xs
xsm
sm
md
lg

“ใครแพ้-ใครชนะ” ใน “ศึกกาซา” คราวนี้

เผยแพร่:   โดย: แรมซี บารูด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Grand victors, false defeats in Gaza
By Ramzy Baroud
03/09/2014

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ออกมาแถลงยืนยันอย่างแข็งขันว่า อิสราเอลคือผู้ “ชนะ” ในการรุกถล่มดินแดนกาซาอย่างโหดเหี้ยมเป็นเวลา 51 วันในคราวนี้ ทว่าน้ำหนักคำพูดของเขากลับถูกบ่อนทำลายจากการที่ฐานะทางการเมืองของเขากำลังโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และประเทศก็ยิ่งเกิดการแตกแยกกันหนักขึ้นทุกทีจากการศึกหนนี้ ในส่วนของฝ่ายฮามาสนั้น การที่พวกเขา “เฉลิมฉลอง” ภายหลังการหยุดยิง บางทีอาจจะทำให้ผู้ที่อยู่นอกกาซาบังเกิดความเข้าใจผิดได้เช่นกัน สำหรับดินแดนแห่งนี้แล้ว การสิ้นสุดของสงครามครั้งนี้มิได้เป็นเหตุผลอันสมควรแก่การเฉลิมฉลองเลย ทว่านี่คือโอกาสแห่งการจดจารถึงชัยชนะที่พวกเขามีเหนืออำนาจทางการทหารของอิสราเอล ซึ่งเคยข่มกดครอบงำพวกเขาจนเงยหัวไม่ขึ้นตลอดมาต่างหาก มันจึงเป็นชัยชนะอันสำคัญแม้จะน่าหดหู่เศร้าใจก็ตามที

มีบางผู้บางคนเร่งรีบหุนหันทำการวิเคราะห์ผลลัพธ์ของการที่อิสราเอลทำสงครามเป็นระยะเวลา 51 วันในดินแดนฉนวนกาซา ซึ่งขนานนามกันว่า “ยุทธการปกป้องขอบแดน” (Operation Protective Edge) โดยที่พวกเขาอาจจะละเลยปัจจัยอันสำคัญไปประการหนึ่ง ซึ่งก็คือ การสู้รบครั้งนี้ไม่สามารถวินิจฉัยตัดสินด้วยคำนิยามว่าด้วย “สงคราม” ตามแบบแผนปกติได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะนำเอาวิธีการวิเคราะห์ว่าใครแพ้ใครชนะตามแบบแผนปกติ มาใช้กับศึกคราวนี้ด้วยเช่นกัน

มันเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ? ถ้าหากจริง แล้วเราจะอธิบายว่ายังไง ในการที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ออกมาแถลงประกาศชัยชนะเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โตมโหฬารตามท้องถนนสายต่างๆ ของดินแดนกาซา เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการที่การต่อต้านของพวกเขาประสบ “ชัยชนะ” เหนืออิสราเอล? เราจะสามารถเข้าใจได้อย่างจะจะ ก็จะต้องมองปรากฏการณ์ทั้งสองด้านนี้ภายในบริบทที่ถูกต้องของมัน

ไม่นานนักหลังจากมีประกาศหยุดยิงกันในวันที่ 26 สิงหาคม เป็นอันยุติสงครามครั้งที่อิสราเอลทำลายล้างดินแดนฉนวนกาซาอย่างวินาศสันตะโรที่สุดเท่าที่ได้เคยกระทำมา เนทันยาฮูดูเหมือนหายวับไปจากฉากเหตุการณ์ สื่ออิสราเอลบางรายเริ่มต้นทำนายว่ายุคแห่งการครองอำนาจทางการเมืองของเขากำลังถึงจุดอวสานแล้ว ถึงแม้ความคิดเช่นนี้อาจจะปรากฏขึ้นมาอย่างเร่งรีบเกินควรไปสักหน่อย ทว่าใครๆ ย่อมเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมจึงมีผู้คิดอย่างนี้ ในเมื่อความรุ่งเรืองแห่งอาชีพนักการเมืองของชายผู้นี้ ที่สำคัญแล้วมาจากจุดยืน “ต่อต้านการก่อการร้าย” และวาระทางด้านความมั่นคงของเขา

เนทันยาฮูเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในช่วงระหว่างปี 1996 ถึงปี 1999 โดยที่เขาประกาศอย่างชัดเจนว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ “กระบวนการสันติภาพ” ตามข้อตกลงออสโล (Oslo "peace process") [1] ต้องพังครืนลงไป ทั้งนี้เขาโต้แย้งว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอิสราเอล ต่อมาเมื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในคณะรัฐบาลชารอน (ระหว่างปี 2003-2005) เขามีความกังวลใจจากเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี อาเรียล ชารอน (Ariel Sharon) ในเรื่องการถอนทหารออกมาจากดินแดนกาซา อันที่จริงแล้ว เป็นเพราะ “แผนการถอนตัว” ออกมาจากกาซา (Gaza "disengagement plan")[2] นี่เองที่กลายเป็นปัจจัยยุติการจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างเนทันยาฮูกับชารอน

หลังจากนั้น เนทันยาฮู ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีเพื่อต่อสู้ฟันฝ่าให้ตนเองหลุดออกมาจากภาวะที่เสมือนถูกลืมเลือนและด้อยค่า ในท่ามกลางสภาวการณ์ทางการเมืองอันซับซ้อนยุ่งเหยิงของอิสราเอล เขาต่อสู้อย่างทรหดในสมรภูมิทางการเมือง และใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงจึงประสบความสำเร็จในการรื้อฟื้นความรุ่งเรืองในอดีตของพรรคลิคุด (Likud party) ซึ่งเป็นพวกแนวคิดฝ่ายขวา ให้กลับคืนมาได้เป็นบางส่วน ทั้งนี้ที่สำคัญแล้วก็ด้วยวิธีจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มย่อยต่างๆ ในที่สุดเขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งตั้งแต่ปี 2009 และ 2013 และจากปี 2013 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนี้ของเขาในสมัยที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผู้ทำได้น้อยมากในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล

เนทันยาฮูไม่ได้เพียงแค่เป็นประดุจจอมกษัตริย์แห่งอิสราเอลเท่านั้น หากแต่ยังเป็นจอมบงการวางหมากชักใยหนุนหลังคนที่เขาเห็นชอบให้ขึ้นครองอำนาจอีกด้วย เขาสามารถทำให้เพื่อนมิตรของเขาขยับเข้ามาใกล้ชิด และทำให้ศัตรูฝ่ายตรงข้ามของเขายิ่งเคลื่อนเข้ามาใกล้เขามากกว่านั้นอีก รวมทั้งฉลาดหลักแหลมในการสร้างความสมดุล จนทำให้ผู้ซึ่งไม่น่าอยู่รวมกันได้เลย กลับรวมตัวกันอยู่ในกลุ่มพันธมิตรเดียวกันได้อย่างแปลกประหลาด เขาประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแค่เพราะเขาเป็นนักการเมืองผู้เฉียบคมและเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวเท่านั้น หากยังเนื่องจากเขาสามารถทำให้ชาวอิสราเอลรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่รอบๆ เป้าหมายหนึ่งเดียว ซึ่งก็คือ ความมั่นคงของประเทศ เขากระทำเรื่องนี้ได้ก็ด้วยการประกาศสู้รบกับ “ผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์” ซึ่งเขาหมายรวมครอบคลุมกลุ่มต่อต้านของชาวปาเลสไตน์กลุ่มต่างๆ เป็นต้นว่า กลุ่มฮามาส และในเวลาเดียวกันนั้น เขาก็เร่งสร้างการทหารของอิสราเอลให้แข็งแกร่ง เขาสามารถบงการชักจูงการอภิปรายถกเถียงทางการเมืองให้เคลื่อนไปในทิศทางที่เขาปรารถนา อย่างชนิดที่ไม่มีใครเทียมทาน แน่นอนว่านักการเมืองหน้าใหม่ที่มีแนวคิดสายกลางอย่าง ยาอีร์ ลาปิด (Yair Lapid) หรือกระทั่งพวกฝ่ายขวาและพวกสายเหยี่ยวขวาจัดอย่าง อวิกดอร์ ลีเบอร์แมน (Avigdor Lieberman) และ นัฟตาลี เบนเนต (Naftali Bennet) ล้วนแล้วแต่ยังห่างชั้นจากเขานัก

