xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม 'เฟด' เพิ่มปริมาณเงินมโหฬาร แต่สหรัฐฯยังไร้เงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: มาร์ติน ฮัทชินสัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Inflation’s Broken Link
By Martin Hutchinson
23/04/2014

การปราศจากภาวะเงินเฟ้อกระฉูดรุนแรงภายในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาปรากฏอยู่เนิ่นนาน ทั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ขยายฐานปริมาณเงินอย่างมโหฬารอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้น นับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ทฤษฎีทางการเงินจะต้องมีข้อผิดพลาด หรือมิเช่นนั้น ก็ต้องเป็นเรื่องที่ว่านโยบายการเงินผ่อนปรนอย่างซูเปอร์เวอร์คงจะต้องส่งผลเป็นการสร้างพฤติกรรมสุดขั้วบางอย่างขึ้นมาในระบบการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ

เมื่อช่วงปี 2009-10 นักเศรษฐศาสตร์การเงิน ล้วนฟันธงตรงกันในเรื่องหนึ่งว่า การที่เฟดสร้างปริมาณเงิน M1 (ธนบัตร เหรียญ เงินฝากจ่ายคืน) ในรูปของเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย ขึ้นมาชนิดที่มหาศาลอย่างไม่เคยเป็นมานั้น ย่อมจะทำให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงต้องระเบิดตูมตามอย่างรวดเร็ว แต่พอมา ณ บัดนี้ การณ์ปรากฏแล้วว่าพวกเขาวิเคราะห์ผิด

เงินทุนสำรองที่เฟดสร้างขึ้นรวม 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นการเพิ่มฐานทุนขึ้นราว 3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 319% นับจากเมื่อเดือนกันยายน ปี 2008 กระนั้นก็ตาม เงินเฟ้อยังคงนิ่งสบายอย่างสุดๆ โดยเขยิบขึ้นแค่ 1.5% ในปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลสถิติดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ

ดังนั้น คำถามก็คือ ทำไมเราจึงไม่ต้องเผชิญกับความเดือดร้อนจากภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง

เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว แอลลัน เมลต์เซอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเงินคนดังแห่งมหาวิทยาลัยคาร์เน็กกี้ เมลลอน ชี้เส้นทางที่ฐานเงินจะไปสร้างปัญหาเงินเฟ้อว่า ขณะที่บรรดาธนาคารพาณิชย์มีทุนสำรองส่วนเกินนอนอยู่ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ แบงก์ควรจะนำไปปล่อยกู้แก่บริษัทธุรกิจทั้งปวง ซึ่งบริษัทก็จะนำเงินกลับมาฝากไว้กับแบงก์ พร้อมทำให้ปริมาณเงิน M2 เพิ่มทวีขึ้น และส่งผลเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างระเบิดระเบ้อ แล้วด้วยปริมาณเงินมหาศาลดังกล่าว ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงก็จะปรากฏควบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คึกคัก ที่ไม่ใช่ภาวะเงินเฟ้อที่อิงอยู่กับราคาของสินทรัพย์

ในเมื่อเส้นทางดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นจริงขึ้นมา จึงมีความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 แนวทาง กล่าวคือ ถ้าไม่ใช่ว่าทฤษฎีการเงินมีความผิดพลาด ก็ต้องเป็นเรื่องที่ว่านโยบายการเงินผ่อนปรนอย่างซูเปอร์เวอร์ (แบบว่าเวอร์เกินขอบเขตปกติอย่างสุดเหวี่ยง) คงจะต้องส่งผลเป็นการสร้างพฤติกรรมสุดขั้วบางอย่างขึ้นมาในระบบการเงินการธนาคาร

ในการนี้ ขอชี้ข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า แม้แต่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่แน่นเปรี๊ยะที่สุด ก็ไม่สามารถจะใช้งานได้เมื่อเกิดกรณีที่เวอร์จัดๆ

ตัวอย่างเช่น การพรรณนาถึงการทำงานอิสระของกลไกราคาที่อดัม สมิธ นำเสนอขึ้นมาและได้รับการยอมรับโดยนักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมด ขณะที่ผู้คนก็พากันยกย่องว่าเป็นสัจจะสากลกันเลยทีเดียวนั้น ในยุคต้นๆ ของทฤษฎีนี้ ทฤษฎีนี้เคยถูกจับเจอจุดผิดพลาดโดย ชาร์ลส์ เจนคินสัน (บิดาของอดีตนายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต เจนคินสัน ทั้งนี้ ชาร์ลส์ เจนคินสันเป็นท่านเอิร์ลที่ 1 แห่งลิเวอร์พูล และอดีตประธานคณะกรรมาธิการการค้า)

