ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สำนักข่าวเอเอฟพีเสนอรายงานข่าวระบุ ไทยดิ้นปกป้องอุตสาหกรรมกุ้ง ส่งเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐ-เอกชนช่วยกันกล่อมยุโรปให้เชื่อว่า กำลังเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาว่า การทำประมงของไทยมีการกดขี่ทรมานแรงงานต่างด้าวเยี่ยงทาส อย่างไรก็ดี นักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิแรงงานจากอังกฤษชี้ ความพยายามดังกล่าวยังถือว่าน่าผิดหวัง
รายงานข่าวจากกรุงปารีสของเอเอฟพีระบุว่า อุตสาหกรรมประมงมีสัดส่วนคิดเป็น 40% ของการส่งออกอาหารของไทยทีเดียว และถือเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมนี้ถูกทำลายย่อยยับจากรายงานการกดขี่ข่มเหงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทั้งด้วยการกักขังและบีบบังคับใช้แรงงานโดยไม่จ่ายค่าแรง บางกรณีต้องทำงานบนเรือโดยไม่เคยได้เข้าฝั่งนานเป็นปี
เอเอฟพีบอกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยจัดเต็มโดยการส่งตัวแทนพร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน กรมประมง ตลอดจนตำรวจและผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมถึงผู้นำในอุตสาหกรรมประมง เข้าร่วมงานเทศกาลอาหารนานาชาติ SIAL นอกกรุงปารีส ก่อนเดินทางไปล็อบบี้เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) ต่อที่บรัสเซลส์
ศรันย์ เจริญสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศของไทย ยอมรับในงานสัมมนาพิเศษว่า ไทยไม่ได้ปฏิเสธว่า ไม่มีปัญหา แต่สำทับว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ไข
รายงานของเอเอฟพี อ้างอิงข่าวเมื่อเดือนมิถุนายนของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยนของอังกฤษ ซึ่งทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมกุ้งของไทยยังมีหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการ
อุตสาหกรรมกุ้งของไทยนั้น ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย 1 ใน 4 ของจุดหมายปลายทางการส่งออกอยู่ที่อเมริกา และ 15% ส่งให้ยุโรป การ์เดี้ยนพบว่า ภาคอุตสาหกรรมกุ้งของไทยใช้ปลาป่นเป็นอาหารหลักในการเลี้ยงกุ้ง ทว่าปลาป่นเหล่านี้มักสั่งจากเรือประมงที่ใช้แรงงานทาส
การ์เดียนได้สัมภาษณ์แรงงานจำนวนมากที่หลบหนีจากเรือ ชาวประมง และไต้ก๋ง ซึ่งเล่าถึงการขายคนงานโดยที่เจ้าตัวเหล่านั้นไม่ได้ล่วงรู้หรือสงสัยอะไรเลย เนื่องจากคิดแต่ว่าจะถูกส่งไปทำงานในโรงงานหรือสถานที่ก่อสร้าง แต่สุดท้ายกลับถูกขูดรีดแรงงานอยู่บนเรือนานเป็นปี หลายคนต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ถูกทุบตีเป็นประจำทั้งที่ทำงานหนัก บางคนถูกทรมานหรือกระทั่งถูกฆ่าทิ้ง
นอกจากนั้น ในรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานในปี 2011 ยังพบว่า แรงงานที่ถูกขายให้ไต้ก๋งเรือ สุดท้ายต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรงและไม่ได้ขึ้นจากเรือนานนับปี
ภายหลังรายงานของการ์เดี้ยนเผยแพร่ออกมา คาร์ฟูร์ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเชนค้าปลีกใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประกาศงดซื้อกุ้งไทยทันที
อธิบดีกรมยุโรปของไทยเผยว่า ไทยพยายามปกป้องอุตสาหกรรมหลักและชื่อเสียงของประเทศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาด้วยการนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเป็นทางการ
ผู้นำทหารซึ่งเข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม ได้ริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ เพื่อการจัดทำเอกสารรับรองแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ให้เข้าสู่ระบบแรงงานถูกกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่เผยว่า ได้ออกเอกสารให้แก่แรงงานต่างด้าวแล้วทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย และ 50,000 รายในจำนวนนี้ทำงานในอุตสาหกรรมประมง
กระนั้น คาดว่า ยังมีแรงงานต่างด้าวอีกหลายแสนคนที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายในไทย
กฎหมายฉบับใหม่ของไทยยังกำหนดให้ผู้จัดการบริษัทประมงจัดทำสัญญาจ้างงาน และปฏิบัติตามกฎในการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำและวันหยุด รวมทั้งห้ามว่าจ้างแรงงานอายุต่ำกว่า 15 ปี
ปลายปีที่ผ่านมา บริษัท 178 แห่งในภาคประมงของไทยลงนามในกฎบัตรแนวปฏิบัติที่ดี ภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หนึ่งในบริษัทที่ลงนามในกฎบัตรนี้คือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ที่เคยส่งผลิตภัณฑ์ให้เชนซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกอย่างวอลมาร์ทของอเมริกา, คาร์ฟูร์ของฝรั่งเศส และเทสโก้ของอังกฤษ
ทว่า นักเคลื่อนไหวยังไม่พอใจกับการดำเนินการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
"เราได้ฟังบรรยายสรุปและรู้สึกผิดหวังกับโครงการดังกล่าว” แอนดี้ ฮอลล์ นักรณรงค์ปกป้องสิทธิแรงงานจากอังกฤษที่เขียนรายงานกล่าวหาการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ซึ่งอาจทำให้เขาถูกฟ้องร้องและติดคุกในไทยได้ กล่าวและเสริมว่า แรงงานและสหภาพแรงงานถูกกีดกันจากการอบรมภายใต้โครงการร่วมมือระหว่างภาครัฐและอุตสาหกรรม
“ในภาคสนาม ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” เขาทิ้งท้าย