เอเอฟพี – งานวิจัยจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ชี้จีนอาจขึ้นแท่นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ “ภายในปีนี้” หากมองจากดัชนีชี้วัดข้อหนึ่ง ทว่าชาวจีนบางคนกลับไม่ให้ความสนใจมากนัก และเลือกที่จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ หรือได้รับเสรีภาพในการดำเนินชีวิตมากกว่า
เมื่อวานนี้ (30) ธนาคารโลกได้เผยแพร่ผลการศึกษาคร่าวๆ เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคั่งของแต่ละประเทศ โดยอาศัยตัวเลขสถิติจากปี 2011 เป็นหลัก
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับอีกหลายองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลผลิตรวมของแต่ละชาติในเชิงตัวเงิน และสะท้อนความแตกต่างของกำลังซื้อ โดยอาศัยทฤษฎี “ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ” (purchasing power parity - PPP)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ ในปี 2011 อยู่ที่ 15.533 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ามูลค่าจีดีพีของจีนซึ่งอยู่ที่ 7.321 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กว่า 2 เท่าตัว
อย่างไรก็ตาม หากคำนวณค่าพีพีพีด้วยแล้ว ตัวเลขของจีนจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 13.495 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าขนาดเศรษฐกิจแดนมังกรมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าสหรัฐฯได้ภายในปีนี้
เนื่องจากวันนี้ตรงกับวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันหยุด ปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเป็นทางการในฝั่งจีนจึงยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งพยายามไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลลักษณะนี้มากนัก โดยชี้ว่าหากเทียบจีดีพีต่อหัวประชากร จีนยังคงห่างชั้นกับประเทศร่ำรวยอื่นๆ อีกมาก
อย่างไรก็ดี มีชาวจีนบางคนออกมาแสดงความกังขา หรือแม้กระทั่งประชดประชันผ่านสื่อสังคมออนไลน์
“สิ่งที่พวกเขาพูดคือ พีพีพี ไม่ใช่ จีดีพี... หากดูที่จีดีพีอย่างเดียว จีนยังห่างชั้นกับสหรัฐฯมาก” ชาวเน็ตคนหนึ่งให้ความเห็นเป็นภาษาอังกฤษลง ซีนาเวยปั๋ว ซึ่งเป็นเสมือนทวิตเตอร์ของจีน
ผู้ใช้เวยปั๋วบางคนบอกว่า พวกเขาสนใจดัชนีชี้วัดอื่นๆ ที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของคนจีนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้
“รายได้ก็น้อย หายใจก็ยังไม่เต็มปอด เสรีภาพก็ไม่มี ต่อให้เป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ในจักรวาลผมก็ไม่แคร์หรอก อย่าว่าแต่เป็นเบอร์ 1 ของโลกเลย” ผู้ใช้เวยปั๋วคนหนึ่งบอก
“ตัวเลขพวกนี้สำคัญกว่าท้องฟ้าที่สดใส หรือน้ำสะอาดหรืออย่างไร” อีกคนตั้งคำถาม
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมเมืองใหญ่ๆ รวมไปถึงสารพิษปนเปื้อนในน้ำและดิน ซึ่งปัญหาเรื้อรังเหล่านี้กระตุ้นให้ประชาชนที่รู้สึกไม่พอใจลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลอยู่เนืองๆ
ผู้ใช้เวยปั๋วอีกคนชี้ว่า การจัดอันดับทางเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นที่จับตามองในต่างประเทศมากกว่าในจีน
“สื่อในประเทศไม่เคยรายงานเรื่องเหล่านี้ มีแต่สื่อต่างชาติเท่านั้นที่พูดถึง”