เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศาลปากีสถานตั้งข้อหา “กบฏ” กับอดีตประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ จากกรณีที่นายพลผู้นี้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและถอดถอนผู้พิพากษาอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อปี 2007 ซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ
ทาฮิรา ซาฟดาร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้พิพากษาศาลพิเศษด้านคดีก่อการร้าย ได้ประกาศตั้งข้อหาต่ออดีตประธานาธิบดีทั้งหมด 5 กระทง ขณะที่มูชาร์ราฟยืนกราน “ไม่ยอมรับผิด” แม้แต่ข้อหาเดียว
มูชาร์ราฟ ซึ่งแทบไม่เคยมาฟังการพิจารณาคดีเนื่องจากเกรงถูกลอบทำร้ายและมีปัญหาสุขภาพ ได้แถลงต่อศาลว่า “ผมเคารพศาลและกระบวนการไต่สวน ผมเชื่อมั่นในกฎหมายบ้านเมืองและไม่เคยถือตนเองเป็นใหญ่ และผมก็มาขึ้นศาลแล้วถึง 16 ครั้งในปีนี้ ทั้งที่เมืองการาจี, อิสลามาบัด และราวัลปินดี”
อดีตประธานาธิบดีวัย 70 ปี ผู้กุมอำนาจในปากีสถานระหว่างปี 1999-2008 ยังอ้างถึงคุณงามความดีที่ตนเคยกระทำเพื่อประเทศชาติ
“เวลานี้ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ... ผมเคยเป็นผู้บัญชาการทหาร 9 ปี รับราชการในกองทัพมา 45 ปี และเคยไปรบในสงคราม 2 ครั้ง นี่หรือคือสิ่งที่พวกท่านเรียกว่ากบฏ?”
“ผมไม่ใช่กบฏ เพราะสำหรับผม กบฏคือพวกที่สูบเอาทรัพย์สินของประชาชนและเงินในคลังของประเทศไปถลุงใช้ต่างหาก”
หัวหน้าอัยการ อักรอม ชัยค์ ได้ให้สัมภาษณ์หลังสิ้นสุดการพิจารณาคดีในวันนี้ (31) ว่า คำแก้ตัวหลักๆ ของมูชาร์ราฟ ต่อกรณีที่เขาสั่งระงับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2007 ก็คือ เขาทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี และเชากัต อาซิซ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
“เขาอ้างว่าคำสั่งฉีกรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากความคิดเขาเพียงคนเดียว... ซึ่งผมก็ได้แจ้งต่อศาลไปว่า มูชาร์ราฟ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเขาทำไปตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจริงๆ” ชัยค์กล่าว
มูชาร์ราฟได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2007 ก่อนที่ศาลสูงสุดจะมีคำตัดสินว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยของเขามีความชอบธรรมหรือไม่ ทั้งยังสั่งจับกุมและปลดคณะผู้พิพากษาและประธานศาลสูงสุด
มูชาร์ราฟตัดสินใจสละเก้าอี้เมื่อปี 2008 หลังพันธมิตรของเขาพ่ายเลือกตั้ง และรัฐบาลใหม่ขู่จะฟ้องเอาผิดเพื่อขับเขาออกจากตำแหน่ง
หลังหลบไปใช้ชีวิตที่ลอนดอนและดูไบอยู่นานถึง 4 ปี มูชาร์ราฟ ก็เดินทางกลับปากีสถานเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดยหวังว่าจะลงสู้ศึกเลือกตั้งรัฐสภาชิงอำนาจกลับมาให้ได้ ทว่าเมื่อก้าวเท้าลงเหยียบแผ่นดินเกิดเขาก็ถูกกีดกันไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และยังถูกฟ้องร้องเอาผิดอีกหลายคดี เช่น คดีกองกำลังความมั่นคงปากีสถานบุกเข้าไปกวาดล้างกลุ่มหัวรุนแรงภายในมัสยิดแดง (Red Mosque) กรุงอิสลามาบัดเมื่อปี 2007, คดีสังหารผู้นำกบฏในจังหวัดบาลูจิสถาน และคดีลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง เบนาซีร์ บุตโต