เอเอฟพี - รัสเซียยอมเลื่อนกำหนดเส้นตายที่ยูเครนจะต้องชำระหนี้ค่าก๊าซที่เหลือออกไปอีก 1 สัปดาห์ ทำให้มาตรการ “ตัดก๊าซ” อันจะส่งผลกระทบต่อยุโรปอีกนับสิบประเทศ ถูกเลื่อนเวลาออกไปด้วย วันนี้ (2 มิ.ย.)
ท่าทีรอมชอมของรัสเซียสร้างความประหลาดใจไม่น้อย และเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่รัสเซียและยูเครนจะเปิดเจรจาที่กรุงบรัสเซลส์ว่าด้วยข้อพิพาทเรื่องราคาก๊าซ เนื่องจากมอสโกได้ยกเลิกข้อตกลงจำหน่ายก๊าซราคาพิเศษแก่ยูเครน หลังรัฐบาลประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งมีจุดยืนเอียงข้างรัสเซียถูกถอดจากตำแหน่งไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ก่อนหน้านี้ รัสเซียขู่จะงดส่งก๊าซให้แก่ยูเครนซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อท่อก๊าซไปยังยุโรปชาติอื่นๆ ตั้งแต่วันพุธที่ 3 มิถุนายนเป็นต้นไป หากรัฐบาลยูเครนไม่ยอมชำระค่าก๊าซล่วงหน้า
มอสโกเคยใช้มาตรการกดดันเช่นนี้มาแล้วเมื่อปี 2006 และ 2009 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานก๊าซธรรมชาติในยุโรปอย่างกว้างขวาง
ก๊าซปรอม (Gazprom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจพลังงานของรัสเซีย ถูกนานาชาติวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลหมีขาวใช้กดดันเพื่อนบ้านที่คิดจะตีตัวออกห่างไปเข้ากับตะวันตก
บริษัทพลังงานแห่งนี้ออกมาชื่นชมยินดีที่รัฐบาลยูเครนยอมชำหนี้บางส่วนเป็นมูลค่า 786 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“เรารู้สึกยินดีที่ยูเครนชำระหนี้บางส่วนคืนมา จึงขอเลื่อนกำหนดเส้นตายในการจ่ายค่าก๊าซล่วงหน้าออกไปจนถึงวันที่ 9 มิถุนายนนี้” อเล็กเซย์ มิลเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารก๊าซปรอม ระบุในถ้อยแถลงวันนี้ (2)
รัฐบาลกรุงเคียฟชี้ว่า การที่ ก๊าซปรอม ขึ้นราคาก๊าซเป็น 2 เท่าของราคาเดิมถือเป็น “การโจมตีทางเศรษฐกิจ” ต่อยูเครน และคัดค้านข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการให้ยูเครนจ่ายค่าก๊าซล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ ก๊าซปรอม ขู่จะงดส่งก๊าซให้แก่ยูเครนตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายนเป็นต้นไป หากไม่ชำระค่าก๊าซสำหรับเดือนมิถุนายนภายในคืนวันนี้ (2)
ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียซึ่งส่งผ่านทางยูเครนช่วยตอบสนองอุปสงค์ก๊าซในยุโรปได้ถึงร้อยละ 15 ซึ่งผู้แทนพิเศษสหภาพยุโรปก็กำลังหาทางประนีประนอมกับรัสเซีย เพื่อไม่ให้ 18 ชาติยุโรปต้องเผชิญวิกฤตพลังงานในสัปดาห์นี้
ก๊าซปรอม ยังได้แถลงเป็นนัยๆ วันนี้ (2) ว่า มาตรการตัดก๊าซอาจถูกเลื่อนเวลาออกไปอีก หากยูเครนชำระหนี้บางส่วนที่คั่งค้างมาตั้งแต่งวดเดือนเมษายน และพฤษภาคม
นาฟโตก๊าซ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจพลังงานของยูเครน ระบุว่า บริษัทได้ยื่นข้อเสนอต่อ ก๊าซปรอม ให้มีการแก้ไขสัญญาซื้อขายฉบับปี 2009 ซึ่งกำหนดราคาก๊าซไว้ต่ำกว่าในปัจจุบัน
ก๊าซปรอม ประกาศว่ายินดีที่จะเจรจาขอลดราคาก๊าซ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็มองว่า การประนีประนอมน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะรัสเซียเองก็ไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์กับยุโรปย่ำแย่ลงไปกว่านี้