เจนคินสันสามารถชี้จุดอ่อนของทฤษฎีได้ กล่าวคือ หลังจากเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของตลาดในช่วงที่เกิดความขาดแคลนข้าวโพดอย่างร้ายแรงเมื่อปี 1800 เจนคินสันเขียนถึงเซอร์โจเซฟ แบงก์ส ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์เจ้าของการพยากรณ์การเกษตรที่เจนคินสันติดตามอยู่ ว่า

“ในยุคที่ทุกข์ยากรุนแรง ผู้ขายจะกลายเป็นเจ้าตลาด และดังนั้น ย่อมเป็นความเขลาที่จะวางความไว้ใจไว้กับอดัม สมิธ ผู้ซึ่งได้ผลักดันหลักการของเขาไว้จนล้นเกิน โดยในบางแง่มุมแล้ว หลักการนี้มีข้อผิดพลาด”

บนพื้นฐานของการวินิจฉัยดังกล่าว เจนคินสันตัดสินใจผลักดันกฎหมายข้าวโพด (Corn Act) ทำให้สามารถใช้งบประมาณแผ่นดินนำเข้าข้าวโพด และขายแก่ประชาชนในราคาที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลอังกฤษประสบความสำเร็จในการป้องกันภาวะอดอยากได้อย่างน่านิยม

อย่างไรก็ตาม 50 ปีต่อมา ลอร์ดจอห์น รัสเซล แห่งรัฐบาลพรรควิกซึ่งปักใจเชื่อมั่นในหลักการตลาดเสรีแบบอดัม สมิธ ได้ยุตินโยบายซื้อเมล็ดธัญญาหารมาขายให้ประชาชนในราคาขาดทุน แต่ผลก็คือนโยบายของลอร์ดรัสเซลได้สร้างยุคสมัยแห่งทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์

ละม้ายเหมือนกับยุคอดอยากด้วยภัยสงครามในปี 1800 และยุคที่พืชผลมันฝรั่งล้มเหลวในไอร์แลนด์ปี 1846-50 ซึ่งได้สร้างให้เกิดสถานการณ์รุนแรงที่ทฤษฎีกลไกราคาของสมิธไม่อาจจะทำงานไปตามตรรกะปกติได้นั้น นโยบายการเงินผ่อนปรนสุดโต่งที่ผู้กำหนดนโยบายของเฟดได้นำมาใช้นับจากปี 2008 ก็ได้สร้างสถานการณ์ที่กลไกตลาดปกติไม่สามารถทำงานไปตามทฤษฎีได้

การจะเข้าใจสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ เราควรย้อนกลับไปดูเอกสารของเฟดหมายเลข H8 ว่าด้วยสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในสหรัฐฯ แล้วทำการเปรียบเทียบระหว่างบัญชีงบดุลของธนาคารในช่วงเดือนมกราคม 2008 ลงมาจนถึงเดือนที่วิกฤติปะทุขึ้น กับบัญชี ณ เดือนมีนาคม 2014 เราจะพบว่า งบดุลของธนาคารได้ขยายตัวจากระดับ 10.9 ล้านล้านดอลลาร์ ขึ้นเป็น 14.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับอัตราขยายตัว 31% ซึ่งนับว่าสูงทีเดียวเมื่อเทียบกับอัตราโตของจีดีพีซึ่งอยู่ที่ระดับแค่ 16% ทั้งนี้ โปรดสังเกตว่า แม้จะเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่หลวง แต่ก็ไม่มีการออกข้อบังคับเพื่อจำกัดระบบการเงินการธนาคารซึ่งได้ขยายสัดส่วนขึ้นมากมายในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณดูองค์ประกอบของงบดุลธนาคาร คุณจะเห็นสิ่งที่บิดเบือนไปใหญ่หลวง เงินสดที่เคยอยู่ที่ระดับ 2.9% ของสินทรัพย์สุทธิ ในเดือนมกราคม 2008 ตอนนี้พุ่งขึ้นเป็น 19.3% โดยมีทุนสำรองส่วนเกินนอนกองอยู่บนงบดุลของธนาคารเหล่านี้ละม้ายเหมือนก้อนไขมันโตๆ ที่ไม่ได้ทำประโยชน์อันใดทั้งสิ้น เนื่องจากเฟดจ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 0.25% ต่อปีแก่ทุนสำรองส่วนเกินนี้ และธนาคารก็สามารถถือว่าเงินนี้เป็นศูนย์เมื่อทำการคิดคำนวณเงินทุนตามข้อกำหนดด้านการเงินการธนาคาร ดังนั้น จึงไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่ธนาคารจะต้องทำอะไรกับเงินเหล่านี้ แบบว่าเรียกเป็นเงินไม่มีต้นทุนได้เลย

