เอเอฟพี - ผลสำรวจล่าสุดที่นำออกเผยแพร่วานนี้ (10 พ.ค.) ชี้ว่า กรุงลอนดอนคือเมืองที่มีมหาเศรษฐีพันล้านอาศัยอยู่มากกว่าเมืองใดในโลก และอังกฤษเป็นประเทศที่มีสัดส่วนอภิมหาเศรษฐีต่อหัวมากที่สุดในโลก
ผลสำรวจในหัวข้อมหาเศรษฐีอังกฤษ ซึ่งรวบรวมและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “ซันเดย์ ไทมส์” มีแนวโน้มที่จะจุดประกายให้เกิดข้อโต้เถียงในประเทศ ที่คนจำนวนมากยังต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้อง และธนาคารอาหารเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเมืองผู้ดีจะฟื้นคืนสู่ระดับเดิม อย่างที่ไม่ปรากฏมานานนับตั้งแต่ประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2008
กรุงลอนดอนซึ่งเป็นบ้านของมหาเศรษฐีสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง 72 คน จากทั้งหมดทั่วประเทศ 104 คน ได้แซงหน้ากรุงมอสโก ซึ่งหล่นมาอยู่อันดับ 2 ด้วยยอดผู้มีทรัพย์สินมูลค่า 1 พันล้านปอนด์ขึ้นไปทั้งหมด 48 คน ขณะที่นิวยอร์กรั้งอันดับ 3 ด้วยสถิติเศรษฐีพันล้าน 43 คน และซานฟรานซิสโกตามมาติดๆ เป็นอันดับ 4 ด้วยตัวเลขเศรษฐี 42 คน ส่วนอันดับ 5 คือลอสแองเจลิสที่จำนวน 38 คน ถัดไปคือฮ่องกงซึ่งรั้งอันดับ 6 ด้วยยอดเศรษฐีพันล้าน 34 คน
ศรี และโกพี ฮินดูจา สองพี่น้องเชื้อสายอินเดียผู้ครองแชมป์มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในอังกฤษ ด้วยทรัพย์สมบัติมูลค่า 11.9 พันล้านปอนด์ (ราว 6.5 แสนล้านบาท) สินทรัพย์ของเครือบริษัท “ฮินดูจากรุ๊ป” ของครอบครัว ที่มาจากการลงทุนด้านน้ำมัน การธนาคาร อุตสาหกรรมยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และสื่อ
ปีที่แล้ว ทั้งสองได้เบียดแซง อลิเชียร์ อุสมานอฟ ขึ้นสู่อันดับหนึ่ง ภายหลังที่สินทรัพย์ของมหาเศรษฐีรัสเซียเชื้อสายอุซเบกิสถาน ผู้เป็นแชมป์เก่า มีราคาลดลงเนื่องจากค่าเงินรูเบิล และราคาหุ้นรัสเซียลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตยูเครน
ในรายชื่อเศรษฐี 25 อันดับแรก ยังรวมถึง เลน บลาวัตนิก นักธุรกิจชาวยูเครนผู้ครองอันดับ 4 ด้วยผลประกอบการจากการลงทุนด้านอินเทอร์เน็ต เคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมดนตรี, เจอรัลด์ กรอสวีเนอร์ ดยุคแห่งเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่รั้งอันดับ 10 และอันดับที่ 13 คือ โมฮาเหม็ด บิน อิซซา เศรษฐีเชื้อสายซาอุดีอาระเบีย และครอบครัว ซึ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงนักลงทุนประเภทกิจการรีสอร์ต และโรงแรม
ปีนี้เป็นปีแรกที่ ผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐีอังกฤษ 50 อันดับแรก พุ่งสู่ 1.5 พันล้านปอนด์ (8.2 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเมื่อ 1 ทศวรรษที่แล้วคุณสมบัติของผู้ที่เข้าเกณฑ์มหาเศรษฐีอยู่ที่ 700 ล้านปอนด์ (ราว 3.8 หมื่นล้านบาท) เท่านั้น
ทั้งนี้ มหาเศรษฐีของอังกฤษทั้ง 104 คน มีทรัพย์สินรวมกันเป็นเงิน 301.13 พันล้านปอนด์ (ราว 17 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่าเพิ่มสูงขึ้นจาก 88 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาที่เศรษฐี 50 อันดับแรกมีทรัพย์สินรวมกัน 245.66 พันล้านปอนด์ (ราว 14 ล้านล้านบาท)
มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีในอังกฤษได้พุ่งแซงหน้ายอดรวมในปี 2008 ไปไกล ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่อังกฤษจะประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งตอนนั้นมีมูลค่าโดยรวม 201.99 พันล้านปอนด์ (ราว 11 ล้านล้านบาท)
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยอิสระระบุว่า ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นต่อหัว ซึ่งชี้มูลค่าทรัพย์สินโดยเฉลี่ยของประชากรแต่ละคน อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ายอดสูงสุดเมื่อปี 2008 และมีแนวโน้มที่จะไม่ขยับแซงยอดเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จนกว่าจะถึงปี 2017
“ทรัสเซล ทรัสต์” ซึ่งเป็นเครือข่ายธนาคารอาหารที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษกล่าวว่า ยอดประชาชนที่เข้าถึงอาหารในสภาวะฉุกเฉินพุ่งสูงขึ้น 163 เปอร์เซ็นต์ จนทะลุ 913,000 คน ในปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา
องค์การแห่งนี้ชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าว “น่าตกตะลึง” โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า ยังไม่รวมถึงข้อมูลจากผู้บริจาคอาหารรายอื่นๆ หรือคนอีกจำนวนมากที่ละอายเกินกว่าจะขอความช่วยเหลือ ตลอดจนคนที่แก้ปัญหาด้วยการรับประทานอาหารให้น้อยลง