แต่แล้ว กาซาก็เกิดสงครามขึ้นมา โดยมีความเป็นไปได้ว่า มันเป็นการคาดคำนวณอย่างผิดพลาดครั้งใหญ่โตที่สุดของเนทันยาฮู กระทั่งบางทีอาจจะถึงกับกลายเป็นตัวนำไปสู่การตกลงจากอำนาจของเขาก็ได้ ทั้งนี้นอกจากโพลคะแนนความยอมรับผลงานของเขาได้ตกลงอย่างฮวบฮาบ จากระดับ 82% ในวันที่ 23 กรกฎาคม มาเหลือไม่ถึง 38% เพียงไม่นานก่อนมีการประกาหยุดยิงคราวล่าสุดนี้แล้ว อากัปกิริยาและภาษาถ้อยคำของชายผู้นี้เองในระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการหยุดยิงของเขา ก็กำลังบอกเล่าอะไรเยอะแยะทีเดียว

เขาดูเหมือนกับอยู่ในสภาพสิ้นหวังและมุ่งแก้ต่างเอาตัวรอด โดยพยายามหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า กลุ่มฮามาสประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการทำสงครามที่ตั้งเอาไว้ได้ ทั้งๆ ที่ในทางเป็นจริงแล้วมันเป็นอิสราเอลต่างหาก ไม่ใช่ฮามาสหรอก ซึ่งกระตุ้นยั่วยุให้เกิดสงครามคราวนี้พร้อมกับระบุวัตถุประสงค์ประการต่างๆ ที่ตนต้องการจากการสู้รบ โดยที่ปรากฏว่าไม่มีข้อใดบรรลุเลย จากนั้นฮามาสจึงตอบโต้ในแบบมุ่งล้อเลียนคำแถลงของฝ่ายอิสราเอล เจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮามาสผู้หนึ่งอธิบายกับโทรทัศน์อัล-ญะซีเราะห์ (Al-Jazeera) ว่า ฮามาสจะกำหนดวัตถุประสงค์อะไรจริงจังได้ ในเมื่อตนเองไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มสงคราม และในตอนนั้นก็ไม่ได้มีข้อเรียกร้องเฉพาะเจาะจงใดๆ เลย ข้อเรียกร้องต่างๆ ของฮามาสเพิ่งกำหนดกันออกมา ในระหว่างการเจรจาหยุดยิงหลายๆ รอบซึ่งจัดขึ้นที่อียิปต์หลังจากเกิดสงครามแล้ว และอันที่จริงข้อเรียกร้องเหล่านี้บางข้อ มาถึงตอนนี้ฮามาสก็ทำได้สำเร็จแล้ว

เนทันยาฮูจึงกำลังบิดผันถ้อยคำภาษา และกำลังบิดเบือนความจริง ด้วยความพยายามอย่างหมดท่าที่จะทำคะแนนให้ได้รับชัยชนะขึ้นมาบ้างในทางการเมือง หรือไม่ก็เพียงแค่ที่จะรักษาหน้าเอาไว้เท่านั้น ทว่าแทบไม่มีใครเชื่อถือให้ราคาเอาเลย

