เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลการศึกษาล่าสุดในสหรัฐอเมริกายืนยันว่าผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองลุงแซมถูกปลดจากงานไปแล้วมากกว่า “ครึ่งแสน” ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หลังสื่อสิ่งพิมพ์มีอันต้องล้มหายตายจาก เพราะอิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของ “สื่อออนไลน์”
ผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง “ฮาวาร์ด” ร่วมกับสถาบันวิจัย “พีว รีเสิร์ช” ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯ ที่มีการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันพุธ (18) ระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2003-2013 มีผู้ประกอบวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ รวมถึง ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารในสหรัฐฯ อย่างน้อย “54,200 คน” ต้องถูกปลดออกจากงาน ส่งผลให้ช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมากลายเป็นช่วง 10 ปีที่มีผู้ประกอบอาชีพในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ต้องกลายสภาพเป็น “ผู้ว่างงาน” สูงที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองลุงแซม
ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า หายนะของผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ในสหรัฐฯ มีสาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของ “สื่อออนไลน์” ซึ่งเป็นสื่อประเภทที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างรวดเร็วและยังดึงดูด “เม็ดเงินโฆษณา” ส่วนใหญ่ออกไปจากหนังสือพิมพ์และนิตยสาร จนสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากต้องประสบภาวะ “ล้มหายตายจาก”
ผลการศึกษาที่ถูกเผยแพร่ล่าสุดนี้ ใกล้เคียงกับรายงานของสมาคมบรรณาธิการข่าวอเมริกัน (เอเอสเอ็นอี) ที่พบข้อมูลว่านับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา มีผู้สื่อข่าว-คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์มากกว่า 16,200 คน ต้องถูกปลดจากงาน ขณะที่ผู้ที่ทำงานกับนิตยสารต่างๆ ในสหรัฐฯ ถูกปลดออกมากกว่า 38,000 คน
ในขณะเดียวกัน มีข้อมูลว่าแม้สื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นขุมทรัพย์ของโฆษณา แต่กลับพบข้อเท็จจริงว่า สัดส่วนการว่าจ้าง “พนักงานใหม่” ของสื่อออนไลน์ยังคงมีเพียง 1 ใน 10 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ถูกปลดออกจากงานในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา