xs
xsm
sm
md
lg

“อียิปต์” ห้ามนักศึกษาแดนไอยคุปต์ใช้มหาวิทยาลัย “ประท้วงผู้นำมือเปื้อนเลือด” รับเปิดเทอมใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - มาตรการป้องกันการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อก่อเหตุจลาจลทางการเมืองเริ่มบังคับใช้ในภาคการศึกษาใหม่โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำ 12 แห่งทั่วอียิปต์ เพื่อป้องกันไม่ให้นักศึกษาหัวรุนแรงหนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี สามารถใช้เป็นสมรภูมิการเหมือนเช่นในปีการศึกษาที่เพิ่งสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2014 มีนักศึกษาถูกสังหาร 16 คน และจำนวนอีกนับร้อยที่ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงอีกหลายพันคนที่ต้องถูกจำคุก

มีนักศึกษาอียิปต์จำนวน 16 คนต้องจบชีวิตในปีการศึกษาที่เพิ่งสิ้นสุดไปในเดือนเดือนเมษายนล่าสุด จากการที่กลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี รวมตัวปะทะกับเจ้าหน้าที่อียิปต์หลังจากที่มอร์ซีถูกรัฐประหารในเดือนกรกฎาคม 2013 และหลังจากนั้นผู้นำกองทัพอียิปต์ และปัจจุบันผู้นำประเทศ ประธานาธิบดีอับเดล ฟาตอห์ อัล-ซิซีขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยทั่วอียิปต์ต่างตะโกน “ซิซี...ไอ้ฆาตกร” ในขณะที่บรรดานักศึกษาที่สนับสนุนอดีตผู้นำได้ขว้างหินเข้าใส่ตำรวจปราบจลาจลที่ตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา

แต่วันนี้ตึกที่เพิ่งทาสีใหม่ของทั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมสุหนี่ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ (Al- Azhar) และมหาวิทยาลัยไคโรกลับถูกล้อมด้วยรั้วโลหะสีเทาอย่างแน่นหนาที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเอกชนตั้งด่านเพื่อเช็กบัตรนักศึกษาในขณะที่เดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะเข้าสู่ตัวมหาวิทยาลัย

เอเอฟพีรายงานว่า นักศึกษามหาวิทยาลัย อัล-อัซฮาร์ จำนวนหนึ่งไม่ยอมให้สัมภาษณ์ แต่นักศึกษามหวิทยาลัยไคโรยอมให้ความเห็นเล็กน้อย ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ตรึงเครียดที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในกรุงไคโรทั้งสองแห่ง

มาตรการใหม่ที่นำมาใช้เพื่อควบคุมความสงบภายในมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจประจำมหาวิทยาลัยมีสิทธ์ไล่นักศึกษาที่ก่อความไม่สงบออกได้

อย่างไรก็ตาม ผู้นำนักศึกษาทำกิจกรรมเกรงว่า มาตรการใหม่จะขัดขวางการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย “เราหวังว่ามาตรการใหม่จะไม่จำกัดเสรีภาพ และการทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย” อาเหม็ด คาลาฟ (Aahmed Khalaf) สมาชิกของสหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยไคโรให้สัมภาษณ์

นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาบางส่วนร้องเรียนว่า มาตรการใหม่ได้ขัดขวางไม่ให้พวกเขาเข้าสู่ภายในมหาวิทยาลัย “คนพวกนั้นห้ามไม่ให้ผมเข้าไปยังแคมปัสหลักของมหาวิทยาลัย คนพวกนั้นคงคิดว่าเราเป็นพวกก่อการร้าย” ฮอสซาม คาลิด นักศึกษาวิศวะแห่งมหาวิทยาลัยไคโรให้สัมภาษณ์กับเอเอเฟพี ทั้งนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นตั้งอยู่นอกเขตแคมปัสหลักของมหาวิทยาลัย

และได้มีความไม่สงบก่อตัวขึ้นเล็กน้อย โดยกระทรวงมหาดไทยของอียิปต์แถลงว่า มีการประท้วงเกิดขึ้นใน 5 มหาวิทยาลัย หนึ่งวันหลังจากภาคปีการศึกษาใหม่เริ่มขึ้นในวันที่ 11ตุลาคม ที่รวมถึงที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์และมหาวิทยาไลไคโร โดยบรรดาผู้ประท้วงได้ทำลายเครื่องตรวจจับโลหะ

มีนักศึกษาอย่างน้อย 110 คนถูกจับกุมตัวที่บ้านของพวกเขา ซึ่งมีจำนวนมากในกลุ่มนี้ถูกตำรวจเข้าบุกจับกุมก่อนฟ้าสางในสัปดาห์ที่ผ่านมา แอมเนสตีสากลกล่าวผ่านแถลงการณ์ และย้ำว่าในบางราย “ตำรวจอียิปต์ถึงขั้นใช้กำลังเกินกว่าเหตุ”

นอกจากนี้ แอมเนสตียังแถลงต่อว่า ในการเดินขบวนสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บจากการประท้วงที่มีมหาวิทยาลัยอเล็กซานเดรีย

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนมอร์ซีกล่าวว่า จะเดินหน้าประท้วงต่อไป “เราคาดไว้แล้วว่าจะมีมาตรการเช่นนี้ออกมา แต่กฎเหล่านี้จะไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหว และทางเราจะระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ” ยูซเซฟ ซาลเฮน (Youssef Salhen) โฆษกกลุ่ม “นักศึกษาอียิปต์ต่อต้านการทำรัฐประหาร” ที่ถูกทางการอียิปต์กล่าวหาว่าเป็นอยู่เบื้องหลังความรุนแรงในรั้วมหาวิทยาลัยในรอบปี 2013

“ถ้าหากการประท้วงของเราไม่เกิดขึ้นบ่อยเหมือนในปี 2013 การประท้วงรอบใหม่จะไม่น้อยกว่าเดิมแน่นอน การประท้วงไม่สามารถหยุดแค่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะสถาบันอุดมศึกษาเป็นที่พบปะสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกฎหมายการประท้วง” ซาลเฮนแถลง

ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2013 รัฐบาลอียิปต์ได้ออกกฎหมายห้ามการประท้วงทุกชนิดยกเว้นการประท้วงนั้นจะได้รับอนุญาตจากตำรวจเสียก่อน

ด้านแกเบอร์ แนซซาร์ (Gaber Nassar)ประธานกรรมการมหาวิทยาลัยไคโรให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเอกชนแค่ทำหน้าที่เพื่อรักษาความปลอดภัยประจำประตูรั้วก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยเท่านั้น...และตั้งแต่วันแรกของการทำหน้าที่พวกเขาพบมีดและประทัดเป็นจำนวนมากที่แอบลักลอบนำเข้ามา ซึ่งอาจทำให้มหาวิทยาลัยต้องหยุดการเรียนการสอนตลอดภาคการศึกษา หรือไม่เช่นนั้นตำรวจอียิปต์จะกลับเข้ามาที่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อสถานภาพความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย”

กำลังโหลดความคิดเห็น