เอเอฟพี - สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดี้ส์” ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นในวันนี้ (1 ธ.ค.) โดยอ้างว่าเป็นผลมาจากสถานการณ์หนี้ของประเทศ ซึ่งทวีความไม่แน่นอนขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ชะลอความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งนี้ระบุว่า ได้หั่นเรทติ้งของญี่ปุ่นจาก “Aa3” เหลือ “A1” ซึ่งเป็นการปรับลดหนึ่งขั้น ภายหลังที่เศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัยเริ่มเข้าสู่สภาวะถดถอยในช่วงไตรมาส 3
สืบเนื่องจากตัวเลขจีดีพีตกต่ำ อาเบะจึงประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีการค้า ซึ่งแต่เดิมมีกำหนดจะประกาศใช้ในปีหน้าออกไปก่อน พร้อมกับประกาศจัดการเลือกตั้งอย่างกะทันหัน โดยผู้นำญี่ปุ่นชี้ว่าเป็นการหยั่งเสียงประชาชนว่าเห็นด้วยกับแผนเลื่อนการขึ้นภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ออกไปหรือไม่
ทั้งนี้ โตเกียวได้ประกาศขึ้นภาษีการค้าจาก 5 เปอร์เซ็นต์เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งนับเป็นการขึ้นภาษีครั้งแรกในรอบ 17 ปี เพื่อหาเงินรายได้มาโปะหนี้ที่สูงลิ่วของประเทศ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นนับเป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยที่มีหนี้พอกพูนมากที่สุด คือมากกว่า 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การประกาศขึ้นภาษีการค้าครั้งนั้น กลับทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัยต้องชะงักงันอีกครั้ง ในช่วงที่เศรษฐกิจซึ่งชอกช้ำกับสภาวะเงินฝืดมานานหลายปีของประเทศนี้ เริ่มกระเตื้องขึ้น
มูดี้ส์ระบุในคำแถลงว่า “ปัจจัยแรกที่ผลักดันให้มีการปรับลดความน่าเชื่อถือญี่ปุ่นลงไปอยู่ที่ระดับ A1 คือการที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้นเรื่อยๆ ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะสามารถบรรลุเป้าหมายลดการขาดดุลระยะกลางได้หรือไม่ และผู้กำหนดนโยบายจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ความตึงเครียด ที่เกิดจากการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ไปพร้อมๆ กับการสร้างเสถียรภาพ และลดหนี้ที่สูงขึ้นได้หรือไม่”
การเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีการค้ารอบใหม่ออกไป จากเดิมที่วางแผนไว้ในช่วงปลายปี 2015 “นั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่องบการเงินรวม และจะไปเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ศักยภาพในการชำระหนี้ และการการรักษาเสถียรภาพหนี้สาธารณะในระยะยาว”
หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือเจ้านี้ระบุเพิ่มเติมว่า “การขาดดุล และหนี้ของญี่ปุ่นยังคงอยู่ระดับที่สูงมาก และเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าๆ งบการเงินรวมก็จะยิ่งกลายเป็นเป้าหมายที่ไขว่คว้าได้ยากขึ้น เนื่องจากนายจ่ายภาครัฐขยับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโครงการสวัสดิการสังคมด้านประชากรผู้สูงวัยในญี่ปุ่น”
เมื่อเดือนที่แล้ว ข้อมูลจีดีพีเบื้องต้น เผยให้เห็นว่าในไตรมาส 3 ของปีนี้ (กรกฎาคม - กันยายน) เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน (เมษายน - มิถุนายน) ที่ 1.9 เปอร์เซ็นต์