รอยเตอร์ส - สื่อต่างประเทศรายงานคณะผู้แทนของเหล่าผู้บัญชาการทหารไทย ออกเดินทางไปยังจีนแล้วในวันพุธ (11 มิ.ย.) เพื่อหารือเกี่ยวกับความมั่นคงของภูมิภาคและการซ้อมรบร่วม ท่ามกลางเสียงติเตียนจากชาติตะวันตกต่อการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมื่อเดือนที่แล้ว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาณจนรัตน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกลาโหมโดยพฤตินัยของไทย ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่าการหารือครั้งนี้มีเป้าหมายวางกรอบแผนงานร่วมในอนาคตกับกองทัพจีน หนึ่งในพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค แต่เขาไม่ได้เผยรายละเอียดแผนงานต่างๆ เพิ่มเติม
รอยเตอร์บอกว่าความพยายามกระชับความสัมพันธ์กับจีนของคณะผู้ปกครองทหารของไทย มีขึ้นหลังจากชาติตะวันตก ในนั้นรวมถึงพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐฯ ประณามการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมและเรียกร้องให้คืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่คณะรัฐประหารของไทยบอกว่าได้รับการสนับสนนจากจีน
“การพบปะกันครั้งนี้จะเป็นการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆ วางแผนการดำเนินการที่มีต่อไปในอนาคตและแลกเปลี่ยนมุมมองความมั่นคงของภูมิภาค” รอยเตอร์อ้างคำพูดของ พล.อ.สุรศักดิ์ หัวหน้าคณะผู้แทนของไทยบอกกับผู้สื่อข่าว “เราจะพิจารณาในขอบเขตต่างๆ ที่อาจเห็นเราเพิ่มการซ้อมรบร่วม เราจะไมพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย เพราะมันไม่เกี่ยวข้อง”
แม้ชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง แต่การพบปะกันระหว่าง พล.อ.สุรศักดิ์ กับ พล.อ.หวัง ก่วนจง รองประธานกรมเสนาธิการใหญ่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน มีขึ้นหลังจากรัฐบาลต่างชาติหลายประเทศแสดงความไม่พอใจต่อเหตุรัฐประหารในไทย ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งยกเลิกการฝึกฝนร่วมไม่กี่วันหลังทหารยึดอำนาจ แต่ในทางตรงข้ามเอกอัครราชทูตจีนและเวียดนามประจำกรุงเทพฯ ได้เข้าพบผู้บัญชาการทหารเพื่อแสดงความสนับสนุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สื่อมวลชนดังแห่งนี้รายงานต่อว่า ในวันจันทร์ (9) ได้เกิดข้อตกลงทางธุรกิจใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหาร เมื่อ ไชน่าโมบายล์ บริษัทแห่งรัฐของจีนบรรลุข้อตกลงเข้าถือหุ้น 19 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทโทรคมนาคมของไทยทรู คอร์ป มูลค่า 881 ดอลลาร์สหรัฐ
รอยเตอร์รายงานด้วยว่า การนัดพบกับจีนของคณะรัฐประหารไทย ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งหวังกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเอเชียอย่างเวียดนามและพม่าให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อตอบโต้ความก้าวร้าวหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ของปักกิ่ง
สำนักข่าวแห่งนี้บอกว่า ด้วยอาจมีเรื่องดังกล่าวติดอยู่ในความคิด สหรัฐฯ จึงตอบโต้เหตุรัฐประหารไทยอย่างจำกัดด้วยแค่ระงับความช่วยเหลือทางทหาร 3.5 ล้านดอลลาร์ ยกเลิกการซ้อมรบบางส่วน และยกเลิกแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงทางการทหารระหว่างกันเท่านั้น
โดยในส่วนของไทยนั้น ในขณะที่ดูเหมือนว่ากำลังแสวงหาความเห็นใจจากจีน รอยเตอร์บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารยังตระหนักถึงความกังวลของประเทศอื่นๆ โดยในวันพุธ (11) ได้มีการเชิญเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่างๆ 23 ชาติ ขอให้ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการเข้ายึดอำนาจ “เราไม่สามารถอยู่เพียงลำพังในโลกใบนี้ และรายได้หลักของเรามาจากการส่งออก ซึ่งต้องพึ่งพิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราไม่สามารถให้ทุกประเทศเห็นชอบด้วยทั้งหมด แต่เรามีหน้าที่ที่ต้องสร้างความเข้าใจ”
รายงานของรอยเตอร์บอกด้วยว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมาเลเซียมีกำหนดเยือนไทยในสัปดาห์หน้า ถือเป็นรัฐบาลต่างประเทศชาติแรกที่เดินทางมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร โดยถ้อยแถลงของกองทัพไทยบอกว่าการเยือนของรัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซีย ได้แสดงถึงความเข้าใจที่ดีต่อสถานการณ์ในเมืองไทย
กองทัพไทยเข้าควบคุมอำนาจตามหลังเหตุประท้วงยืดเยื้อนานกว่า 6 เดือนและเลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรงบ้างในบางครั้ง ขับไล่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยอ้างว่าที่ต้องก่อรัฐประหารก็เพื่อป้องกันเหตุนองเลือด ขณะที่รอยเตอร์อ้างรายงานของหนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าของจีน เมื่อวันจันทร์ (9) เตือนประชาชนอย่าลุ่มหลงประชาธิปไตยแบบตะวันตก พร้อมแนะให้ดูเหตุจลาจลทางการเมืองในไทยและยูเครนเป็นอุทาหรณ์