เอเอฟพี - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)เมื่อวันพุธ (29 ต.ค.) ตัดสินใจยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) หลังจากปั๊มเงินเข้าสู่เศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อกระตุ้นการเติบโตมานานกว่า 6 ปี แต่ยืนยันว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำใกล้ศูนย์ต่อไปเป็นระยะเวลานานพอดู โดยยึดตามกำหนดเวลาเดิมที่จะปรับขึ้นในปี 2015
ความเคลื่อนไหวทางนโยบายการเงินของเฟดครั้งนี้เป็นไปตามที่คาดหมายกันไว้ ขณะที่สหรัฐฯหลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างมั่นคง แต่ก็ยังคงมีความกังวลต่อภาวะเงินฝืดอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ระบุในถ้อยแถลงหลังการประชุมว่าตลาดแรงงานที่อยู่ในความกังวลมานาน แสดงถึงการฟื้นตัวอย่างมั่นคงและกำลังค่อยๆ มุ่งสู่การจ้างงานอย่างเต็มที่
FOMC บอกว่า ด้วยเหตุผลนี้ทางคณะกรรมการจึงถอนคิวอี3 ซึ่งเป็นขั้นล่าสุดของโครงการเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้มูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2008 เพื่อกดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและสนับสนุนการลงทุน
โครงการนี้ค่อยๆ ถูกลดระดับจาก 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน จนเหลือแค่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าผลกระทบของมันต่อการเติบโตโดยรวมมีน้อยมาก
หลักการนโยบายนี้ของเฟด คือ มีเป้าหมายช่วยลดอัตราคนว่างงาน ซึ่งช่วงพีคสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2009 พุ่งแตะร้อยละ 10.0 อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้วมันร่วงลงเหลือแค่ร้อยละ 5.9 เท่านั้น และด้วยการเติบโตของภาคแรงงานที่อยู่ในภาวะมั่นคง ธนาคารกลางแห่งนี้จึงเบี่ยงความสนใจไปที่ภาวะเงินเฟ้อ ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 2.0 ที่วางเป้าหมายไว้
นอกจากนี้แล้วอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในถ้อยแถลงของเฟดเมื่อวันพุธ (29 ต.ค.) ก็คือการส่งสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับเตี้ยติดดินร้อยละ 0 ถึง 0.25 มาตั้งแต่สิ้นปี 2008 จะถูกคงไว้เช่นนี้ต่อไปเป็นเวลานานพอดู หลังยกเลิกคิวอีแล้ว
จากการสำรวจความเห็นของสมาชิกคณะกรรมการ พบว่าส่วนใหญ่แล้วชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นราวๆ กลางปี 2015 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนกะเก็งว่าบางทีทาง FOMC อาจแก้ไขภาษาในถ้อยแถลงเพื่อเปิดทางสำหรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนกำหนด หลังจากถอนติวอีและภาพเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว