รอยเตอร์ - รัฐบาลคูเวตมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชน และถอนสัญชาติบุคคล 2 รายพร้อมสมาชิกในครอบครัวซึ่งทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะรัฐมนตรีคูเวตได้อนุมัติ “นโยบายกำปั้นเหล็ก” เพิกถอนสัญชาติบุคคลที่กระทำความผิดฐานบ่อนทำลายรัฐ
สำนักข่าว KUNA รายงานว่า คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบเมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ (21 ก.ค.) ให้ใช้มาตรการเพิกถอนสัญชาติกับ อาเหม็ด อัล-ญาบร์ และ อับดุลเลาะห์ บาร์ฆาช รวมถึงพี่น้องชาย 2 คน และน้องสาวอีก 1 คนของเขา ตามคำแนะนำของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย
คำสั่งนี้จะทำให้บุคคลทั้งห้าไม่ได้รับสิทธิพิเศษที่พลเมืองคูเวตทั่วไปได้รับ ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล, การศึกษา และที่พักอาศัย แต่จะไม่ถูกเนรเทศออกจากรัฐ
ญาบร์ ซึ่งเป็นประธานสถานีโทรทัศน์ อัล-ยูม ของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และ บาร์ฆาช ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. ยังไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ใดๆ ในเรื่องนี้
นัสเซอร์ อัล-อับดาลี นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในคูเวต เผยกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลกำลังอาศัยข้อกฎหมายซึ่งบังคับใช้น้อยมากมาเป็นเครื่องมือกวาดล้างผู้ต่อต้าน เช่น กรณีของ บาร์ฆาช ซึ่งถูกถอนสัญชาติเพราะกฎหมายคูเวตห้ามพลเมืองถือ 2 สัญชาติ ส่วน ญาบร์ ถูกลงโทษตามกฎหมายคูเวตที่ห้ามพลเมืองแปลงสัญชาติกระทำความผิดใดๆ เป็นเวลา 20 ปี
เมื่อค่ำวานนี้ (22) กระทรวงสารสนเทศคูเวตยังได้เพิกถอนใบอนุญาตหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับและสถานีโทรทัศน์อีก 1 แห่ง โดย มุนีรา อัล-ฮุวัยดี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฝ่ายสื่อและสิ่งพิมพ์ เปิดเผยต่อสำนักข่าว KUNA เมื่อวานนี้ (22) ว่า สื่อมวลชนทั้ง 2 ราย “ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของใบอนุญาตอย่างสมบูรณ์”
แม้สำนักข่าว KUNA จะไม่ได้ระบุชื่อหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์ที่ถูกสั่งปิด แต่ อับเดลฮามิด อัล-ดาส บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ อะลัม อัล-ยูม และสมาชิกบอร์ดบริหารสถานีโทรทัศน์ อัล-ยูม ยอมรับว่า คำสั่งดังกล่าวมุ่งปิดกั้นการทำงานของสื่อทั้ง 2 แขนงนี้
“เราได้รับจดหมายจากกระทรวงสารสนเทศ ซึ่งมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตแผนกหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์” อัล-ดาส ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
คณะรัฐมนตรีคูเวตยังสั่งปิดสาขาของหน่วยงานสวัสดิการสังคมที่มิใช่ของภาครัฐ โดยอ้างว่ามีการฝ่าฝืนเงื่อนไขใบอนุญาต แต่นักเคลื่อนไหวท้องถิ่นชี้ว่า เป้าหมายของรัฐบาลอยู่ที่สมาคมแห่งหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายอิสลามิสต์ ภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)
รัฐบาลคูเวตให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมากกว่ารัฐอ่าวอาหรับอื่นๆ และยังมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สื่อมวลชนมีอิสระในการนำเสนอข้อมูล แต่การจัดชุมนุมเกินกว่า 20 คนยังจำเป็นต้องขออนุญาตจากทางการ