ในข้อเขียนที่ปรากฏอยู่ใน “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม อาเรียล อิลัน รอธ (Ariel Ilan Roth) ได้ให้ข้อสรุปล่วงหน้าเกี่ยวกับสงครามกาซาคราวนี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ พิสูจน์ว่าเขาทำนายถูกเพียงส่วนเดียว เขาเขียนเอาไว้ยังงี้ “ไม่ว่าการสู้รบกันระหว่างฮามาสกับอิสราเอลจะยุติลงอย่างไรและยุติลงเมื่อใด มี 2 สิ่งซึ่งแน่นอนเลยว่าจะต้องเกิดขึ้น อย่างแรกคืออิสราเอลจะต้องสามารถอวดอ้างได้ว่าประสบชัยชนะในทางยุทธวิธี และอย่างที่ 2 ก็คืออิสราเอลจะประสบความพ่ายแพ้ในทางยุทธศาสตร์”

คำทำนายนี้มีส่วนผิด ตรงที่ว่าในคราวนี้แม้กระทั่งการที่อิสราเอลจะอ้างว่าได้รับชัยชนะในทางยุทธวิธี ก็ยังถูกคัดค้านไม่ยอมรับกันเลย ซึ่งนับว่าแตกต่างไปจากสงครามครั้งก่อนๆ โดยเฉพาะที่โด่งดังที่สุดคือครั้งที่อิสราเอลขนานนามว่า “ยุทธการแคสต์หลีด (Operation Cast Lead) ปี 2008-2009 ทางฝ่ายต่อต้านในกาซาจะต้องเรียนรู้สรุปบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตของตนเองมาเป็นอย่างดี จึงสามารถที่จะยืนหยัดอย่างทรหดในสงครามอันยาวนาน 51 วัน และบรรลุผลลัพธ์ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการสู้รบขัดแย้งกันในกาซาทุกๆ ครั้งในอดีต ทั้งนี้ สิ่งที่มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ เมื่อตอนที่มีการประกาศการหยุดยิงซึ่งมีอียิปต์เป็นคนกลางนั้น ทหารอิสราเอลอยู่ในสภาพที่ถูกผลักดันออกไปพ้นจากพรมแดนของกาซาทุกผู้ทุกคนแล้ว

แทบจะทันทีหลังจากทำข้อตกลงหยุดยิงกันได้ เจ้าหน้าที่ของฮามาสคนหนึ่งจากดินแดนกาซาก็ได้อ่านคำแถลงซึ่งมีเนื้อหาชนิดท้าทายอิสราเอลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือ เขาได้เรียกร้องชาวอิสราเอลซึ่งได้อพยพเข้ามาและกำลังพำนักอาศัยอยู่ตามตำบลต่างๆ บริเวณชายแดน ให้เดินทางกลับบ้านไปเสีย อีกไม่นานต่อจากนั้น นักรบจำนวนหลายร้อยคนซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มชาวปาเลสไตน์ทุกๆ ฝักฝ่าย รวมทั้งกลุ่มฟาตาห์ด้วย ต่างพากันยืนบนซากปรักหักพังของเขตเชไจยะ (Shejaiya) อันเป็นย่านพำนักอาศัยในนครกาซาซิตี้ อบู อูบัยดาห์ (Abu Ubaydah) ผู้นำของขบวนการต่อต้านในกาซา ประกาศก้องว่า “ในหมู่พวกเรานั้น เราไม่มีช่องว่างเหลือเผื่อเอาไว้ให้สำหรับอาหรับที่อ่อนแอและขี้แพ้หรอก” ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากมายออกมากอดจูบต้อนรับเหล่านักรบ

เขาเองก็ประกาศว่าได้รับชัยชนะในบางรูปบางแบบ แต่คำแถลง “ชัยชนะ” ของเขามีอะไรแตกต่างไปจากของเนทันยาฮูหรือเปล่า?

