เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดียเปิดเผยว่า รัฐกัว หรือรัฐโคอา ของอินเดียกำลังจะจัดตั้ง “ศูนย์กักกัน” เพื่อรองรับชาวต่างชาติ ซึ่งอยู่อาศัยในรัฐริมชายฝั่งยอดนิยมจนเลยกำหนดเวลาที่ทางการอนุญาต
มโนฮาร์ ปาร์ริการ์ มุขมนตรีรัฐกัวกล่าวในที่ประชุมสภารัฐกัววานนี้ (6 ส.ค.) ว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า จะมีการจัดตั้งศูนย์กักกันขึ้นมา ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางของแดนภารตะ
ปาร์ริการ์กล่าวว่า “ชาวต่างชาติจะถูกกักตัวไว้ที่ศูนย์กักกันแห่งนี้จนกว่าประเทศแม่จะมาติดต่อขอรับตัวพวกเขากลับไป” พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ก็พบว่ามีชาวต่างชาติ 143 คน ถูกทางการลงบันทึกว่าพักอาศัยในรัฐกัวเกินระยะเวลาที่กำหนดในวีซ่า หรือเดินทางโดยไม่มีพาสปอร์ตที่ถูกต้องตามกฎหมาย
มุขมนตรีกล่าวเสริมว่า “ชาวต่างชาติที่พักอยู่อย่างผิดกฎหมายได้อาศัย (ช่องโหว่) ของกฎหมายปัจจุบัน คือเมื่อพวกเขาถูกลงบันทึกข้อหา พวกเขาชอบแกร่วอยู่ในรัฐ โดยอ้างว่าตนถูกยื่นฟ้อง (จึงต้องอยู่รอสะสางคดีความ)”
รัฐกัว ซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และมีจุดขายอย่างหาดทรายขาว ตลอดจนบรรยากาศอันสดชื่นปลอดโปร่ง นั้นสามารถดึงดูดคลื่นนักท่องเที่ยวมาเนิ่นนาน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้หันมากวาดล้างนักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมละเมิดกฎหมาย
ปาร์ริการ์กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่วีซาหมดอายุจำนวนมาก มีส่วนพัวพันกับการค้ายาเสพติด และฉวยโอกาสที่รัฐนี้ไม่มีศูนย์กักกัน หนีหายไปทันทีที่ทางการเริ่มผลักดันพวกเขากลับประเทศ
ปาร์ริการ์กล่าวว่า ชาวต่างชาติบางส่วนยังมีแนวโน้มจะทำลายหนังสือเดินทางขอตนเอง เพื่อที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียจะได้ลงบันทึกประจำวัน และทำให้พวกเขาสามารถอาศัยในรัฐนี้ต่อไปได้ โดยแสร้งทำทีว่าต้องอยู่สู้คดีในชั้นศาล
เขากล่าวว่า เมื่อไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง การตรวจสอบสัญชาติของผู้กระทำความผิดก็กลายเป็นเรื่องยาก
เมื่อปีที่แล้ว ชาวต่างชาติถูกสั่งห้ามไม่ให้ทำงานตามผับบาร์ และร้านอาหารริมชายหาด ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้รับการร้องเรียนหลายครั้งว่า มีการเลือกปฏิบัติอย่างมีอคติต่อนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2013 ปาร์ริการ์ได้นำคณะผู้แทนไปยังกรุงนิวเดลี เพื่อขออำนาจพิเศษในการห้ามขายที่ดิน เนื่องจากเกรงว่าเอกลักษณ์ของรัฐกัวอาจถูกกลืนกิน โดยคลื่นผู้อพยพที่ไม่ถูกหวงห้าม ในเวลาที่บรรดาชาวต่างชาติหน้าใหม่รวมตัวสร้างบ้านพักไว้ลงหลักปักฐานในวัยเกษียณ และหรือพักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุด
นอกจากนี้ รัฐกัวยังเริ่มกวาดล้างบรรดาไนต์คลับ หลังเกิดอาชญากรรมซึ่งเป็นที่โจษจันหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงคดีข่มขืนแล้วฆ่า สการ์เล็ต คีลลิง วัยรุ่นสาวชาวอังกฤษเมื่อปี 2008