เอเจนซีส์ – มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพคนล่าสุด เชิญชวนนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถาน และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ให้เดินทางไปร่วมพิธีมอบรางวัลโนเบลที่กรุงออสโลในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมวิงวอนให้สองประเทศเพื่อนบ้านมุ่งสร้าง “สันติภาพและการพัฒนา”
คณะกรรมการโนเบลสันติภาพได้ประกาศมอบรางวัลอันทรงเกียรติประจำปี 2014 ให้แก่ มาลาลา และ ไกลาส สัตยาร์ธี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กชาวอินเดีย
“ดิฉันอยากให้นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี มาร่วมพิธีมอบรางวัลโนเบล และจะเชิญชวนนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ ด้วยเช่นกัน” เว็บไซต์ข่าว เดคคาน โครนิเคิล อ้างคำพูดของเด็กสาวผู้เคยถูกกลุ่มตอลิบานดักยิงศีรษะจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อ 2 ปีก่อน
มาลาลา ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียและปากีสถานให้ความสำคัญต่อ “กระบวนการสันติภาพและการพัฒนา”
“ดิฉันอยากให้อินเดียและปากีสถานมาพูดคุยเรื่องสันติภาพ เน้นส่งเสริมการศึกษา และการพัฒนา... รางวัลที่ดิฉันได้รับนี้ถือเป็นรางวัลสำหรับเด็กๆ ทุกคนที่ไม่มีโอกาสได้พูด ผู้ซึ่งเสียงของพวกเขาควรเป็นที่ได้ยิน” มาลาลา ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลังเลิกเรียนเมื่อวานนี้(10) เพื่อที่ตัวเธอเองจะได้ไม่ขาดเรียน
เด็กหญิงยังกล่าวติดตลกอีกว่า รางวัลโนเบลคงไม่ช่วยให้เธอทำข้อสอบได้ดีขึ้น หรือทำให้เธอเถียงชนะพี่น้องผู้ชายของเธอ และยังกล่าวขอบคุณบิดาบังเกิดเกล้า “ที่ไม่หักปีกของหนูทิ้ง”
มาลาลา อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ นับตั้งแต่ถูกส่งตัวไปรักษาแผลบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงที่ศีรษะเมื่อปี 2012 เนื่องจากกลุ่มตอลิบานไม่พอใจที่เธอออกมาเรียกร้องสิทธิ์ในการศึกษาเล่าเรียนของเด็กผู้หญิง
นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ ได้กล่าวยกย่อง มาลาลา ว่าเป็น “ความภาคภูมิใจของชาติ”
“ความสำเร็จของเธอไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้ เยาวชนทั้งชายและหญิงทั่วโลกควรยึดการต่อสู้และความมุ่งมั่นของเธอเป็นแบบอย่าง”
ด้านประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็ได้มีสาส์นแสดงความยินดีต่อ มาลาลา โดยระบุว่า ตนรู้สึก “ทึ่ง” กับความกล้าหาญของสาวน้อยคนนี้
นายกรัฐมนตรี สตีเฟน ฮาร์เปอร์ แห่งแคนาดา แถลงหลังจากทราบผลรางวัลโนเบลว่า มาลาลา จะเดินทางไปแคนาดาเพื่อรับรางวัล “พลเมืองกิตติมศักดิ์” ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ โดยรัฐบาลออตตาวาได้ประกาศมอบความเป็นพลเมืองให้แก่เธอตั้งแต่ปีที่แล้ว
มาลาลา ยูซาฟไซ ถือเป็นชาวต่างชาติคนที่ 6 ที่ได้รับเกียรติจากรัฐบาลแคนาดา เช่นเดียวกับ องค์ทะไลลามะ, อดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ และอองซาน ซูจี วีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวพม่า