เอเอฟพี - สหรัฐฯ มีแผนขายเครื่องบินรบ ยานหุ้มเกราะ และเรือเหาะตรวจการณ์ มูลค่าเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) ให้แก่อิรัก
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อตกลงฉบับนี้รวมถึง การขายอากาศยานจู่โจมน้ำหนักเบา “AT-6C Texan II” จำนวน 24 ลำ ซึ่งเป็นอากาศยานเครื่องยนต์กังหันใบพัด (turboprop) ที่ผลิตโดยบริษัทบีชคราฟต์ คอร์ปอเรชัน และติดตั้งปืนกลขนาดลำกล้อง .50 พร้อมระบบควบคุมอากาศยานและการสื่อสาร “เอวิโอนิกส์” และสามารถดำเนินการโจมตีด้วยระเบิดนำวิถี
ทั้งนี้ อากาศยาน และยุทโธปกรณ์อื่นๆ ตลอดจนค่าบริการต่างๆ คิดรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.6 หมื่นล้านบาท)
สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงทางกลาโหม (ดีเอสซีเอ) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แจ้งให้รัฐสภาสหรัฐฯ ทราบถึงแผนการขายยุทโธปกรณ์เมื่อวันอังคาร (13) ซึ่งจะยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าอาจจะมีสมาชิกสภาขัดขวางข้อตกลงฉบับนี้ก็ตาม
หน่วยงานดังกล่าวระบุในหนังสือบอกกล่าวว่า “การซื้อขายอากาศยาน อุปกรณ์ และการสนับสนุนอื่นๆ ดังที่เสนอไปจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถให้กองทัพอิรักสามารถยืนหยัดด้วยตนเอง เพื่อนำเสถียรภาพกลับคืนประเทศ และเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศ ลุกลามบานปลายไปยังชาติเพื่อนบ้าน”
การซื้อขายคราวนี้นับเป็นการทำข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับอิรักระลอกล่าสุด ในเวลาที่แบกแดดกำลังเพียรพยายามยกระดับกองกำลังติดอาวุธ ขณะที่ประเทศนี้ต้องเผชิญกับการก่อเหตุรุนแรงของเครือข่ายกลุ่มหัวรุนแรงอัลกออิดะห์ และความแตกแยกระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ กับชาวซุนนีที่รู้สึกเคืองแค้นใจ
ก่อนหน้านี้ อิรักเคยจรดปากกาทำสัญญาสั่งซื้อเครื่องบินรบ F-16 จากสหรัฐฯ ทั้งหมด 36 ลำ
ภายใต้ข้อตกลงฉบับล่าสุด สหรัฐฯ ยังจะขายรถฮัมวี่แบบติดตั้งฐานตั้งปืนกลมูลค่า 101 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.3 พันล้านบาท)
หน่วยงานนี้ชี้ว่า ยานพาหนะชนิดนี้จะช่วยเสริมสร้าง “ศักยภาพในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานการผลิตน้ำมันของอิรัก จากการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย”
นอกจากนี้ อิรักยังได้ซื้อ เรือเหาะ อากาศยาน หรือบอลลูนผูกโยงกับซึ่งต้องพึ่งพาก๊าซฮีเลียม ไว้เพื่อเฝ้าระวังรักษาความสงบเหนือฐานทัพ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ
เรือเหาะ และตัวหอที่ใช้ยึดโยงให้ลอยอยู่กับที่มีมูลค่ารวมกันราว 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