เอเอฟพี - โฆษกของผู้ว่าการรัฐซัมฟารา รัฐซึ่งอยู่ทางเหนือของไนจีเรียวานนี้ (6 เม.ย.) ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุคนเลี้ยงสัตว์ชนเผ่า “ฟูลานี” ก่อเหตุโจมตีที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งได้พุ่งจาก 30 ศพ เป็น 79 ศพแล้ว
โฆษก นูฮู ซาลีฮู อันคา กล่าวกับเอเอฟพีว่า วันนี้ (7) ผู้ว่าการรัฐและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เดินทางไปยังหมู่บ้านยาร์กาลาดีมา เพื่อเข้าร่วมพิธีฝังร่างของเหยื่อ 79 คน ซึ่งเสียชีวิตจากการก่อเหตุโจมตีของพวกเลี้ยงปศุสัตว์
ก่อนหน้านี้ ลาวัล อับดุลลอฮี โฆษกตำรวจของรัฐรายงานว่า มีประชาชน 30 คนถูกสังหารในเหตุจู่โจมเมื่อวันเสาร์ (5) เมื่อกลุ่มติดอาวุธชนเผ่าฟูลานีบุกโจมตีระหว่างการประชุมหารือปัญหาด้านความปลอดภัยใน 4 รัฐที่อยู่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ ซัมฟารา คาดูนา เคบบิ และคัตซินา
อันคาบอกว่า “ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อรับมือกับการก่อเหตุโจมตีครั้งรุนแรงของแก๊งปล้นสะดมติดอาวุธ และโจรขโมยวัว แต่การก่อเหตุจู่โจมคราวนี้นับเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยประสบ”
อย่างไรก็ตาม อะดามู อะมาดู ผู้นำชุมชนแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกันแจ้งยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่าที่ทางการรายงาน
เขาเปิดเผยว่า “จนถึงวันนี้ (7) เราได้ฝังร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีไปแล้ว 120 ศพ และน่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น”
ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจไนจีเรียระบุว่า ตอนนี้ได้ตรึงกำลังในพื้นที่เกิดเหตุแล้ว ขณะที่ฝ่ายผู้รอดชีวิตกล่าวว่า อาจมีผู้เสียชีวิตจากเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้มากกว่า 60 ราย
บาบากินดา ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในรัฐคาดูนา ที่ใกล้เคียงเล่าว่า “เรานับจำนวนศพผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุโจมตีเมื่อคืนวานนี้ (6) ได้ 61 ศพ ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก”
เขาเสริมว่า โชคดีที่เขาสามารถเอาชีวิตรอดมาได้ และเข้าร้องเรียนต่อกองกำลังความมั่นคงให้ยับยั้งการก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่องตามหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นฝีมือของแก๊งคนเลี้ยงปศุสัตว์ชนเผ่าฟูลานี
ทั้งนี้ ความขัดแย้งประเด็นสิทธิในที่ดินทำกินระหว่างคนเลี้ยงสัตว์ชนเผ่าฟูลานี กับชาวไร่ชาวนาในท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคกลางของไนจีเรียเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ทศวรรษแล้ว แม้ว่าจะมีความพยายามรักษาสันติภาพในหลายรัฐแล้วหลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม
เมื่อเดือนที่แล้ว ชาวบ้านราว 100 คนถูกฆ่าตายในรัฐคาดูนา เมื่อคนร้ายที่พกพาอาวุธปืนและมีดสปาร์ตา บุกเข้าจู่โจมหมู่บ้านกสิกรรมในท้องถิ่น
เป็นเวลาเนิ่นนานแล้วที่บรรดาผู้นำชนเผ่าฟูลานีเคยร้องทุกข์เรื่องการขาดแคลนที่ดินสำหรับเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำมาหาเลี้ยงชีพของพวกเขา ตลอดจนความแค้นเคืองระหว่างผู้เลี้ยงปศุสัตว์กับเพื่อนบ้านที่เป็นชาวไร่ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
ตามกฎหมายไนจีเรีย คนชาติพันธุ์ต่างๆ มีสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของตนเอง ตลอดจนมีสิทธิที่จะได้รับอนุเคราะห์เป็นพิเศษในการเข้าถึงการศึกษาสาธารณะ และโอกาสในการทำงาน
ทั้งนี้ ชนเผ่าชาวฟูลานีอ้างว่า พวกเขาถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษเหล่านี้ โดยประเด็นขัดแย้งเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐ ซึ่งบ่อยครั้งมีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นคริสต์ศาสนิกชน