เอเจนซีส์/เอเอฟพี - กองทัพอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์เพิ่มอีก 4 คน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ในกาซาวันนี้ (25 ก.ค.) ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์มีจำนวนมากกว่า 800 คน ในขณะที่สื่อท้องถิ่นยิว เดอะเยรูซาเลมโพสต์รายงานว่า หลังจากในวันพุธ (23) มีคนงานไทยทำงานในฟาร์มที่แอชคีลอนในทางใต้ของอิสราเอล ติดฉนวนกาซา เสียชีวิตจากเศษกระสุนปืนใหญ่ของกลุ่มฮามาส ทำให้เมื่อวานนี้ (24) รัฐบาลไทยส่งสัญญาณร้องให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู สั่งย้ายคนงานไทยราว 4,000 คนที่ทำงานอยู่ทางใต้ติดฉนวนกาซาให้ออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย แต่ประธานสภาแอชคีลอน เมืองเกษตรกรรมที่เกิดเหตุกลับเห็นต่าง
อัชราฟ อัล-คูดรา (Ashraf Al-Qudra) โฆษกหน่วยกู้ภัยของปาเลสไตน์ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในวันที่ 18 ของปฏิบัติการProtective Edge ในเช้าวันนี้ (25 ก.ค.) เพื่อโจมตีบ้านหลังหนึ่งในเมือง Deir-el-Balah ทางใต้ของกาซา สังหารคนไปทั้งหมด 4 คน ในจำนวนนั้นมีผู้หญิง 2 คน อายุ 26 ปี และ 23 ปีที่กำลังตั้งครรภ์ แต่เด็กทารกสามารถช่วยชีวิตไว้ได้
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 คนที่ได้รับบาดเจ็บก่อนหน้านี้ในการถูกโจมตีในเมืองข่านยูนิส ทางใต้ของกาซา สุดท้ายคนทั้งคู่ต้องจบชีวิตลงเนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหว อัล-คูดราสรุปว่า จากทั้งหมดทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตปาเลสไตน์มีจำนวน 804 คน
โดยในวันพฤหับดี (24) มีชาวปาเลสไตน์เกือบ 100 คนต้องจบชีวิต ถือเป็นวันที่มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดในการต่อสู้ระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาส ที่ได้ยิงขีปนาวุธและปืนใหญ่เข้าใส่อิสราเอล และทำให้พลเมืองต้องเสียชีวิต 3 คน รวมถึงคนงานไทยที่ไม่ทราบชื่อ 1 ราย และทหาร IDF ต้องพลีชีพที่กาซาอีก 23 นาย
หน่วยงาน NGO ได้ประเมินการสูญเสียในเหตุการณ์ความขัดแย้ง พบว่า 80% ของผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือนปาเลสไตน์ที่มีเด็กและผู้หญิงเป็นคนส่วนใหญ่
ขณะที่ เดอะเยรูซาเลมโพสต์รายงานเมื่อวานนี้ (24) จากที่คนงานไทยเสียชีวิตทำให้รัฐบาลไทยภายใต้การบริหารของ คสช.ร้องรัฐบาลอิสราเอลของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ในวันพฤหัสบดี (24) ช่วยจัดหาที่อยู่ใหม่ให้คนงานไทยร่วม 4,000 คนที่ทำงานอยู่ทางใต้ติดฉนวนกาซา
คำร้องขอนี้มีขึ้น 1 วันหลังจากข่าวคนงานไทยในแอชคีลอนเสียชีวิตจากบาดแผลบนคอที่เกิดจากเศษกระสุนปืนใหญ่ของกลุ่มฮามาสที่ยิงจากกาซาเข้ามาโจมตีทางใต้ของอิสราเอล และทำให้แรงงานไทยกลายเป็นเป็นพลเรือนคนที่ 3 ที่เสียชีวิตในอิสราเอลนับตั้งแต่กองทัพอิราเอลเริ่มต้นปฏิบัติการ Protective Edge
“สถานทูตไทยประจำอิสราเอลได้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล และนายจ้างชาวยิวขอให้อพยพแรงงานไทยจำนวน 4,000 คนที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมใกล้กับฉนวนกาซาให้ออกจากพื้นที่เสี่ยงทันทีโดยไม่มีข้อแม้ โดยขอให้พื้นที่ใหม่นั้นห่างไปราว 10- 20 กิโลเมตร” เสก วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทยประจำกรุงเทพฯ แถลง ในขณะที่ Yair Farjoun, ประธานสภาเมืองแอชคีลอน (Ashkelon Coast Regional Council) ให้ความเห็นว่า “การต้องให้คนงานละทิ้งโมชาฟ (Moshav) หรือฟาร์มในเวลานี้ถือเป็นหายนะทางเศรษฐกิจ และความขาดแคลนด้านอาหาร” และยังแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของแรงงานไทย โดยกล่าวว่า “ท้องทุ่งนั้นเป็นเสมือนออฟฟิศของชาวเกษตรกร”
“เรารู้สึกเสียใจต่อการเสียชีวิตของแรงงานไทย แต่ทางเราได้เตรียมพร้อมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และเราจะส่งสารแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตต่อไป นอกจากนี้ทางเราจะยังคอยสนับสนุนกองกำลัง IDF และหน่วยงานความมั่นคงของอิสราเอล”
