เอเอฟพี - บริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลกกำลังหันหลังให้ “จีน” และทยอยย้ายกลับไปตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งหาแรงงานฝีมือได้ง่ายกว่า รายงานจากบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลติง กรุป (บีซีจี) เผยวันนี้ (23 ต.ค.)
จากการสอบถามผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ ที่มียอดจำหน่ายสินค้าไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์ พบว่า จำนวนผู้ตอบคำถามที่ยอมรับว่าบริษัทของพวกเขากำลังย้ายฐานการผลิตกลับมาสู่อเมริกาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จากเมื่อปีที่แล้ว
คณะนักวิจัยซึ่งเก็บข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคมได้ตั้งคำถามกับผู้บริหารของบริษัทต่างๆที่มีฐานการผลิตในจีนว่า“เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น ท่านคิดว่าบริษัทของท่านจะย้ายฐานการผลิตกลับไปสหรัฐฯ หรือไม่”
ผู้ที่ตอบว่า “ใช่ เรากำลังดำเนินการอย่างจริงจังอยู่แล้ว” เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16 ในแบบสอบถามชุด “เมด อิน อเมริกา, อะเกน” จากสถิติเดิมร้อยละ 13 ในปีที่แล้ว และเพียงร้อยละ 7 ในการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2012
แฮโรลด์ เซอร์กิน หนึ่งในผู้เรียบเรียงงานวิจัยของบีซีจี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “ตอนนี้เรากำลังเห็นปรากฏการณ์ย้อนกลับ” หลังจากสหรัฐฯ เคยสูญเสียตำแหน่งงานมหาศาลเพราะบริษัทใหญ่ๆ ย้ายฐานการผลิตไปที่จีนหมด
บีซีจี ซึ่งรับให้คำปรึกษาด้านการจัดการทั่วโลก ระบุว่า การสำรวจออนไลน์ครั้งนี้ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เรื่อยไปจนถึงเครื่องจักรกลเพื่อการขนส่ง โรงกลั่นน้ำมัน เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์อาหาร
บีซีจีระบุว่า แบบสอบถามชุดนี้มีผู้ตอบ 252 ราย เกือบทั้งหมดเป็นผู้บริหารของบริษัทซึ่งมีฐานการผลิตทั้งในสหรัฐฯและต่างประเทศ และวางจำหน่ายสินค้าเพื่อผู้บริโภคชาวอเมริกันและประเทศอื่นๆ ด้วย
ผู้บริหารที่ตอบว่าบริษัทของพวกเขาจะ “พิจารณา” ย้านฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 24 ขณะที่ร้อยละ 54 หรือเกินครึ่งระบุว่าพวกเขา “สนใจ” ย้ายฐานการผลิตกลับมายังอเมริกา ซึ่งเป็นสัดส่วนพอๆ กับเมื่อปีที่แล้ว
กว่าร้อยละ 70 ยอมรับว่า พวกเขาต้องการย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ เพราะแรงงานฝีมือหาได้ง่ายกว่า ซึ่งจำนวนผู้ที่ตอบเช่นนี้มากกว่าพวกที่อ้างเหตุผลเดียวกันเพื่อย้ายออกจากสหรัฐฯ ถึง 4 เท่าตัว
ผู้ผลิตสินค้าเพื่อวางจำหน่ายในสหรัฐฯ เกือบ 80% ชี้ว่า การผลิตสินค้าในอเมริกาจะช่วยตัดทอนห่วงโซ่ซัพพลายเออร์ และลดค่าขนส่งได้อีกด้วย
ผู้บริหารร้อยละ 71 บอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกทำให้การประกอบธุรกิจสะดวกง่ายดาย ขณะที่ร้อยละ 75 ชี้ว่า การผลิตสินค้าในอเมริกานั้นเอื้อต่อการควบคุมกระบวนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพ
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 72 มีแผนที่จะลงทุนด้านเครื่องจักรอัตโนมัติและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
“สหรัฐฯ อยู่ในจุดที่จะได้รับประโยชน์จากบริษัทซึ่งต้องการสร้างฐานการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้นทุนในการซื้อเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนเริ่มถูกลง” บีซีจีระบุ
ในส่วนของการจ้างงานก็มีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน ผู้บริหารร้อยละ 50 คาดว่าตำแหน่งงานในภาคการผลิตของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ภายใน 5 ปีหน้า และมีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่มองไปในทางตรงกันข้าม