เอเจนซีส์ - ดอกเตอร์ ชินอิจิ ซูซูกิ (Dr Shinichi Suzuki) ตำนานปรมาจารย์วงการสอนเครื่องเล่นดนตรีคลาสสิกในไทยและต่างชาติ ที่รู้จักในวงการว่า “วิธีการเรียนแบบซูซูกิ” ที่แม้กระทั่งยังได้รับเกียร์ติให้สอนบุตรสาวประธานาธิบดีสหรัฐฯ จิมมี คาร์เตอร์ มาแล้ว ล่าสุดเดอะ เทเลกราฟต์ สื่ออังกฤษรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีชาวสหรัฐฯ มาร์ก โอ คอนเนอร์ (Mark O'Connor) ออกมาชี้ถึงอดีตของนักไวโอลินชาวญี่ปุ่นผู้นี้ว่า โกหกทุกเรื่องในอดีตไม่ว่าจะเคยเป็นเพื่อนกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือเคยใช้เวลาถึง 8 ปีเพื่อศึกษาด้านดนตรีอย่างจริงจังในเยอรมัน และเป็นศิษย์ของคาร์ล คลินเกอร์ นักไวโอลินแถวหน้าของยุคและศาสตราจารย์ประจำสถาบัน Berlin Hochshule และโอคอร์เนอร์ยังมีหลักฐานยืนยันว่าซูซูกิในวัย 24 ปีเคยตกออดิชันสมัครเข้าเรียนที่สถาบันดนตรีที่มีชื่อของเยอรมัน
ในช่วงเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาเด็กหลายล้านคนทั่วโลกที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปได้เรียนรู้วิธีการเล่นไวโอลินจากหลักสูตรเดียวกัน แต่ทว่าปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่น ดอกเตอร์ ชินอิจิ ซูซูกิ (Dr Shinichi Suzuki) ผู้คิดค้นการสอบแบบซูซูกิที่เน้นให้เด็กเรียนรู้ดนตรีอย่างเต็มความสามารถของเด็กด้วยความสนุกสนานได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลลวงโลกไปแล้ว
บรรดานักวิจารณ์ต่างกล่าวว่า ซูซูกิ ได้แต่งเติมประวัติชีวิตของเขาในช่วงต้น และยังแอบอ้างรู้จักบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงดนตรี เช่น เคยเป็นเพื่อนกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลก และได้มีโอกาสเรียนดนตรีกับปรมาจารย์ด้านดนตรีแห่งยุคในกรุงเบอร์ลิน จนกระทั่งทำให้เขาสามารถกลายเป็นตำนานผู้สร้างหลักสูตรการสอนไวโอลิน และเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆจนกระทั่งทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีและมีชื่อเสียงก้องโลกในที่สุด
ซึ่งหลักสูตรเรียนดนตรีวิธีซูซูกิได้กลายเป็นหลักสูตรหลักในการสอนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายสำหรับการสอนเด็กในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วยที่มีการเสนอวิธีการสอนนี้ให้กับเด็กๆที่สนใจเรียนดนตรี
ซึ่งปรัชญาของการเรียนดนตรีสำหรับเด็กแบบซูซูกิคือ ควรจะเริ่มให้เด็กเรียนดนตรีตั้งแต่อายุน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยอายุที่เหมาะที่สุดคือตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และเริ่มสอนให้เล่นเครื่องดนตรีจากความทรงจำของเด็กที่ได้เล่นซ้ำไปซ้ำมา
