เอเอฟพี - ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวหาผู้นำสหรัฐฯ ว่ามีทัศนคติเชิงลบต่อแดนหมีขาว ทั้งยังเตือนอเมริกาอย่าได้คิด “แบล็กเมล์” มอสโกในเรื่องยูเครนอีก ขณะเดียวกันก็แบะท่าว่ารัสเซียพร้อมเจรจาหากสหรัฐฯ จะคำนึงถึงผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม
ปูตินซึ่งจะเดินทางเยือนเซอร์เบียในวันนี้ (16) และต่อด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่เมืองมิลานในวันศุกร์ (17) ได้เรียกร้องอย่างไม่อ้อมค้อมให้วอชิงตันคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัสเซียบ้าง โดยอ้างถึงคำพูดของบารัค โอบามา ที่กล่าวบนเวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนที่แล้วที่ว่า “ความก้าวร้าวของรัสเซีย” ในภาคตะวันออกยูเครนถือเป็น “ภัยคุกคามอันดับต้นๆ ของโลก” เช่นเดียวกับกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) และไวรัสอีโบลาที่กำลังระบาดในแอฟริกาตะวันตก
“เมื่อรวมกับมาตรการปิดกั้นเศรษฐกิจรัสเซียทุกด้าน (สิ่งที่ โอบามา ทำ) คงยากที่จะกล่าวเป็นอื่นไปได้ นอกจากคำว่าไม่เป็นมิตร” ปูติน ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์รายวัน โปลิติกา ของเซอร์เบีย
“เราหวังว่าหุ้นส่วนทุกประเทศคงตระหนักดีว่า การแบล็กเมล์รัสเซียเป็นการกระทำที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ และคงจำได้ว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์เพียงไร” ถ้อยแถลงของปูตินซึ่งเผยแพร่ผ่านทำเนียบเครมลินเมื่อค่ำวานนี้ (15) ระบุ
ประธานาธิบดีคนแกร่งของแดนหมีขาวยังกล่าวหาว่าสหรัฐฯ แทรกแซงกิจการภายในของตน และเป็นฝ่ายยุยงให้เกิดวิกฤตการณ์ในยูเครนขึ้น จากนั้นก็โยนความผิดทั้งหมดมาที่รัสเซีย
“สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปียิ่งน่าหนักใจ” ปูตินกล่าวด้วยวาทกรรมคล้ายๆ กับเมื่อช่วงสงครามเย็น
“สหรัฐฯ สนับสนุนการประท้วงที่จัตุรัสไมดันอย่างเต็มที่ จากนั้นก็ยั่วยุให้สถานการณ์บานปลายเพื่อกล่าวโทษรัสเซีย ทั้งที่ในความเป็นจริง พวกสมุนอเมริกาในกรุงเคียฟต่างหากที่ใช้นโยบายชาตินิยมบ้าคลั่ง จนทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศหันมาต่อต้านพวกเขา และทำให้ยูเครนตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง”
ปูตินซึ่งมีกำหนดพบปะกับประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครนที่เมืองมิลานในวันพรุ่งนี้ (17) เรียกร้องให้เคียฟเปิดเวทีเจรจาระดับชาติเพื่อถกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะช่วยยุติความขัดแย้งลงได้
“โอกาสที่จะลดการเผชิญหน้าทางทหาร หรือจะว่าไปก็คือสงครามกลางเมือง มาถึงแล้ว... ยูเครนควรเปิดเวทีเจรจาภายในประเทศโดยเร็วที่สุด และเชิญผู้แทนจากทุกภูมิภาคและกลุ่มขั้วการเมืองต่างๆ เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง” ปูตินกล่าว โดยมีนัยถึงกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนที่มอสโกหนุนหลังอยู่
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12) ปูตินได้สั่งให้ทหารรัสเซีย 17,600 นายถอนกำลังออกจากบริเวณพรมแดนยูเครน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการส่งสัญญาณไมตรี เพื่อโน้มน้าวให้ชาติตะวันตกยอมผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อมอสโก
ผู้นำรัสเซียกล่าวย้ำว่า มอสโกพร้อมที่จะฟื้นความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ หากฝ่ายอีกฝ่ายยอมคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัสเซียอย่างแท้จริง
“เราพร้อมที่จะเจรจาอย่างสร้างสรรค์ โดยตั้งอยู่บนหลักของความเท่าเทียม และคำนึงถึงผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ”
“ประเทศหุ้นส่วนของเราควรตระหนักว่า การกดดันรัสเซียด้วยมาตรการปิดกั้นฝ่ายเดียวอย่างไม่เป็นธรรมนั้นไม่อาจนำมาซึ่งทางออก (ของวิกฤตการณ์ยูเครน) ได้ มีแต่จะทำให้พูดคุยกันยากขึ้น”
จุดยืนที่ ปูติน มีต่อสถานการณ์ในยูเครนส่งผลให้รัสเซียถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา โดยบทลงโทษของตะวันตกเริ่มที่จะบั่นทอนเศรษฐกิจรัสเซียลงเรื่อยๆ
ปูตินเตือนอีกครั้งว่า มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้จะย้อนกลับไปทำลายโลกตะวันตกเอง โดยภาคธุรกิจของสหรัฐฯและอียูจะเป็นฝ่าย “เสื่อมเสียชื่อเสียง”
“ประเทศอื่นๆ จะต้องคิดทบทวนว่า พวกเขาควรนำเงินทุนไปฝากไว้กับระบบธนาคารของสหรัฐฯ และพึ่งพาความร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้นหรือไม่” ปูตินกล่าว
ผู้นำหมีขาวยังเรียกร้องใหบรัสเซลส์สนับสนุนโครงการสร้างท่อส่งก๊าซ เซาท์สตรีม เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป
“การขจัดอุปสรรคในโครงการท่อส่งก๊าซ เซาธ์ สตรีม มีความจำเป็นอย่างยิ่ง... ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ทั้งรัสเซียและผู้ใช้ก๊าซในยุโรป รวมถึงเซอร์เบียด้วย”
รัฐบาลบัลแกเรียได้ระงับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซส่วนที่ตัดผ่านประเทศของตน เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากทั้งอียูและสหรัฐฯ