“อิสราเอลนั้นมีประวัติศาสตร์ในเรื่องที่ชอบอวดอ้างชัยชนะในขณะที่ตามความเป็นจริงแล้วพวกเขาประสบความพ่ายแพ้ ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือสงครามเดือนตุลาคม 1973” รอธ เขียนเอาไว้เช่นนี้ใน “ฟอเรนจ์ โพลิซี” ความแตกต่างระหว่างคราวนั้นกับคราวนี้อยู่ตรงที่ว่า ในคราวนั้นมีผู้คนจำนวนมากมายในอิสราเอลยอมรับเชื่อถือในชัยชนะอันจอมปลอม ทว่าสำหรับครั้งนี้พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมเชื่อ ดังที่ปรากฏอยู่ในผลการสำรวจความคิดเห็นของสำนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮาเรตซ์ (Haaretz), ช่อง 2 (Channel 2), หรือเจ้าอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกร้าวภายในชนชั้นนำทางการเมืองของอิสราเอล ก็ขยายกว้างมากขึ้นกว่าที่ปรากฏอยู่ในระยะหลายๆ ปีก่อนหน้านี้

เราจะไม่พูดถึง “ชัยชนะ” ของฝ่ายอิสราเอลนี้ก็ได้ แต่กระนั้น “ชัยชนะ” ของฝ่ายต่อต้านในกาซา ย่อมไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ ภายในบริบทเดียวกันกับคำนิยามเรื่องชัยชนะ (หรือชัยชนะจอมปลอม) ของอิสราเอลเอง ทว่า “ชัยชนะ” ของฝ่ายต่อต้านในกาซานั้น มองเห็นได้อย่างแน่นอนชัดเจน จากการที่พวกเขา “สามารถที่จะก่อให้เกิดพลังแห่งการกีดขวางการป้องปราม (อิสราเอล) ขึ้นมา อีกทั้งกำลังแสดงให้เห็นความหยุ่นตัวและความเข้มแข็งในระดับเหลือเชื่อ แม้กระทั่งเมื่อพวกเขามีแต่อาวุธเก่าๆ พื้นๆ เท่านั้น” ทั้งนี้ตามการแจกแจงของ ซามาห์ ซาบาวี (Samah Sabawi) นักเขียนชาวปาเลสไตน์

แนวความคิดที่เคยเชื่อถือกันเหลือเกินในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองของอิสราเอลที่ว่า อิสราเอล และบุคคลเฉกเช่นเนทันยาฮู สามารถที่จะใช้ชาวปาเลสไตน์มาเป็นสนามทดสอบอาวุธ หรือเป็นเครื่องมือเพื่อหนุนส่งเพิ่มพูนคะแนนความนิยมของตนเองนั้น มาถึงเวลานี้ดูเหมือนมันจะล้มละลายจบสิ้นลงไปแล้ว กระทั่งคำคมที่เคยฟังดูฉลาดหลักแหลมของชารอนที่ว่า สิ่งซึ่งจะต้องกระทำก่อน เพื่อให้เกิดความสงบหรือเกิดสันติภาพขึ้นมาได้นั้น ก็คือชาวอาหรับและชาวปาเลสไตน์ “จะต้องถูกตี” และ “จะต้องตีให้เจ็บๆ” ตอนนี้ก็ได้ถูกท้าทายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล

“การเฉลิมฉลอง” การหยุดยิงที่บังเกิดขึ้นในกาซานั้น ไม่ได้เป็นการฉลองชนิดเดียวกับที่จะติดตามมาภายหลังแข่งขันฟุตบอลชนะ ถ้าเข้าใจว่ามันคือการแสดงออกซึ่งความปลาบปลื้มยินดีเท่านั้นแล้ว ก็เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเลย อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมของกาซา เพราะการฉลองครั้งนี้อยู่ในลักษณะเป็นการประกาศป่าวร้องร่วมกันของประชาชนจำนวนมากมายในกาซามากกว่า เป็นการประกาศป่าวร้องร่วมกันของประชาชนผู้ซึ่งสูญเสียประชากรของพวกเขาไป 2,143 คน โดยที่ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นพลเรือน แล้วยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่พิกลพิการอีกกว่า 11,000 คนที่จะต้องเยียวยาดูแล ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงบ้านเรือนกว่า 18,000 หลัง, โรงเรียน 75 แห่ง, โรงพยาบาลหลายแห่ง, มัสยิด, และโรงงานตลอดจนร้านค้าหลายร้อยแห่ง ซึ่งถูกทำลาย ทั้งแบบยับเยินไปหมดและแบบเสียหายเป็นบางส่วน

