รอยเตอร์ - นักวิจารณ์หลายรายออกมาลงความเห็นตรงกันว่า รัสเซียสร้างหลักฐานปลอมขึ้นมาลวงโลก หลังสถานีโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลหมีขาวนำเสนอภาพที่สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าเที่ยวบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ถูกสอยด้วยฝีมือของเครื่องบินรบยูเครน
ภาพถ่ายที่ถูกอ้างว่าได้มาจากดาวเทียมของชาติตะวันตก แสดงให้เห็นถึงเครื่องบินรบกำลังยิงจรวดเข้าใส่เครื่องบินโดยสารลำหนึ่ง เหนือน่านฟ้ายูเครน บริเวณที่เที่ยวบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ถูกสอยร่วงเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 298 ราย
รัสเซียเชื่อว่าเที่ยวบินโดยสารดังกล่าวถูกยิงโดยเครื่องบินรบของยูเครน ส่วนบรรดาเจ้าหน้าที่ของชาติตะวันตกระบุว่า หลักฐานบ่งชี้ว่าเครื่องบินโดยสารลำนี้ตกลงเพราะได้รับความเสียหายจากจรวดภาคพื้นดินสู่อากาศที่ผลิตโดยรัสเซีย ซึ่งพวกกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนนำไปใช้
ภาพถ่ายที่สร้างความฮือฮาชุดนี้ ได้ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 พ.ย.) ในรายการข่าวช่วงเย็น "ออดนาโก" ทางสถานีโทรทัศน์ แชแนล วัน ของรัสเซีย ที่มีการรายงานว่า พวกเขาได้ส่งรูปไปให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่าย "จอร์จ บิลต์" ที่บรรยายสรรพคุณว่าจบการศึกษามาจากสถาบันเทคโนโลยีเมสซาชูเซตต์ (เอ็มไอที) ทำการวิเคราะห์เรียบร้อยแล้ว
ดมิทรี บอริซอฟ พิธีกรสถานีโทรทัศน์ แชแนล วัน ของรัสเซีย ระบุว่า ภาพถ่ายที่ได้มาจากดาวเทียมจารกรรมของต่างชาติ แสดงให้เห็นถึงช่วงไม่กี่วินาทีสุดท้ายของเครื่องบินโบอิ้งสัญชาติมาเลเซีย ที่บินเหนือน่านฟ้ายูเครน รูปถ่ายเหล่านี้สนับสนุนทฤษฎีว่าเครื่องบินยูเครนเป็นผู้ก่อเหตุ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ แชแนล วัน ได้ทำการนำเสนอภาพดังกล่าวออกสู่สายตาสาธารณชน รูปเหล่านั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความข้องใจกันไปทั่ว
อังเดรย์ เมนเชนิน นักวิจารณ์ชาวรัสเซีย จากสถานีวิทยุอิสระในแดนหมีขาว "เอคโค มอสไคว" เรียกการนำเสนอข่าวครั้งนั้นว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวลวงโลก พร้อมทั้งระบุว่า ทิศทางการโจมตีที่เห็นในภาพไม่สอดคล้องกับตำแหน่งความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงต่อเที่ยวบิน MH17
ขณะที่เว็บไซต์ข่าวที่เน้นการสืบสวนเชิงลึกของอังกฤษ "เบลลิงแคท" ระบุว่า รูปพวกนั้นถูกสร้างขึ้นมาแบบไม่แนบเนียน มีหลายจุดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จับผิดได้ง่ายมาก ซึ่งรวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่บ่งชี้ว่ารูปถูกตัดต่อมาจากภาพของ "กูเกิล เอิร์ท" ซึ่งถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2012
เบลลิงแคท อธิบายว่า เมื่อนำภาพดังกล่าวมาเทียบกับเส้นทางการบินของ MH17 (เส้นสีฟ้าในรูป) จะเห็นว่าเครื่องบินในรูปอยู่นอกเส้นทางการบิน ขณะที่หลายส่วนของรูปดังกล่าวก็เกิดจากการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาปะติดปะต่อกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาจาก "กูเกิล เอิร์ท" ซึ่งถ่ายไว้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2012 (co-ords 47°57’12.22″N, 37°50’4.09″E)
ส่วนภาพบริเวณจุดที่แสดงให้เห็นถึงเครื่องบินรบยูเครนนั้น เบลลิงแคท ระบุว่าเป็นภาพที่นำมาจาก "แยนเด็กซ์ แมพ" ของรัสเซีย แถมเครื่องบินรบที่เห็นในภาพก็ไม่น่าจะใช่ "ฟรอกฟุต" หรือเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน เอสยู-25 ตามที่สื่อรัสเซียกล่าวอ้าง แต่ดูใกล้เคียงกับเครื่องบิน เอสยู-27 มากกว่า
อีกหนึ่งจุดสังเกตก็คือ โลโก้บนเครื่องบินโดยสารที่เห็นในภาพนั้นไม่สอดคล้องกับโลโก้ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ที่ปกติจะมีคำว่า "มาเลเซีย" อยู่บริเวณเหนือปีก แต่ในภาพถ่ายจะเห็นได้ว่ามีโลโก้ตัวหนังสืออยู่บริเวณเยื้องไปทางด้านหน้า ซึ่งน่าจะเป็นโลโก้ตัวหนังสือคำว่า "โบอิ้ง" มากกว่า ด้วยเหตุนี้คำกล่าวอ้างของสื่อรัสเซียจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ เครื่องบินในรูปก็ไม่น่าจะใช่ MH17