สินเชื่อสุทธิ ซึ่งรวมทั้งส่วนของเงินกู้และส่วนของหลักทรัพย์ ร่วงจากระดับ 81.9%ของงบดุลรวมของธนาคาร มาเป็น 71.6% อันที่จริงแล้ว จำนวนสินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นมาแค่ 15% ต่ำกว่าการเพิ่มของจีดีพีตามราคาปัจจุบัน ดังนั้น แม้ธนาคารมีขนาดที่บวมใหญ่ขึ้นมากประมาณได้เกือบหนึ่งเท่าตัวของอัตราเติบโตของจีดีพี สินทรัพย์ที่มีการดำเนินงานจริงกลับมีการเติบโตน้อยกว่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ธนาคารได้จำกัดผลกระทบของพวกตนภายในระบบเศรษฐกิจ

ผลกระทบของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจมีความกระจ่างมากขึ้นเมื่อเราไปดูการแตกตัวเลข “สินเชื่อสุทธิ” กล่าวคือ ส่วนของพันธบัตรและหุ้นกู้ขยายตัวขึ้นจาก 10.2% ของงบดุลธนาคาร เป็น 12.8% คิดเป็นอัตราขยายตัวไม่น้อยกว่า 64% ในยามที่จีดีพีขยายตัวแค่ 16% แต่นี่เป็นการดำเนินงานที่ไม่ได้สร้างประโยชน์โภชผลแก่ระบบเศรษฐกิจเลย โดยส่งผลเป็นกำไรของธนาคารล้วนๆ มันคือการใช้เงินดอกเบี้ยระยะสั้นที่เฟดค้ำประกัน ไปกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ให้อัตราผลตอบแทน 2.7% หรือตราสารของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่ให้อัตราผลตอบแทนประมาณ 1%

ธนาคารทั้งหลายจะสามารถทำรายได้ขึ้นมา 2% จากเงินตรงนี้ พร้อมกับสามารถนำไปสร้างหนี้เพิ่มได้ เพราะกฎบาเซิลอนุญาตให้ธนาคารไม่ต้องเอาตราสารหนี้รัฐบาลมาคำนวณ การดำเนินงานแบบนี้แทบจะไม่ได้เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจเลย แต่มันคือการสนับสนุนทางการเงินที่หวนกลับมาทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลเอง

ในด้านของธนาคาร นี้เป็นอะไรที่ปลอดความเสี่ยง แต่ทว่า มันไม่ได้ปลอดความเสี่ยงจริงหรอก หากเกิดการเบี้ยวหนี้จากรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ โดยที่ระบบธนาคารของสหรัฐฯ เองเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วยปริมาณอันมหาศาล สิ่งที่ตามมาคือการล่มสลายของธนาคารและรัฐบาล ซึ่งย่อมส่งผลเป็นภาวะโกลาหลทางเศรษฐกิจที่ร้ายกาจเกินจะวัดขนาดกันหวาดไหว มากกว่าแค่ภาวะรัฐบาลล้มละลายเพียงฝ่ายเดียว

ส่วนสำหรับด้านของการปล่อยกู้และการให้สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำเงินมหาศาลในกิจกรรมการเงินของธนาคาร และเป็นภารกิจหลักของธนาคาร (เพราะภารกิจด้านการเป็นที่พักพิงเงินฝากนั้น ตกไปเป็นงานของการค้ำประกันเงินฝากแล้ว) สัดส่วนของการปล่อยกู้และการให้สินเชื่อเช่าซื้อได้ลดต่ำลงจาก 63% เหลือแค่ 52% ในงบดุลธนาคาร หรือเทียบเท่ากับอัตราเพิ่มแค่ 9% ในแง่ของราคาปัจจุบัน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าการขยายตัวของจีดีพีอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกอยู่ในนี้บ้าง กล่าวคือ ในส่วนของการปล่อยกู้ในภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนที่ทำเงินมหาศาลแก่ธนาคารและเป็นตัวที่ทำหน้าที่ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจแท้จริงนั้น ตัวเลขมีการขยับเพิ่งสูงขึ้นราว 15% ขณะที่สินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัว (โดยในหลายหลากกรณี เป็นการลงบัญชีหนี้สูญ)

การปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่มีอัตราขยายตัวปรากฏอย่างแท้จริงนั้น ไปปรากฏอยู่ในหมวดสินเชื่อผู้บริโภค โดยพุ่งขึ้น 43% นับจากปี 2008 ซึ่งเทียบเท่ากับกว่าสองเท่าของอัตราขยายตัวของจีดีพี

พวกนักเศรษฐศาสตร์สายเคนส์เซียนคงจะลิงโลดกระโดดตัวลอยกับข้อมูลนี้ที่บอกว่า ธนาคารส่งเสริมสนับสนุนการบริโภคอย่างน่าชื่นชม ซึ่งช่วยให้จีดีพีเติบโตเร็วมากขึ้น กระนั้นก็ตาม แน่นอนว่าเราต่างทราบเรื่องจริงหลังไมค์กันดีว่า การพุ่งเพิ่มในหนี้ผู้บริโภคนั้น ที่แท้แล้วคือการผลักดันให้ผู้บริโภคอเมริกันยิ่งถลำลึกในปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว พร้อมกับทำให้พวกเขายิ่งจะไม่สามารถชำระคืนได้ไหว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงวงเงินกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งทะยานขึ้นไปสามเท่าตัวนับจากปี 2004 แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว)

นี้มิใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แท้จริงแล้ว มันคือการสะสมปัญหาให้พอกพูนยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต

ดังนั้น ระบบธนาคารมิได้ปฏิบัติงานที่ควรทำ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเสียทีเดียว การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นอะไรที่ยากและเสี่ยงสูง อีกทั้งยังต้องใช้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมาดำเนินการ ดังนั้น การจะเร่งส่งเสริมสินเชื่อส่วนนี้โดยขาดทีมที่เหมาะสม มีแต่จะนำสู่การเผชิญกับปัญหาลูกหนี้ล้มละลายตายเป็นเบือ การปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคอาจนำไปสู่ปัญหาล้มละลาย แต่ก็สามารถดำเนินการโดยใช้หุ่นยนต์ ส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไม่ต้องใช้ความชำนาญแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อคุณสามารถผันความเสี่ยงจากดอกเบี้ยได้อย่างว่องไวภายในตลาดสวอป ดังนั้น การอัดฉีดเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ธนาคาร ดังที่เฟดได้ดำเนินการในช่วง 5 ปีท้าย จึงไม่ได้สร้างประโยชน์อันใดอย่างสิ้นเชิง

ถ้าเฟดต้องการนโยบายการเงินของตนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง (ซึ่งก็จะไปกระพือปัญหาเงินเฟ้อ แต่นั่นก็มิใช่เรื่องที่ต้องเป็นห่วงในสถานการณ์ปัจจุบัน เฟดสามาถดำเนินนโยบายเป็นลำดับขั้นได้ดังนี้

1.แทนที่จะจ่ายดอกเบี้ย 0.25% ต่อปีให้แก่ทุนสำรองส่วนเกิน 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ ให้คิดไปในอัตรา 0.5% แล้วจะได้เห็นว่าธนาคารจะรีบกำจัดเงินพวกนี้โดยฉับพลันทันใดขนาดไหน งบดุลของธนาคารจะหดตัว ขณะที่ความพยายามปล่อยกู้จะกลายเป็นเท่าตัว

2.ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรตเป็น (ประมาณว่า) 2.5% ให้ใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภท 10 ปี นโยบายนี้จะส่งผลให้พอร์ตการลงทุนในพันธบัตรสามารถสร้างรายได้แก่ธนาคารได้น้อยลงมาก และธนาคารย่อมจะเทขายออกมา และในเวลาเดียวกัน ธนาคารจะหันไปอุตสาหะวิริยะกับการทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้

3.บีบลดงบดุลของเฟดลงอย่างรวดเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะเป็นการลดทุนสำรองส่วนเกินที่อยู่ในระบบ เพราะพวกธนาคารทั้งหลายจะขาดทุนจากทุนสำรองส่วนเกิน ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติแล้ว การระบายพันธบัตรระยะยาว 3 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ต้องใช้เวลานานเป็นหลายปี ดังนั้นระบบจะมีลักษณะที่ถูกกระตุ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม หากไม่ทำนโยบายนี้ หายนะเงินเฟ้อจะยิ่งสาหัสหนักข้อ