ไม่ใช่หรอกครับ มันก็ไม่ใช่เป็นการประกาศป่าวร้องเพื่อแสดงการท้าทายในเชิงสัญลักษณ์ด้วยเช่นกัน หากแต่นี่คือการส่งข้อความไปถึงอิสราเอลว่า ขบวนการต่อต้านเวลานี้ได้เติบใหญ่เข้มแข็งแล้ว และอิสราเอลซึ่งเคยมีฐานะความเหนือกว่าอย่างสุดๆ ในทางการทหาร ชนิดที่ทำให้พวกเขาตัดสินได้ตามใจชอบว่าจะเริ่มเปิดสงครามเมื่อใดและจะให้มันสิ้นสุดลงอย่างไรนั้น มาถึงตอนนี้อิสราเอลจะทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว

เราคงต้องรอให้อนาคตเท่านั้นแหละครับมาเป็นตัวตัดสินว่า การประเมินเช่นนี้มีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนมันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างไรบ้างต่อดินแดนเวสต์แบงก์ (West Bank ดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน) และเมืองเยรูซาเลมฟากตะวันออก (East Jerusalem) ซึ่งเวลานี้อยู่ใต้การยึดครองของกองทหารอิสราเอล เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากทีเดียวว่า เรื่องการ “ปลดปล่อยเยรูซาเลม” กลายเป็นเนื้อหาสำคัญที่สุดในการแสดงออกของบรรดาชาวปาเลสไตน์ผู้ออกมาเฉลิมฉลองในกาซา ส่วนเนื้อหาสำคัญอีกประการหนึ่งได้แก่การยืนยันให้รักษาความสามัคคีแห่งชาติในระหว่างชาวปาเลสไตน์ทั้งมวลเอาไว้ ทั้งนี้ กระแสความสำนึกตื่นตัวเช่นนี้แหละคือเหตุผลอันแท้จริงตั้งแต่แรกแล้วที่ผลักดันให้เนทันยาฮูตัดสินใจเปิดฉากทำสงครามในกาซาของเขาคราวนี้

การอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับการต่อต้าน หรือที่เรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “al-Muqawama” กำลังกลายเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลครอบงำเหนือกว่าเรื่องอื่นใดในปาเลสไตน์เวลานี้ การถกเถียงกันดังกล่าวนี้ไปไกลเกินกว่าประเด็นปัญหาซึ่งได้เคยทำให้ชาวปาเลสไตน์กลุ่มและฝักฝ่ายต่างๆ แตกแยกห่างเหินกัน รวมทั้งไปไกลเกินกว่าการอภิปรายอันน่าเบื่อหน่ายเกี่ยวกับ “การเจรจาสันติภาพ” ซึ่งไม่ได้ทำให้ชาวปาเลสไตน์ได้ดอกผลอะไรขึ้นมาเลย นอกจากการเสียดินแดน, ความแตกแยกทางการเมือง, และการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างมากมาย อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวนี้ยังกำลังดังกึกก้องอยู่ในเขตเวสต์แบงก์แล้วด้วย ทว่ามันจะแปรเปลี่ยนไปเป็นอะไรต่อไปในอนาคตนั้นยังคงต้องคอยเฝ้าจับตาดู เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า องค์การบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority ใช้อักษรย่อว่า PA) ที่นั่นช่างอ่อนแอเหลือเกินในการรับมือกับอิสราเอล แต่กลับช่างไร้ขันติธรรมความอดทนเหลือเกินในเวลาจัดการกับชาวปาเลสไตน์ด้วยกัน ผู้เห็นต่างออกไปในทางการเมืองจากพวกตน

