เอเจนซีส์ - ฮ่องกงคือสวรรค์ของนักชอป ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายดีไซเนอร์ระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงสินค้าของปลอมราคายวนใจและเทคโนโลยีขายกันถูกๆ ทว่าพวกผู้ค้าปลีกในเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้กำลังถูกกระทบกระเทือนหนัก หลังจากเกิดการประท้วงขนาดใหญ่ตลอด 1 สปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้นครแห่งนี้ตกอยู่ในภาวะชะงักงัน
ป้ายโฆษณาแบรนด์อินเตอร์ไม่ว่าจะเป็นหลุยส์ วิตตอง, เบอร์เบอร์รี เวลานี้ต้องแย่งชิงความสนใจกับป้ายประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งผู้นำอย่างเสรี ห้างร้านมากมายที่อยู่ใกล้สถานที่ชุมนุมพากันปิดให้บริการ ส่วนที่ยังเปิดตามปกติก็ว่างเปล่าร้างลูกค้าเป็นส่วนใหญ่
ฟรานซิส ลัน นักวิเคราะห์การเงินชี้ว่า ภาคค้าปลีกเป็น 1 ใน 4 เสาหลักของเศรษฐกิจฮ่องกงนอกเหนือจากการเงิน ขนส่งและชิปปิ้ง และอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น การที่ภาคค้าปลีกหยุดชะงักจึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่อัตราเติบโตปีนี้ของฮ่องกงก็ต่ำต้อยทำได้เพียง 2% อยู่แล้ว
เศรษฐกิจของฮ่องกงกำลังอ่อนแอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนั้น ความพยายามปราบคอร์รัปชั่นในแดนมังกร ยังส่งผลฉุดยอดซื้อหาสินค้าหรูในฮ่องกงไปด้วย
อัตราเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายใน (จีดีพี) ของฮ่องกงในไตรมาส 2 อยู่ที่แค่ 1.8% ลดจาก 2.6% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ และหากอัตราเติบโตไตรมาสปัจจุบันหดตัวลงอีก จะเท่ากับว่าฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
มองกันเฉพาะภาคขายปลีก ตลอด 8 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายปลีกโดยรวมลดลงไป 1% ในแง่มูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2013 และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป นี่อาจเป็นครั้งแรกที่อุตสาหกรรมค้าปลีกฮ่องกงหดตัวตลอดทั้งปีภายหลังจากปี 2003 เป็นต้นมา
วันศุกร์ที่แล้ว (3 ต.ค.) จอห์น จาง รัฐมนตรีคลังฮ่องกง ออกมาเตือนว่า การประท้วงกำลังคุกคามชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับแนวหน้าของโลก ตลอดจนกำลังสั่นคลอนความความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบตลาดของเขตบริหารพิเศษแห่งนี้
พวกคนทำงานตามห้างร้านขายปลีก ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าธุรกิจย่ำแย่ลงไปมากในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วง โดยที่ทั้งชาวท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างก็หายหน้าหายตาไปหมด
ชิกเคน ชาน ผู้จัดการร้านขายยา อาหารทะเลแห้ง และนมผงแห่งหนึ่งในย่านมงก๊อก หนึ่งในสถานที่ชุมนุมหลักที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านการประท้วงเมื่อวันศุกร์ เผยว่า กำไรของร้านลดลงถึงวันละ 70% ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และว่า แม้ตนเองสนับสนุนอ็อกคิวพาย เซ็นทรัลและนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่อีกใจก็รู้สึกกังวลที่ธุรกิจมีปัญหา พร้อมระบุว่ารายได้เกือบทั้งหมดของร้านมาจากนักท่องเที่ยวแผ่นดินใหญ่
ทั้งนี้ จากข้อมูลของเครดิต สวิส ภาคค้าปลีกฮ่องกงพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนอย่างมากคือ 1 ใน 3 ของยอดขายปลีกทั้งหมดในปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญ การประท้วงในฮ่องกงยังเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่เป็นเทศกาลวันชาติของจีน ซึ่งปกติแล้วจะนำนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากมาสู่เกาะที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษแห่งนี้ โดยเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่ธุรกิจค้าปลีกทำยอดขายสูงสุดรองจากเดือนธันวาคม
มีรายงานว่า บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวในจีนถูกห้ามไม่ให้สำรองที่พักเพิ่มให้คณะทัวร์ที่ต้องการเดินทางสู่ฮ่องกงในช่วงที่มีการประท้วง ส่งผลให้เจ้าของร้านค้าบางรายบนเกาะฮ่องกงโกรธเคืองผู้ประท้วง
จิมมี่ ลัค เจ้าของร้านขายยาจีนในย่านคอสเวย์ เบย์ อีกหนึ่งสถานที่ชุมนุมหลัก บอกว่า ธุรกิจหายวับ 80%
“การประท้วงครั้งนี้เป็นการยึดพื้นที่สาธารณะที่ผิดกฎหมาย 100%”
ขณะเดียวกัน หุ้นฮ่องกงร่วง 10% โดยประมาณ หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบปีไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อต้นเดือนกันยายน หุ้นภาคค้าปลีกเป็นกลุ่มที่ร่วงแรงที่สุดนับจากผู้ชุมนุมปักหลักประท้วง อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ปฏิกิริยาเริ่มต้นของตลาดต่อการประท้วงอาจตื่นตูมเกินไป
ไมเคิล คูเกลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียของ วูดโรว์ วิลสัน อินเตอร์เนชันแนล เซนเตอร์ ฟอร์ สกอลาร์ส ยืนยันว่า ฮ่องกงยังคงเป็นศูนย์กลางการเงินทรงอำนาจเหมือนเดิม
บางธุรกิจระบุว่าการประท้วงทำให้ยอดขายสินค้าบางชนิดพุ่งขึ้นลิ่วๆ
ยิป มานฟอง เจ้าของแผงลอยในตลาดวัย 75 ปี บอกว่าเขาขายร่มได้อย่างน้อย 60 คันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทว่านั่นก็เป็นเพียงจุดที่สดใสขึ้นมาบ้างในท่ามกลางยอดขายโดยรวมของเขาซึ่งตกลงไป 40%
ทั้งนี้ ร่มได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวประท้วงคราวนี้ หลังจากผู้ประท้วงได้ใช้ร่มเป็นอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองเมื่อถูกตำรวจยิงด้วยสเปรย์พริกไทย
ซาลินา จาง เจ้าของร้านขายเครื่องกีฬา ก็เล่าว่ายอดขายแว่นตาว่ายน้ำเพิ่มสูงขึ้น หลังจากผู้ประท้วงไม่น้อยนำไปใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตาของตำรวจ ทว่ายอดขายโดยรวมที่ร้านของเธอก็แย่ลงไปมากเช่นกัน
“พวกลูกค้าของเราคือนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่ ตอนนี้พวกเขามาเที่ยวที่นี้กันน้อยเหลือเกิน” เธอกล่าว