เดอะเยรูซาเลมโพสต์รายงานต่อว่า ถึงแม้จะมีการโจมตีทางอากาศระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส แต่เกษตรกรชาวยิวรวมถึงแรงงานต่างชาติยังคงทำงานต่อในท้องทุ่งเหมือนเป็นปกติ Pnina Mor Menasheos ผู้จัดการแรงงานของฮิช ทิวเนิร์สเซอร์รีส์ แอชคีลอน (Hishtil Nurseries Ashkelon) ให้ความเห็นว่า ในความดูแลของเธอมีแรงงานจำนวน 170 คนทำงานในไร่ และเรือนเพาะชำ และจากจำนวนทั้งหมดนั้นมี 50 คนเป็นแรงงานต่างชาติ และอีก 38 คนเป็นนักเรียนเกษตรกรรมจากรวันดา และฟิลิปปินส์ และ 12 คนเป็นแรงงานจากไทย “พวกเขามาทำงานทุกวัน” Menasheos ให้สัมภาษณ์กับเดอะเยรูซาเลมโพสต์ในบ่ายวันพุธ (23) “ไม่สามารถตอบแทนได้ว่า พวกคนงานเหล่านั้นไม่กลัว แต่คิดว่าคงกลัวเหมือนกับทุกคนที่นี่ แต่พวกเขาออกมาทำงานที่ไร่ทุกวัน ดิฉันต้องการปกป้องคนงานของเราไว้ ทุกคนควรทำงานภายใต้ด้วยปลอดภัย” และ Menasheos ยังเสริมต่อว่า “ได้ยินเสียงไซเรนดังทุกวันในแอชคีลอน”
ทั้งนี้ เธอในฐานะเป็นผู้จัดการแรงงานมีหน้าที่ต้องอบรมแรงงานให้รับทราบว่าต้องทำอย่างไรหากมีเสียงไซเรนดังขึ้น ทั้งนี้ภายใน 30 วินาทีพวกเขาต้องเข้าไปอยู่ในหลุมหลบภัยเรียบร้อยแล้วและอยู่ในนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที เพราะเศษกระสุนปืนตกมาใส่เหมือนห่าฝนจากการป้องกันของระบบขีปนาวุธโดมอินเตอร์เซฟต่อต้านจรวดฮามาส และ Menasheos ยังต้องอธิบายให้คนงานต่างชาติเข้าใจว่า กองทัพอิราเอลมีปฎิบัติการทหารต่อต้านกลุ่มฮามาสไม่ใช่พลเรือนปาเลสไตน์ และรวมถึงมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับแรงงานต่างชาติและแรงงานชาวยิวในท้องที่
นอกจากนี้ สื่อออนไลน์ NGO เว็บไซต์ Activestills.org รายงานเมื่อเดือนมกราคม 2014 ถึงความเป็นอยู่ชีวิตแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมที่ฟาร์มในอิสราเอล ที่เรียกว่าโมชาฟ (Moshav) ว่า มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก ไม่ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม รวมถึงขาดการเหลียวแลจากนายจ้างชาวยิว โดยพบว่าแรงงานไทยต้องอาศัยในตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกดัดแปลงเป็นที่พักสำหรับคนงานต่างด้าว
คนงานไทยที่สื่อ Activestills.org สัมภาษณ์ เปิดเผยว่าได้เงินค่าจ้าง 140 เชเคลใหม่ (สกุลเงินอิสราเอล) หรือ 40.97 ดอลลาร์ ต่อการทำงาน 8 ชั่วโมงในไร่ และ ได้รับค่าโอทีชั่วละ 20 เชเคลใหม่ หรือ 5.85 ดอลลาร์ ทั้งนี้พวกเขาทำงาน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งถูกปรับอัตราจ้างจาก 130 เชเคลใหม่ หรือ 38.04 ดอลลาร์ และเป็นเพราะมีการปรับค่าจ้างเพิ่ม ทางนายจ้างชาวยิวเร่งให้คนงานเหล่านี้ทำงานให้เสร็จเร็วขึ้นเพื่อที่จะไม่ต้องเสียค่าล่วงเวลา แต่กระนั้นค่าแรงกลับถูกจ่ายช้าไป 2 สัปดาห์
และถึงแม้กฎหมายอิสราเอลกำหนดไม่ให้คนงานภาคเกษตรกรรมทำงานนอกเวลา หรือเป็นรายชั่วโมง แต่พบว่าหากคนงานได้ทำงานเพียงครึ่งวัน พวกเขาได้รับค่าจ้างครึ่งวันไปด้วย และการจ่ายเงินตอบแทนจะจ่ายในรูปเงินสดให้กับนายหน้าจัดหางานที่พาแรงงานมาทำงานที่อิสราเอล และนำเงินเหล่านั้นจัดส่งกลับไปยังไทยต่อไป แต่การที่คนงานไทยเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทน พวกเขาต้องลงนามเซ็นเอกสารระบุว่า ได้รับค่าตอบแทนเต็มจำนวน แต่ในสภาพความเป็นจริงแรงงานเหล่านี้ไม่เคยรับรู้ถึงเงินเดือนที่ได้รับ ไม่ทราบว่าในแต่ละเดือนถูกหักไปเท่าใด ไม่เคยได้รับสลิปเงินเดือนหรือมีโอกาสเปิดบัญชีธนาคารในอิสราเอล และนอกจากต้องหาซื้ออาหารเพื่อประทังชีวิตเองแล้ว คนงานไทยในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอลยังไม่มีสวัสดิการแพทย์ เช่น ไม่เคยไปหาแพทย์เมื่อยามเจ็บป่วย หรือมีประกันสุขภาพ โดยเฉพาะคนงานที่ต้องทำหน้าที่พ่นสารปราบศัตรูพืชในไร่สวน ซึ่ง 2 เดือนก่อนต้นปี 2014 พวกเขาเพิ่งได้รับแจกหน้ากากกันสารพิษสำหรับการพ่นสาร แต่กระนั้นคนงานไทยเหล่านั้นอ้างว่าไม่มีใครอธิบายวิธีการใช้หน้ากากเหล่านั้น