อิสราเอลจะต้องบีบคั้นกดดัน มะหมุด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดี PA ต่อไปอีกอย่างแน่นอน ในการแถลงข่าวครั้งแรกของเขาภายหลังการหยุดยิงในกาซา เนทันยาฮูก็ได้กล่าวย้ำ ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ อย่างเดียวกันนี้อีก โดยเขากล่าวว่า อับบาส “จำเป็นต้องเลือกว่าเขาจะอยู่กับฝ่ายไหน”

หลังจากล้มเหลวไม่เป็นท่าในการยุติกระแสการต่อต้านในกาซา เนทันยาฮูก็ไม่เหลือมุกอะไรที่จะนำมาเล่นได้อีก นอกเหนือจากการกดดันบีบคั้น อับบาส ผู้ซึ่งปัจจุบันอายุ 79 ปี และภายหลังจากสงครามกาซาคราวนี้แล้ว ไม่ว่าเขาจะเลือกอยู่ฝ่ายไหน มันก็แทบไม่มีความหมายอะไรทั้งนั้นแหละ

หมายเหตุผู้แปล
[1] “กระบวนการสันติภาพ” ตามข้อตกลงออสโล (Oslo "peace process") ข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) นั้น เป็นชื่อเรียกข้อตกลงชุดหนึ่งที่กระทำขึ้นระหว่างรัฐบาลอิสราเอลกับองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization ใช้อักษรย่อว่า PLO) โดยที่ ข้อตกลง ออสโล 1 (Oslo 1 Accord) ลงนามกันในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อปี 1993 และข้อตกลง ออสโล 2 (Oslo 2 Accord) เซ็นกันที่เมืองตาบา (Taba) ประเทศอียิปต์ ในปี 1995 ข้อตกลงออสโลเป็นหลักหมายแสดงถึงการเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ขึ้นมา โดยอิงตามมติฉบับที่ 242 และ 338 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ข้อตกลงออสโล กำหนดให้มีการก่อตั้งองค์การบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority ใช้อักษรย่อว่า PA) เพื่อทำหน้าที่บริหารปกครองตนเองอย่างจำกัดในส่วนต่างๆ ของดินแดนชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครองอยู่ (ซึ่งตามสภาพที่เป็นอยู่เวลานี้ประกอบด้วย เขตเวสต์แบงก์ รวมถึงซีกตะวันออกของนครเยรูซาเลม และเขตฉนวนกาซา) รวมทั้งรับรองว่าบัดนี้ PLO มีฐานะเป็นคู่เจรจาถาวรของอิสราเอลในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่ โดยประเด็นปัญหาสำคัญที่สุด ได้แก่ เส้นพรมแดนของอิสราเอลกับปาเลสไตน์, นิคมชาวอิสราเอลที่ตั้งอยู่ในเขตของปาเลสไตน์, ฐานะของนครเยรูซาเลม, ปัญหาว่าด้วยการคงทหารอิสราเอลและการควบคุมเหนือปาเลสไตน์ หลังจากที่อิสราเอลยอมรับรองรัฐปาเลสไตน์แล้ว, และสิทธิที่จะกลับคืนที่อยู่อาศัยเดิมของชาวปาเลสไตน์ซึ่งต้องพลัดถิ่นจากการเข้ามาของชาวอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงออสโล ยังไม่ได้ถึงกับเป็นคำมั่นสัญญาให้จัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่เป็นเอกราชขึ้นมา