ผลจากการเดินนโยบายดังกล่าวก็คือ การปล่อยสินเชื่อจะพุ่งทะยาน พร้อมกับที่การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะพุ่งรุ่งโรจน์ ขณะที่การว่างงานจะลดลง นั่นคือส่วนของด้านบวก แต่ก็จะปรากฏผลทางลบ 2 ประการ ประการแรกคือเนื่องจากทุนสำรองส่วนเกินจะถูกนำมาเร่งหมุนเวียนเป็นเงินปล่อยกู้ ภาวะเงินเฟ้อเป็นพิษจะปรากฏอย่างรวดเร็วน่าตกใจ ประการที่สอง โดยที่เฟดมาเป็นฝ่ายที่ขายพันธบัตรแทนที่จะเป็นฝ่ายซื้อ การติดลบงบประมาณภาครัฐจำนวน 5 แสนล้านดอลลาร์จะกลายเป็นเรื่องยากที่จะระดมขึ้นมาด้วยเครื่องมือพันธบัตร สำหรับเรื่องนี้ เดชะบุญว่าสมาชิกรัฐสภาฝั่งรีพับลิกได้ระงับการระเบิดระเบ้อของงบประมาณติดลบช่วงปี 2006-2010 ในเวลาเดียวกัน เมื่อระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราที่เร็วขึ้น ภาวะงบประมาณติดลบจะกระเตื้องขึ้น และถ้าผู้บริหารจอมมือเติบไม่สามารถกลับมากุมเสียงข้างมากในรัฐสภา การติดลบน่าจะแผ่วลงสู่ระดับศูนย์ และทำให้ภาครัฐสามารถทำไฟแนนซ์ให้ตนเองได้

ถ้าเฟดไม่นำนโยบายนี้ไปใช้ เงินเฟ้อราคาผู้บริโภค (CPI) อาจจะเคลื่อนไหวเนิบๆ ทั้งที่ทุนสำรอง 3 ล้านล้านดอลลาร์ยังจอดคาอยู่ในงบดุลของธนาคาร อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินเฟ้อราคาสินทรัพย์(ซึ่งมีอยู่ในตลาดหุ้นและทุกๆที่) ได้เหวี่ยงไปจนสุดๆ ณ จุดหนึ่ง ฟองสบู่นี้จะระเบิด และพาให้ประดาเจ้าพ่อเจ้าแม่ตลาดหุ้นเจ๊งระเนนระนาด พร้อมกับที่ตลาดจังค์บอนด์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็พากับล่มสลาย ในกาลดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวให้มากความ วิกฤตการเงินการธนาคารย่อมจะอุบัติอีกวาระหนึ่ง และตามด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลึกซึ้งยาวนาน และเมื่อถึงกาลดังกล่าวนั้น เราจะปรารถนาที่จะเผชิญกับเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคที่อยู่บนฐานของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง มากกว่าจะต้องสู้กับวิกฤตการเงินการธนาคารแบบนั้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ยังมีคำปลอบใจอยู่ประการหนึ่งว่า เมื่อเรามองภาพภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจอันไม่น่าปรารถนานี้ได้อย่างรอบด้าน เราควรจะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้กำหนดนโยบายในเฟดสามารถผลักให้เราต้องตกอยู่ในสภาพอันย่ำแย่นี้ได้

มาร์ติน ฮัทชินสัน เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Great Conservatives (โดย Academica Press ปี 2005) อ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.greatconservatives.com โดยมีผู้เขียนร่วมคือ ศ. เควิน ดาวด์ เจ้าของงานประพันธ์ชื่อ Alchemists of Loss (โดย Wiley ปี 2010) หนังสือทั้งสองเล่มวางจำหน่ายที่ Amazon.com ทั้งนี้ Great Conservatives มีจำหน่ายเฉพาะในรูปแบบ Kindle ส่วน Alchemists of Loss มีจำหน่ายทั้งในรูปแบบ Kindle และการตีพิมพ์เป็นเล่ม

(บทความนี้ตีพิมพ์ซ้ำโดยได้รับอนุญาตจาก PrudentBear.com. ลิขสิทธิ์ 2005-14 David W Tice & Associates.)
กำลังโหลดความคิดเห็น