ในช่วงปี 1920 ดอกเตอร์ซูซูกิเดินทางไปยังเยอรมัน และอ้างว่าอยู่ในความอุปถัมภ์ของไอน์สไตน์ ที่ถือเป็นมือไวโอลินสมัครเล่นที่มีความสามารถ และยังอ้างต่อว่าได้เคยเข้าศึกษาดนตรีกับคาร์ล คลินเกอร์ นักไวโอลินแถวหน้าของยุคและดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำ Berlin Hochshule และหลังจากนั้นปรมาจารย์ด้านไวโอลินชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในวัย 99 ปีเมื่อ 1998 ได้คิดค้นวิธีการเรียนดนตรีเป็นของตนเองที่มีชื่อเสียงรู้จักไปทั่วโลกในที่สุด
“ผมคิดว่านี่เป็นการลวงโลกครั้งมโหฬารในแวดวงประวัติศาสตร์ดนตรีเลยทีเดียว” มาร์ก โอ คอนเนอร์ (Mark O'Connor) ครูสอนไวโอลินชาวสหรัฐฯ และนักเล่นซออเมริกัน(fiddler) ที่ใช้เวลาหลายปีในการตรวจสอบประวัติชีวิตของดอกเตอร์ซูซูกิ กล่าว และเสริมว่า “ผมไม่คิดว่าจะมีใครตรวจสอบประวัติของเขาจริงจังอย่างละเอียด”
ทั้งนี้โอ คอนเนอร์ได้โพสต์หลักฐานบนบล็อกของตนเองที่เขาคิดว่าเป็นหลักฐานเชื่อได้ว่า นักดนตรีญี่ปุ่นผู้นี้หลอกลวง ซึ่งการโพสต์ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาในชื่อหัวข้อ “เรื่องโกหกที่ร้ายแรงที่สุดของซูซูกิ” โดยครูสอนไวโอลินผู้นี้ได้โพสต์หลักฐานของสถาบันดนตรีในเยอรมันที่ดอกเตอร์ซูซูกิเคยอ้างเมื่อครั้งยังมีชีวิตว่าได้เคยเข้าศึกษา แต่โอคอนเนอร์แย้งว่า ดอกเตอร์ซูซูกิเมื่ออายุ 24 ปีในปี 1923 ถูกปฎิเสธเข้าเรียนหลังจากสอบออดิชันไม่ผ่าน
และโอ คอนเนอร์ ยังระบุต่อว่า ดอกเตอร์ซูซูกิไม่เคยได้รับการศึกษาด้านไวโอลินอย่างจริงจังจากผู้เชี่ยวชาญด้านไวโอลินคนไหนเลย ซึ่งตามจริงแล้วซูซูกิเรียนไวโอลินด้วยตนเองตั้งแต่มีอายุได้ 18 ปี และไม่เคยได้มีโอกาสได้เข้าร่วมเล่นในวงออเครสตราแต่อย่างใด
นอกจากนี้เดลิเมล สื่ออังกฤษ รายงานเพิ่มเติมเมื่อวานนี้(26)ว่า ดอกเตอร์ซูซูกิได้เคยเดินทางไปเยือนทำเนียบขาวในปี 1979 และได้ถ่ายภาพร่วมกับเอมี บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และโรซาลินน์ คาร์เตอร์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯที่เขาได้แนะนำการเรียนไวโอลินให้แก่เอมี
สื่ออังกฤษได้ติดต่อสอบถามไปยังสถาบันดนตรีซูซูกิแห่งอังกฤษถึงเรื่องนี้ ซึ่งสถาบันแห่งนี้มีนักเรียนอยู่ถึง 250,000 คนและมีครูสอนจากทั่วโลกราว 8,000 คน
มินเนต จอยซ์ (Minette Joyce )ผู้อำนวยการสถาบันให้สัมภาษณ์ว่า “ปรัชญาการสอนซูซูกิต้องการให้ผู้เรียนสามารถเล่นดนตรีได้ดีที่สุดตามความสามารถของตนเอง และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนกลายเป็นนักดนตรีมืออาชีพ แต่ต้องการให้เด็กที่เรียนดนตรีเรียนดนตรีด้วยความสนุกสนานไม่ว่าความสามารถของพวกเขาจะมีมากน้อยแค่ไหนก็ตาม