เอเจนซีส์ – ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ยังไม่สามารถประกาศร่วมกันในการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในวันอังคาร(20) ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่า ผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันจะมีส่วนผลักดันให้ข้อตกลงนี้สำเร็จ
สื่อ สหรัฐฯ เช่น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า ความกังวลด้านการได้เปรียบทางการค้ากลับมีผลต่อความล่าช้าในการลงนามของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ทั้งจีนและรัสเซียต่างพยายามหาข้อตกลงร่วมกันในช่วงเกือบ 10 ปี ทั้งนี้ ดิมิตรี เพรสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เปิดเผยว่า การเจรจายังคงดำเนินต่อไปหลังจาก ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิงได้พบปะกับปูตินแล้ว
สำนักข่าวซินหัว กระบอกเสียงของรัฐบาลจีนรายงานว่า หลังจากที่ผู้นำรัสเซียได้พบกับสีในเซี่ยงไฮ้ ปูตินกล่าวว่า “ผมมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า ทั้งสองฝ่ายมีความก้าวหน้าในการเจรจาด้านราคาในโปรเจกต์ก๊าซธรรมชาติเส้นทางตะวันออก”
และในแถลงการณ์ร่วมยืนยันว่า “ก๊าซธรรมชาติจะเริ่มต้นถูกส่งออกมาโดยเร็วที่สุด” ซึ่งเป็นวลีที่เห็นบ่อยครั้งในข้อตกลงก่อนหน้านั้นหลายครั้งของกาซพรอม บริษัทพลังงานรัสเซียที่มีรัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของและบริษัทก๊าซธรรมชาติจีน CNPC ที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ และมีการชี้ว่าบริษัทพลังงานทั้งสองยังไม่สามารถหาข้อตกลงด้านราคาร่วมกันได้ทันให้ผู้นำทั้งสองชาติประกาศในการพบปะของคนทั้งคู่
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ด้านพลังงานคาดการณ์ว่า จะมีข้อตกลงออกมาในที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะปูตินต้องการตอบรับข้อต่อรองที่หนักหน่วงของจีนเพื่อต้องการเปิดตลาดก๊าซธรรมชาติในเอเชีย ทดแทนตลาดในยุโรปที่หยุดนิ่ง
และมีนักวิเคราะห์อีกหลายคนเชื่อว่า เหตุการณ์ทางการเมืองมีส่วนผลักดันในข้อตกลงครั้งนี้ เพราะจีนต้องการช่วยเหลือรัสเซียในยามที่ถูกสหรัฐฯและยุโรปร่วมคว่ำบาตรจากวิกฤตยูเครน และปักกิ่งอยู่ข้างมอสโกในยามที่ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันตรึงเครียด
“จากปัจจัยส่งเสริมทางการเมืองและการค้า ผลที่ออกมาเป็นที่น่าประหลาดใจสำหรับทุกคนและที่กาซพรอม” เจมส์ เฮนเดอร์สัน นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันอ๊อกซฟอร์ดเพื่อการพลังงานสำหรับอังกฤษกล่าว และเสริมว่า “มีการคาดว่า เมื่อปูตินเดินทางมาถึงจีน และจากปัญหาที่มีในยุโรปจะเป็นแรงผลักดันให้มีการลงนามผ่านไปได้ด้วยดี”
ทั้งนี้ปูตินต้องการตกลงในราคาเสนอของจีนจากเหตุผลที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของรัสเซียที่อ่อนแอ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMFได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียประจำปีนี้เหลือแค่ 0.2%
แต่จีนยังไม่ต้องการเร่งรีบลงนามในเวลานี้ โชอิจิ อิโตะ นักวิเคราะห์อาวุโสประจำสถาบันการพลังงานเพื่อเศรษฐิกิจในกรุงโตเกียวกล่าวว่า “จีนยังมีก๊าซธรรมชาติเหลือเฟือจากเอเชียกลาง และในขณะนี้จากพม่า จนกระทั่งกลางยุค 2020 ยกเว้นรัสเซียตกลงยอมที่จะลดราคาก๊าซธรรมชาติลง มิเช่นนั้นจีนไม่มีเหตุผลที่จะต้องลงนาม”
ในไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ปูตินย้ำว่า รัสเซียเห็นอนาคตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกับจีน ที่เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจโลกแซงหน้าสหรัฐฯไปแล้ว เป้าหมายของปูตินที่จีนยังสอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์ชาตินิยมของเขาที่ให้คุณค่ากับครอบครัวและชาตินิยมจากการที่ปูตินมักจะวิพากษ์ถึงความเสื่อมทรามของค่านิยมในโลกตะวันตก
ปูตินเดินทางมาถึงเซียงไฮ้เมื่อวานนี้(20)เพื่อเข้าร่วมการประชุมเหล่าชาติเอเชียที่จัดโดยจีน สีได้ถือโอกาสต้อนรับปูตินถึงแม้จะไม่ใช่การเยือนในฐานะแขกของรัฐโดยการทำให้แน่ใจว่า เรือรบกองทัพเรือของทั้งสองประเทศที่อยู่ในระหว่างการร่วมซ้อมรบระหว่างจีนและรัสเซียในทะเลจีนตะวันออกจะเข้ามาจอดเทียบท่าที่เซี่ยงไฮ้ได้ทัน และพบปะกับปูตินเป็นการส่วนตัวในช่วงเริ่มต้น
และหลังจากการพบปะของผู้นำทั้งสอง ซินหัวรายงานว่า ทั้งสองประเทศได้เริ่มต้นเป็นพันธมิตรทางพลังงานร่วมกัน และทั้งสองชาติจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดในอุตสากรรมการพลังงาน
จีนยังคงวางตัวเป็นกลางในวิกฤตยูเครนที่รัสเซียได้ผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ แต่ดูเหมือนจะเริ่มโน้มเอียงไปให้การสนับสนุนรัสเซียจากปัญหาบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างจีนและสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา ฉี ยินฮอง (Shi Yinhong) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัย เหรินหมิน(Renmin) ในกรุงปักกิ่ง กล่าว และเสริมว่า หากข้อตกลงก๊าซธรรมชาติสามารถลุล่วงในระยะเวลาที่กำหนด จีนจะกลายเป็นชาติที่ให้ความช่วยเหลือรัสเซียด้านการเงินผ่านข้อตกลงทางการค้า