xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่านวางมาตรการ “อุด” ชายแดน หลังยอดผลิต “ฝิ่น” ในอัฟกานิสถานสูงท่วมท้นเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - เพื่อรับมือกับยอดการผลิตฝิ่นซึ่งล้นทะลักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของอัฟกานิสถาน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่านจึงพยายามดำเนินมาตรการสกัดกั้นตามแนวชายแดน เพื่อยับยั้งไม่ให้มีการขนสิ่งเสพติดชนิดนี้เข้าประเทศ ด้วยการขุดคู ก่อกำแพง และดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ

เมื่อปีที่แล้ว อิหร่านได้ทุ่มงบกว่า 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 850 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการตามแนวชายแดนเพียงอย่างเดียว ซึ่งหนึ่งในโครงการเหล่านี้คือ การสร้างคันดินขนาดใหญ่ และที่ทำการหน่วยพิทักษ์ชายแดนแห่งใหม่ ตลอดจนรั้วลวดหนามยาวเหยียดตลอดแนวพรมแดนติดกับอัฟกานิสถานและปากีสถาน เป็นระยะทาง 2,000 กิโลเมตร

พลเอก อาลี โมออยเยดี หัวหน้าหน่วยปราบปรามยาเสพติดอิหร่านกล่าว ระหว่างตรวจพื้นที่ชายแดนเมื่อล่าสุดนี้ว่า “การลอบขนยาเสพติดเป็นประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน พวกขนยามีฐานะร่ำรวย พวกมันเปลี่ยนกลวิธี และใช้อุปกรณ์ทันสมัยเพื่อให้การตรวจค้นสิ่งเสพติดทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องการอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ทันสมัยเพื่อนำมาต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิผล”

อัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของอิหร่านมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทุกอย่างในการเป็นรัฐสิ่งเสพติด และเป็นแหล่งสำคัญของยาเสพติดที่หลั่งไหลเข้าสู่อิหร่าน และมุ่งหน้ายังตลาดอื่นๆ ทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ

องค์การชำนาญการด้านยาเสพติดของสหประชาชาติระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว มีการปลูกฝิ่นทั่วอัฟกานิสถานมากถึง 1,306,250 ไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้านั้นถึง 36 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้พวกเขาสามารถผลิตฝิ่นได้ถึงประมาณ 6,062 ตัน โดยสามารถกำจัดไปได้เพียง 52,500 ไร่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คาดหมายกันว่า ยอดการผลิตฝิ่นในปี 2014 นั้นจะเทียบเท่าหรืออาจพุ่งแซงหน้าตัวเลขปีที่แล้ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ฝิ่นจะครองพื้นที่มากขึ้น ในเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานซึ่งแต่เดิมก็เผชิญปัญหาอยู่แล้ว เมื่อสหรัฐฯ ระงับการส่งเงิน ตลอดจนภารกิจช่วยเหลืออื่นๆ เนื่องจากสหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารจากแผ่นดินอัฟกัน ด้านองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประมาณการว่า ครอบครัวชาวอัฟกันมากถึงราว 200,000 หลังคาเรือนมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตฝิ่น และประชาชนชาวอัฟกานิสถานติดสิ่งเสพติดชนิดนี้ราว 1 ล้านคน

ยูเอ็นประมาณการว่า เมื่อปีที่แล้ว มูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ที่มีฝิ่นเจือปนในอัฟกานิสถานอาจสูงถึงราว 3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 9.8 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)

ทั้งนี้ อิหร่านอยู่ในเส้นทางขนยาเสพติดสายสำคัญซึ่งเชื่อมต่ออัฟกานิสถานเข้ากับยุโรป และบรรดาประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย เตหะรานเผาทำลายฝิ่นทึ่ยึดมาได้ปีละราว 100 ตัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับยาเสพติด

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ชายแดนเสียชีวิตถึง 3,734 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 12,000 คนจากเหตุปะทะกับพวกลักลอบขนยาเสพติด

นอกจากนี้ อิหร่านยังร้องเรียนว่า ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการแขวนคอผู้ต้องโทษคดีลอบขนยาเสพติด ซึ่งคิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกประหารทีอิหร่าน ในแต่ละปี โดยเจ้าหน้าที่บางส่วนของอิหร่านชี้ว่า สาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ควรอนุญาตให้ขนสิ่งเสพติดผ่านพรมแดนเข้ามาได้ หากยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกรณีแขวนคอผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาลอบขนยาเสพติด

อาลี เรซา จาซีนี เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของหน่วยต่อต้านยาเสพติดอิหร่านกล่าวว่า นโยบายในการต่อกรกับขบวนการลักลอบขนยาเสพติดของอิหร่านยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เขากล่าวว่า “การอนุญาตให้ขนยาเสพติดผิดกฎหมายเข้าประเทศเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม และนโยบายของเรา เราจะยืนหยัดต่อสู้กับขบวนการลอบขนยาต่อไป ถึงแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลกก็ตาม”

ฟรีดิช สทิฟท์ เอกอัครราชทูตออสเตรียยอมรับว่า อิหร่านขาดผู้สนับสนุน แต่กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลังประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ซึ่งเป็นผู้นำที่ยึดมั่นในแนวทางสายกลางก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น