รอยเตอร์ – ผลการศึกษาวิจัยครั้งใหม่จากสหรัฐฯและยุโรป แสดงให้เห็นว่าการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะต่างๆ กำลังช่วยทำให้อัตราทารกคลอดก่อนกำหนดและเด็กที่มีอาการโรคหืดหอบ ลดจำนวนลงมา 10%
ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในฉบับล่าสุดของ “เดอะ ลานสิต” วารสารการแพทย์ชื่อดังที่สุดของอังกฤษ พบว่า ขณะที่กฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ฉบับต่าง ๆ ที่บังคับใช้อยู่หลายๆ ประเทศ กำลังก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างหลายหลาก แต่ผลโดยองค์รวมซึ่งมีต่อสุขภาพของเด็กๆ ทั่วโลกแล้ว เป็นไปในทางบวก
“การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า การห้ามสูบบุหรี่คือวิธีการที่ได้ผลในการคุ้มครองสุขภาพเด็กๆ ของเรา” จัสเปอร์ บีน แห่งศูนย์กลางเพื่อวิทยาศาสตร์สุขภาพประชากร ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ระบุ ทั้งนี้เขาเป็นผู้นำการศึกษานี้
บีน บอกว่าข้อสรุปจากการวิจัยของพวกเขาตลอดจนในงานศึกษาชิ้นอื่นๆ ควรที่จะช่วยเร่งรัดให้มีการนำเอากฎหมายต่อต้านสูบบุหรี่เข้าไปบังคับใช้ตาม เมืองใหญ่น้อย, ประเทศ, และเขตต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้มีการดำเนินการเรื่องนี้
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้หลายๆ ชิ้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กฎหมายห้ามการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะต่างๆ เป็นต้นว่า บาร์, ภัตตาคารร้านอาหาร, สำนักงาน, และสถานที่ทำงานอื่นๆ สามารถช่วยคุ้มครองป้องกันผู้ใหญ่ จากภัยทางสุขภาพของ “การเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง” นั่นคือ ตนเองไม่ได้สูบ แต่ได้รับควันจากบุหรี่ของคนอื่น
ตามข้อมูลตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (WHO) ขณะนี้บุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่นๆ เป็นตัวการคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปประมาณปีละ 6 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็น “ผู้สูบบุหรี่มือสอง” กว่า 600,000 คน ถ้าหากแนวโน้มในปัจจุบันยังดำเนินต่อไปแล้ว WHO คาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากบุหรี่และยาสูบต่างๆ จะขยับสูงขึ้นเป็นปีละ 8 ล้านคน
องค์การอนามัยโลกระบุด้วยว่า เวลานี้มีประชากรของโลกเพียงแค่ 16% เท่านั้นที่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายปลอดบุหรี่ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมรอบด้าน และยังมีเด็กๆ ทั่วโลกถึง 40% ซึ่งตกอยู่ในสภาพเป็นนักสูบบุหรี่มือสองอยู่เป็นประจำ
พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขวาดหวังว่า ในเมื่อประเทศจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในยุโรปและตามที่อื่นๆ ทั่วโลก ต่างหันมาใช้กฎหมายห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะด้วยความเข้มงวดกวดขัน ก็จะยิ่งทำให้มองเห็นถึงประโยชน์ด้านสาธารณสุขของมาตรการเช่นนี้ได้อย่างรวดเร็วชัดเจน
สำหรับผลการวิจัยชิ้นนี้ใน เดอะ ลานสิต ฉบับที่นำออกเผยแพร่ในวันนี้ (28 มี.ค.) ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการคลอดของเด็กกว่า 2.5 ล้านราย และการเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหืดหอบกำเริบในเด็กเกือบๆ 250,000 ราย ถือเป็นการศึกษาว่ากฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ส่งผลต่อสุขภาพของเด็กอย่างไร ซึ่งใช้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้านเช่นนี้เป็นครั้งแรก
การวิจัยชิ้นนี้ อาศัยผลงานการศึกษา 5 ชิ้นซึ่งว่าด้วยผลของการห้ามสูบบุหรี่ในระดับท้องถิ่นในอเมริกาเหนือ และอีก 6 ชิ้นที่เป็นการศึกษาผลการห้ามสูบบุหรี่ในระดับชาติในยุโรป และพบว่าทั้งอัตราทารกคลอดก่อนกำหนด และอัตราเด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากอาการหืดหอบกำเริบ ต่างลดลงมา 10% ภายในเวลา 1 ปีตั้งแต่ที่กฎหมายปลอดบุหรี่มีผลบังคับใช้