เอเอฟพี - ญาติพี่น้องผู้โดยสารบนเที่ยวบิน MH370 หลายครอบครัววันนี้ (8 มิ.ย.) ได้ตั้งเงินรางวัลมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 162 ล้านบาท) สำหรับคนวงในที่สามารถเปิดเผยข้อมูล และไขปริศนาของเครื่องบินซึ่งอันตรธานหายไปนาน 3 เดือนเต็มลำนี้ได้
บรรดาครอบครัวของผู้โดยสาร ระบุในข่าวแจกว่า การประชาสัมพันธ์ “รางวัลปริศนา MH370” (Reward MH370) ทางเว็บไซต์ระดมทุน “Indiegogo” นั้นตั้งเป้ารวบรวมเงินให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “เพื่อจูงใจให้คนวงในออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ”
เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เครื่องบินโบอิ้งลำนี้ได้ขาดการติดต่อกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ระหว่างเดินทางออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงปักกิ่ง พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 239 ชีวิต ซึ่งมีราว 2 ใน 3 เป็นผู้โดยสารชาวจีน
เชื่อกันว่า เครื่องบินโบอิ้ง 777 ลำนี้ประสบอุบัติเหตุตกทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย แต่ถึงแม้ทีมเจ้าหน้าที่จากนานาชาติจะระดมกำลังกันค้นหาในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ทว่าจนบัดนี้ ก็ยังไม่พบซากเครื่องบินแม้แต่ชิ้นเดียว ส่งผลให้ญาติผู้โดยสารพากันผิดหวัง และเจ็บปวดรวดร้าว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่ามีการปิดบังข้อมูลที่แท้จริง
อีธาน ฮันต์ ประธานบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง ผู้เป็นหัวหอกของโครงการ “รางวัลปริศนา MH370” กล่าวว่า “เรามั่นใจว่าต้องมีใครบางคนจากที่ใดสักแห่งพอจะทราบอะไรบางอย่าง ด้วยเหตุนี้เราจึงหวังว่าเงินรางวัลก้อนนี้จะสามารถโน้มน้าวให้เขาหรือเธอเปิดเผยสิ่งที่รู้”
ซาราห์ บาจซ์ (Sarah Bajc) ซึ่งเป็นคู่รักของ ฟิลิป วูด ผู้โดยสารชาวอเมริกันที่หายไปกล่าวว่า มีครอบครัวผู้โดยสารจำนวนหนึ่งร่วมกันผลักดันให้จัดการรณรงค์รูปแบบใหม่ เพื่อสืบหาความจริงในปริศนาการบินที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนครั้งนี้
เธอระบุในข่าวแจกว่า “รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ได้พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่พวกเขาไม่เปิดเผยหลักฐานให้เราทราบแม้แต่ชิ้นเดียว ซึ่งอาจเป็นเพราะการดำเนินงานที่ผิดพลาด หรือไม่ก็เพราะมีใครบางคน หรือคนบางกลุ่มจงใจเบี่ยงเบนประเด็น”
มาเลเซีย และออสเตรเลียซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในภารกิจค้นหาในจุดที่อยู่ห่างจากชายฝั่งไปไกลโข ได้ออกมาให้คำมั่นว่า จะยังตามล่าหาอากาศยานลำนี้ต่อไป
ตอนนี้ คณะทำงานจากนานาชาติกำลังตัดสินจะขยายขอบเขตการค้นหาให้ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 60,000 ตารางกิโลเมตร โดยยึดจุดที่เครื่องบินลำนี้ส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมของอินมาร์แซตครั้งสุดท้ายเป็นหลัก
นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังยื่นข้อเสนอให้บริษัทแห่งหนึ่ง เข้ามาเป็นผู้รับเหมาหลักในภารกิจค้นหาอันยาวนาน เพื่อจัดหาผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ และเรือซึ่งจำเป็นในการค้นหาใต้ทะเลลึกที่จะเปิดฉากขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้
มาเลเซียซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลผสมชุดเดิมนับตั้งแต่ปี 1957 โดยตกเป็นข่าวอื้อฉาวกว้างขวางเรื่อยมา ได้ถูกญาติพี่น้องของผู้โดยสารที่กำลังรู้สึกผิดหวังรุมประณามอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เน้นย้ำว่าได้พยายามทุกหนทางที่สามารถทำได้ และได้ทำงานร่วมกับออสเตรเลีย จีน และประเทศอื่นๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อตามหาเครื่องบินโดยสารลำนี้