xs
xsm
sm
md
lg

ศาลบังกลาเทศสั่งจำคุกเจ้าของบริษัทที่ใช้สารพิษในยาน้ำแก้ปวด ตัวการทำเด็กตายนับร้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ศาลบังกลาเทศตัดสินให้จำเลย 3 คนต้องติดคุก เนื่องจากทำยาน้ำแก้ปวดปนเปื้อนสารพิษออกมาวางจำหน่าย ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตหลายร้อยคนในช่วงยุคทศวรรษ 1990

ผู้พิพากษา อับดูร์ ราชิด ได้ตัดสินให้จำเลยทั้ง 3 คนมีความผิดและต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี สำหรับความผิดที่ทำให้บรรดาเด็กๆ ต้องพบกับอาการไตวายหลังจากกินยาน้ำแก้ปวดพาราเซตามอลปนเปื้อนสารพิษ

ชาฮีน อาเหม็ด คาน พนักงานอัยการได้อ้างอิงคำพูดของผู้พิพากษาที่ระบุว่า "พวกเขาสมควรที่จะได้รับโทษสูงสุดภายใต้กฏหมายที่เกี่ยวกับยา สำหรับการกระทำที่เลวร้ายต่อเพื่อนมนุษย์"

จำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทยาท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า ทำการเปลี่ยนส่วนผสมของยาน้ำแก้ปวด โดยเลือกใช้ส่วนผสมที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งมักจะใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีเครื่องหนัง

เฮเลนา ปาชา เจ้าของบริษัท แอดเฟรม ฟามาซูติคอล ผู้ผลิตยาดังกล่าว ร่วมกับมิซานูร์ รามัน ผู้จัดการบริษัท ถูกตัดสินว่ามีความผิดสำหรับการผลิตยาที่ปนเปื้อนสารพิษ และถูกคุมขังทันทีหลังจากที่ได้ยินคำตัดสิน

ศาลในกรุงธากา ยังได้ตัดสินให้ "ไนเจนดรา นัต บาลา" ลูกจ้างของบริษัทที่หลบหนีไปตั้งแต่เริ่มการพิจารณาคดี ให้รับโทษสถานเดียวกัน

โศกนาฏกรรมดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมาครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อมีแพทย์หลายคนออกมาระบุว่า มีเด็กหลายร้อยรายเสียชีวิต ทำให้รัฐบาลต้องลงมาควบคุมอุตสาหกรรมยาในท้องถิ่น แต่ก็ยังมีเด็กอีกหลายสิบรายที่เสียชีวิตในปี 2009 เมื่อมีการตรวจพบอีกครั้งว่ามีสารพิษปนเปื้อนอยู่ในยาน้ำแก้ปวดพาราเซตามอล

พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง 5 บริษัท ที่ถูกกล่าวโทษว่ามีส่วนในโศกนาฏกรรม ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และอาจทำให้เด็กเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 2,000 ราย

การพิจารณาคดีของจำเลยทั้งสาม เริ่มขึ้นใหม่เมื่อปี 2009 หลังจากที่ต้องชะงักไปในปี 1994 อีกทั้งยังมีการร้องทุกข์และความล่าช้าอื่นๆ ทำให้การพิจารณาคดีอื้อฉาวนี้ในข้อหาอื่นๆ ต้องชะงักลงไป

"เราหวังว่าจะได้กลับมาสานต่อคดีนี้กับบริษัทอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำยาน้ำแก้ปวดปนเปื้อนเหล่านี้" คานบอกกับเอเอฟพี

ศาลได้ระบุว่า ทางบริษัทแอดเฟรมได้ใช้ "ไดเอทิลีน ไกลโคล" ซึ่งเป็นตัวทำละลายสารอินทรีย์ที่มีพิษร้ายแรงและมักจะใช้กันในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง ใส่ลงไปในยาน้ำแก้ปวดพาราเซตามอลแล้วจำหน่ายให้กับบรรดาโรงพยาบาลชั้นนำ

โมฮัมเหม็ด ฮานิฟ กุมารแพทย์ชั้นนำผู้เชี่ยวชาญโรคไต ได้บอกกับเอเอฟพีว่า โรงพยาบาลหลายแห่งในบังกลาเทศเริ่มพบเด็กเสียชีวิตจากอาการไตวายตั้งแต่ปลายปี 1982 แต่ก็ต้องใช้เวลานานนับสิบปีถึงจะระบุได้ว่า สาเหตุการตายนั้นมาจากสารไดเอทิลีน ไกลโคล

"กว่าจะถึงตอนนั้น ก็มีเด็กเสียชีวิตนับพันจากการได้รับสารไดเอทิลีน ไกลโคล ที่ปนเปื้อนอยู่ในยาน้ำแก้ปวด" ฮานิฟ กล่าว ทั้งนี้เขายังเป็นเจ้าของงานวิจัยเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษในปี 1995
กำลังโหลดความคิดเห็น