สำหรับกระบวนการสันติภาพตามข้อตกลงออสโลนั้น เริ่มต้นขึ้นมาในปี 1993 ด้วยการเจรจาอย่างลับๆ หลายครั้งระหว่างอิสราเอลกับ PLO ซึ่งส่งผลให้ PLO ยอมรับรองรัฐอิสราเอล และอิสราเอลยอมรับรอง PLO ว่าเป็นผู้แทนของประชาชนชาวปาเลสไตน์ และมีฐานะเป็นฝ่ายหนึ่งในการเจรจาทำความตกลงกัน จากนั้นกระบวนการนี้ก็อยู่ในสภาพของวัฏจักรแห่งการเจรจากัน, การชะงักงัน, การไกล่เกลี่ย, การเริ่มต้นเจรจากันใหม่, และการชะงักงันอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างเวลาเหล่านี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถทำข้อตกลงกันได้จำนวนหนึ่ง จวบจนกระทั่งกระบวนการสันติภาพออสโลต้องยุติลง ภายหลังความล้มเหลวของการเจรจาสุดยอดแคมป์เดวิด (Camp David Summit) ในปี 2000 และเกิด “การลุกขึ้นสู้ครั้งที่ 2” ของชาวปาเลสไตน์ (Second Intifada)
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] “แผนการถอนตัว” ออกมาจากกาซา (Gaza "disengagement plan) หมายถึงการที่กองทัพอิสราเอลถอนตัวออกมาจากดินแดนกาซา และรื้อถอนนิคมชาวอิสราเอลทั้งหมดที่อยู่ในดินแดนของปาเลสไตน์แห่งนี้ ตลอดจนอพยพนิคมขนาดเล็กอีก 4 แห่งในบริเวณตอนเหนือของเขตเวสต์แบงก์เมื่อปี 2005

แผนการถอนตัวนี้เสนอโดยนายกรัฐมนตรี อาเรียล ชารอน ของอิสราเอล และคณะรัฐมนตรีอนุมัติรับรองในวันที่ 6 มิถุนายน 2004 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2005 พลเมืองอิสราเอลซึ่งปกติไม่ยอมรับแพกเกจการชดเชยจากรัฐบาลและไม่อพยพออกจากที่พักอาศัยของพวกตนด้วยความสมัครใจก่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 15 สิงหาคม 2005 จะถูกกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอลเข้ารื้อถอน ทั้งนี้การอพยพผู้คนและการรื้อถอนทำลายสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนการถอนเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอิสราเอลตามแผนการนี้ ได้กระทำเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2005

ชารอนเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับแผนการถอนตัวนี้ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2003 โดยเขาเน้นย้ำว่า “นิคมซึ่งจะถูกโยกย้ายออกมา คือพวกซึ่งจะไม่ได้ถูกรวมเอาไว้ในดินแดนของรัฐอิสราเอล ภายใต้กรอบโครงของข้อตกลงถาวรใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ในเวลาเดียวกันนั้น ภายใต้กรอบโครงของแผนการถอนตัวนี้ อิสราเอลก็จะเพิ่มความเข้มแข็งในการควบคุมเหนือพื้นที่ต่างๆ ภายในดินแดนแห่งอิสราเอล ซึ่งประกอบกันเป็นส่วนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของรัฐอิสราเอล ในข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

แรมซี บารูด เป็นนักวิชาการระดับปริญญาเอก (PhD scholar) ในด้านประวัติศาสตร์ของประชาชน (People's History) ณ มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) เขายังเป็นบรรณาธิการจัดการของ “Middle East Eye” บารูดเป็นคอลัมนิสต์ที่มีบริษัทตัวแทนนำไปจัดจำหน่ายในระดับระหว่างประเทศ, เป็นที่ปรึกษาฝ่ายสื่อ, เป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งของเว็บไซต์ PalestineChronicle.com หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือเรื่อง My Father Was A Freedom Fighter: Gaza's Untold Story จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พลูโต เพรส (Pluto Press, London)
กำลังโหลดความคิดเห็น