เอเอฟพี - โบอิ้ง จำหน่ายอะไหล่เครื่องบินให้แก่สายการบินอิหร่านแอร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตจับตัวประกันที่สถานทูตอเมริกันในกรุงเตหะรานเมื่อปี 1979 ค่ายอากาศยานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ แถลงเมื่อวานนี้ (22 ต.ค.)
การซื้อขายกับอิหร่านทำรายได้ให้แก่ โบอิ้ง ราว 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ และนับเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ขาดช่วงไปนานถึง 35 ปีเพราะคำสั่งคว่ำบาตรของวอชิงตัน
“ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2014 เราได้จำหน่ายคู่มืออากาศยาน ภาพเขียนแบบ แผนที่กระดาษและข้อมูลต่างๆ ให้แก่อิหร่านแอร์” โบอิ้ง ระบุไว้ในรายงานประจำไตรมาส
กำไรสุทธิจากการซื้อขายครั้งนี้อยู่ที่ราวๆ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ รายงานระบุ
เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกใบอนุญาตให้ โบอิ้ง จัดส่ง “อะไหล่ด้านความปลอดภัย” ให้แก่อิหร่านในระยะเวลาที่จำกัด แต่ยังไม่สามารถขายเครื่องบินใหม่ให้ได้
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกใบอนุญาตดังกล่าว หลังจากที่อิหร่านและมหาอำนาจ P5+1 บรรลุข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยการควบคุมกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
โบอิ้งยืนยันว่า การจำหน่ายอะไหล่เครื่องบินให้อิหร่านครั้งนี้ “เป็นไปตามคำแนะนำของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่”
“ในอนาคตเราอาจจะจำหน่ายสินค้าให้อิหร่านเพิ่มเติม ตามขอบเขตของใบอนุญาตนี้”
ฝูงบินอิหร่านแอร์บางส่วนเป็นเครื่องบินโบอิ้งที่ซื้อและส่งมอบก่อนการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979
บริษัทสัญชาติอเมริกันอื่นๆ ก็แบะท่าว่าอยากจะกลับไปทำธุรกิจกับอิหร่านเช่นกัน รวมถึง เจเนอรัล อิเล็กทริก ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตส่งขายอะไหล่เครื่องบินพาณิชย์ให้แก่สาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้
วอชิงตันประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามในปี 1979 และช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็ยังจับมือกับพันธมิตรตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอย่างหนักหน่วง โดยหวังกดดันให้เตหะรานต้องลดกิจกรรมนิวเคลียร์ลงเป็นระยะเวลายาวนานพอที่พวกเขาจะไม่สามารถก้าวไปถึงขั้นผลิตอาวุธทำลายล้างสูงได้
อิหร่านยืนกรานมาโดยตลอดว่า โครงการนิวเคลียร์มีวัตถุประสงค์ด้านพลเรือนเท่านั้น