เอเอฟพี – รายงานฉบับหนึ่งซึ่งเผยแพร่วานนี้ (24 ก.ย.) ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้พบว่า เกิดเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นตามสถานศึกษาหรือย่านธุรกิจ
สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ได้รวบรวมข้อมูลจากเหตุกราดยิง 160 ครั้งที่เกิดระหว่างปี 2000 ถึงปี 2013
ขณะที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นเฉลี่ย 6.4 ครั้งระหว่างเจ็ดปีแรกของช่วงเวลาดังกล่าว แต่ในช่วงเจ็ดปีให้หลังกลับเกิดเหตุกราดยิงขึ้นเฉลี่ย 16.4 ครั้ง “ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลใจ” เจมส์ ยาคอน รองผู้อำนวยการเอฟบีไอระบุ
“แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ย้ำเตือนให้เห็นว่า เรายังจำเป็นต้องคงการเฝ้าระวังไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก”
เอฟบีไอได้ให้คำจำกัดความของการกราดยิงอย่างอุกอาจว่า คือเหตุการณ์ที่ใครสักคนพยายามสังหารผู้คนในพื้นที่พลุกพล่านแต่มีขนาดจำกัด
เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในสถานศึกษา ศูนย์การค้า หรือย่านธุรกิจ มือปืนมักใช้ปืนพกแต่บางครั้งคนร้ายก็ใช้ปืนหลายประเภทต่างกันไป
รายงานฉบับนี้ซึ่งชี้แจงว่า บรรดาหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้ทุ่มเทความพยายามป้องกันและควบคุมการกราดยิงอย่างถึงเพียงใด รายงานยังพบด้วยว่า การก่อเหตุมักเกิดขึ้นอย่างปุบปับชนิดไม่มีใครทันตั้งตัว
60 เปอร์เซ็นต์ของเหตุกราดยิงมักจบลงก่อนที่ตำรวจจะมาถึงที่เกิดเหตุ และกว่า 2 ใน 3 ของเหตุการณ์ที่สามารถระบุได้ว่ากินเวลานานเท่าไร สิ้นสุดลงภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที
*** ความหลงใหลในเหตุสังหารหมู่ ***
ยาคอนกล่าวว่า ผู้ก่อเหตุจำนวนมากได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ความหลงใหลในเหตุสังหารหมู่” และเขากล่าวเตือนว่ามีความเสี่ยงที่การกราดยิงอาจเป็นพฤติกรรมลอกเลียนแบบ
เขากล่าวว่า มีบ่อยครั้งที่ตำรวจสืบสวนพบว่า คนร้ายได้รับอิทธิพลมาจากเหตุโจมตีครั้งอื่นๆ
ก่ารโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดในจำนวนนี้ รวมถึงเหตุกราดยิงซึ่งเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี “เวอร์จิเนียเทค” เมื่อเดือนเมษายน ปี 2007 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไป 32 คน เหตุกราดยิงฐานทัพฟอร์ตฮูด เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2009 ซึ่งมีผู้ถูกสังหารไปทั้งสิ้น 13 ราย การก่อเหตุที่โรงภาพยนตร์ในเมืองออโรรา เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2012 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 12 คน และเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุก ในเมืองนิวทาวน์ มลรัฐคอนเนคติคัต เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012 ที่ส่งผลให้มีผู้สังเวยชีวิตไป 27 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 20 คน
เหตุกราดยิงทั้งหมดทำให้มีผู้เสียชีวิตและเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 1,043 คน แต่ไม่นับรวมผู้ก่อเหตุ โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มือปืนจะฆ่าตัวตายในที่เกิดเหตุ
เหตุกราดยิงเหล่านี้ 10 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นตามหน่วยงานรัฐบาล หรือสถานที่ของกองทัพ และอีก 4 เปอร์เซ็นต้เกิดขึ้นในสักการสถาน