เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ออกมาระบุในวันนี้ (19 ส.ค.) ว่าเกาะภูเขาไฟที่เกิดขึ้นใหม่นอกชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่นอาจจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้ หากส่วนที่ลาดชันของเกาะแห่งนี้ที่เกิดจากการแข็งตัวของลาวาพังถล่มลงไปในทะเล
เกาะแห่งนี้ที่ปรากฏขึ้นกลางทะเลเมื่อปีที่แล้ว มีขนาดเล็กแต่กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งได้กลืนกินเกาะนิชิโนะชิมะซึ่งเป็นเกาะเดิมที่มีอยู่แล้ว เกาะดังกล่าวมีขนาดปัจจุบันอยู่ที่ 1.26 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางใต้เป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร
ขณะที่ปล่องภูเขาไฟบนเกาะแห่งนี้ยังคงพ่นลาวาออกมาประมาณ 2 แสนลูกบาศก์เมตรในแต่ละวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอจะถมสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกได้ถึง 80 สระ ลาวาเหล่านี้ไหลมาแข็งตัวสะสมอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ
ฟูกาชิ มาเอโนะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของสถาบันวิจัยแผ่นดินไหวในมหาวิทยาลัยโตเกียว เตือนว่า ถ้าลาวายังคงถูกพ่นออกมาทับถมกันทางด้านตะวันออกของเกาะอย่างต่อเนื่องไปแบบนี้ ส่วนที่ลาดชันของเกาะอาจจะพังถล่มลงมาและทำให้เกิดคลื่นสึนามิ
เขาระบุว่า การพังถล่มลงมาของลาวาที่แข็งตัวแล้วขนาด 12 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาด 1 เมตร ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วยิ่งกว่ารถไฟชิงกันเซน (รถไฟหัวกระสุน) พุ่งเข้ากระทบเกาะชิชิจิมะที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 130 กิโลเมตรภายในเวลาแค่ 18 นาทีเท่านั้น
ทั้งนี้ เกาะชิชิจิมะ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านประมาณ 2,000 คน ถือเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะโอกาซาวาระ หมู่เกาะที่ยังคงอุดมไปด้วยป่าสีเขียวและอยู่ห่างไกล เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงโตเกียว
“วิธีที่ดีที่สุดในการเฝ้าระวังและป้องกันภัยธรรมชาติจากเกาะนี้ได้ นั่นคือการติดตั้งระบบตรวจจับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเอาไว้ใกล้ๆ กับเกาะแห่งนี้ แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ใครขึ้นไปบนเกาะ” มาเอโนะ กล่าว
ทางด้านเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นรายหนึ่ง ผู้ที่คอยทำหน้าที่สังเกตการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ระบุว่า ทางสำนักงานกำลังจับตามองดูว่ามีสัญญาณที่จะบ่งชี้ถึงเหตุร้ายแรงใดๆ บ้างหรือไม่
“เราศึกษาสถานการณ์จำลองเมื่อเช้านี้ และก็คิดว่าจะขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านพยากรณ์แผ่นดินไหว ถึงความเป็นไปได้ที่เหตุร้ายจะเกิดขึ้น รวมถึงควรจะมีมาตรการรับมือแบบใดออกมาบ้าง” เจ้าหน้าที่สำนักอุตุฯ กล่าว