจสอบการแฮ็กข้อมูล ระบุว่า หนทางเดียวที่จะรู้ตัวผู้กระทำผิดได้ คือตรวจสอบการจราจรในเครือข่าย (network traffic) ย้อนหลังจากเครื่องที่ถูกโจมตีกลับไปยังอุปกรณ์ของแฮกเกอร์ ซึ่งมีเพียงรัฐบาลและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้นที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้
“ผมไม่มีข้อมูลที่ เอฟบีไอ ใช้เป็นข้อสรุป” แมนเดีย กล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
“การโจมตีแต่ละครั้งมักกระทำผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายเครื่อง... คุณต้องค่อยๆ ปอกหัวหอมออกทีละชั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ”