เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่มีการเผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (8) พบข้อมูลว่ามีชาวเกาหลีใต้ “เกือบครึ่งหนึ่ง” ไม่ปรารถนาที่จะแบกรับภาระทางเศรษฐกิจหากเกิด “การรวมชาติ” กับเกาหลีเหนือในอนาคต ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.8 ยอมรับว่าพวกเขาเห็นด้วยกับการรวมชาติ แต่เชื่อว่าการรวมชาติเป็นเรื่องที่ “รอได้”
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่จัดทำโดยสำนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล (Seoul National University) และมีการเผยแพร่โดยสำนักข่าวยอนฮัประบุว่า ร้อยละ 44.3 ของกลุ่มตัวอย่างชาวเกาหลีใต้ ไม่ต้องการแบกรับภาระทางเศรษฐกิจใดเพิ่มเติม หากเกิดการรวมชาติกับเกาหลีเหนือในอนาคต
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 31.9 จากการสำรวจครั้งนี้ระบุว่า พวกตนพร้อมจ่ายเงินในรูปแบบของภาษีเพิ่มเติมเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลเกาหลีใต้ ในกรณีที่มีการรวมชาติกับเกาหลีเหนือ แต่จำนวนเงินที่พวกตนยินดีจ่ายนั้นจะต้องไม่สูงเกินกว่าคนละ 50,000 วอนต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว “ปีละ 1,580 บาท” เท่านั้น
ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีกราวร้อยละ 11.7 ยินดีจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นระหว่าง 50,000-100,000 วอน หรือไม่เกิน “ปีละ 3,170 บาท” เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรวมสองเกาหลีเข้าด้วยกัน
ผลสำรวจดังกล่าวยังพบข้อมูลว่า มีชาวเกาหลีใต้เพียงแค่ร้อยละ 1.2 เท่านั้นที่ยินดีจ่ายเงินภาษีให้กับรัฐบาลโซลในวงเงินที่มากกว่าปีละ 1 ล้านวอน (ราว 31,715 บาท) เพื่อแลกกับการที่สองเกาหลีจะได้กลับมารวมเป็น “แผ่นดินเดียวกัน”
ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างชาวเกาหลีใต้จำนวนร้อยละ 45.8 ยอมรับว่าพวกเขาเห็นด้วยกับการรวมชาติ แต่เชื่อว่าทั้งสองเกาหลียังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในเรื่องนี้ เพราะการรวมชาติเป็นเรื่องที่ “รอได้” แต่ปัญหาปากท้องและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญมากกว่าในสายตาของพวกเขา
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเกาหลีใต้เคยทำการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการรวมสองเกาหลีเข้าด้วยกัน โดยผลการศึกษาของรัฐบาลโซลพบว่าการรวมเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือเข้าด้วยกันจะต้องใช้เงินมหาศาลระหว่าง “55 ล้านล้านวอน” ถึง “249 ล้านล้านวอน” ภายในปีแรกของการรวมชาติ
และทางรัฐบาลโซลคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ระบอบการปกครองของพวกคอมมิวนิสต์ในเกาหลีเหนืออาจ “ล่มสลาย” ลงภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักในเกาหลีใต้ให้ความเห็นว่า แม้เกาหลีใต้จะต้องเป็นฝ่ายแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการรวมชาติในช่วงแรก แต่ทว่าในระยะยาวแล้วการรวมสองเกาหลีเข้าด้วยกันจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับแถวหน้าของโลก จากการผนวกกันของเงินทุนและเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของเกาหลีใต้ และทรัพยากรธรรมชาติอันเหลือล้นของเกาหลีเหนือ ซึ่งจะกลายเป็น “วัตถุดิบสำคัญ” ในการหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเกาหลี